ศาสตร์แห่งการทายใจกับปรากฏการณ์โฟเรอร์(Forer effect)
ทำไมเราชอบเล่นทายใจยังกับไม่รู้จักตัวเองอย่างนั้นแหละ? ไม่ใช่เรื่องผิดหรือแปลกหรอกครับ ถึงจะเล่นบ่อยหรือไม่บ่อยแต่ทุกคนชอบเล่นทั้งนั้น ผมชอบ คุณชอบ เพราะมันเป็นเกมเติมเต็มความรู้สึกครับ สังเกตได้จากเกมพวกนี้มักจะได้รับความนิยมทั้งที่ทุกคนก็รู้ดีว่ามันไม่ได้มีแก่นสารอะไร
การทายนิสัยและการทำนายต่างๆที่เกี่ยวกับตัวบุคคลนั้น ที่จริงเป็นเกมทางจิตวิทยาว่าด้วยกลเม็ดการลวงด้วยข้อความทั่วๆไป ที่ทำให้เรารู้สึกไปเองว่ามันเป็นข้อความจำเพาะเจาะจงสำหรับตัวเราครับ วิธีการลวงให้เชื่อในลักษณะนี้มีชื่อเรียกในวงการจิตวิทยาว่า “โฟเรอร์ เอฟเฟค” ซึ่งมาจากชื่อของนักจิตวิทยา เบอร์แทรม โฟเรอร์ ที่ค้นพบเรื่องนี้ในปี ค.ศ.1948
บางครั้งก็เรียกว่า “บาร์นัม เอฟเฟค” ซึ่งเป็นชื่อของเจ้าของธุรกิจละครสัตว์ พี.ที. บาร์นัม ผู้โด่งดังในสมัยนั้น เพราะเขาสามารถเสิร์ฟความบันเทิงใจให้แก่ทุกคนด้วยความรู้สึกพิเศษยิ่ง และคำพูดติดปากที่ว่า “เรามีอะไรเล็กๆน้อยๆบางอย่าง ที่เหมาะสมกับคุณ” ใช่ครับ…ทุกคนอยากรู้สึกว่าถูกใส่ใจเป็นพิเศษ แม้มันจะเป็นเพียงการปฏิบัติทั่วๆไปก็ตาม และใครที่สามารถตอบสนองความรู้สึกนั้นได้ ย่อมเป็นผู้ที่ครอบครองประโยชน์สูงสุด
อย่างที่ผมพูดไปคือการทายใจเป็นศาสตร์แห่งการหว่านแห ลองมาดูคำทำนายพวกนี้กันครับ แล้วลองคิดดูว่าถ้าคุณไปเจอคำทำนายพวกนี้ในคอลัมน์หนังสือคุณจะคิดว่ามันตรงกับตัวเราไหม
ก็อย่างเช่น…
- คุณจริงจังกับตนเองมากในบางเรื่อง แต่บางเรื่องก็ละเลยเกินไป
- คุณยังมีความสามารถที่ไม่ได้นำออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์อีกมาก
- คุณมีจุดอ่อนเรื่องบุคลิกภาพบางอย่าง แต่ก็มีจุดเด่นที่ชดเชยมันได้
- แม้ภายนอกจะดูเป็นคนที่ควบคุมตนเองได้ดี แต่ลึกๆแล้วคุณมีความรู้สึกกังวลและความไม่มั่นคงอยู่ในใจ
- เมื่อคุณเกิดความไม่พอใจในบางอย่างก็มักจะเปลี่ยนแปลงมันและพบความไม่พอใจอีกอย่างหนึ่งอยู่ดี
- คุณเป็นคนมีความคิด และไม่ยอมรับคำพูดของผู้อื่นที่ไม่มีข้อพิสูจน์แน่ชัด
- คุณคิดว่ามันไม่ฉลาดนักที่จะเปิดเผยตนเองมากเกินไป
- บางครั้งคุณก็เป็นคนเปิดเผย อ่อนโยน เข้าสังคมเก่ง แต่บางครั้งก็ปิดตัวเอง ระมัดระวัง และไว้ตัว
- ความทะเยอทะยานของคุณมักมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ยากและมีอุปสรรคอยู่เสมอ
- ความมั่นคงเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักในชีวิตของคุณ
- คุณอยากให้คนอื่นมาชอบและชื่นชม แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังสงสัยในตนเองอยู่เสมอ
- คุณเป็นคนทำความดีไม่ขึ้น ทำดีกับใครก็มีแนวโน้มที่จะถูกว่าร้ายและทรยศหักหลัง
ฯลฯ
เป็นไงครับ มันคล้ายๆ กับเราไหมครับ?
มันต้องใช่อยู่แล้วล่ะ เพราะคนปกติทุกคนมีความรู้สึกเหล่านี้แหละครับ มันคือลักษณะของมนุษย์และสังคมรอบตัวเรา อีกอย่างคือคนเราแยกไม่ออกระหว่างลักษณะนิสัยที่เรามีกับลักษณะนิสัยที่เราชอบ อะไรที่อ่านแล้วมันตรงใจ เราจะเหมาเอาว่ามันเป็นของเราหมดแหละ อย่างรักเดียวใจเดียวเนี่ย มั่นใจเหรอครับ? (คนรักเดียวใจเดียวทิ้งผมไปหลายคนละ 555+)
มีการทดลองด้วย
โฟเรอร์ทำการทดลองกับนักศึกษาของเขาเอง โดยแจกคำทำนายให้นักศึกษาเป็นรายบุคคล โดยหลอกว่าคำทำนายพวกนั้นเป็นคำทำนายเฉพาะบุคคลที่เขาประเมินเองโดยเฉพาะ และให้นักศึกษาให้คะแนนว่ามันตรงกับตัวเองมากแค่ไหน โดยข้อที่ตรงที่สุดให้ 5 คะแนน ลดหลั่นลงมาจนถึงข้อที่ไม่ตรงเลยให้ 0 คะแนน ปรากฏว่าพวกลูกศิษย์ต่างรู้สึกว่าคำทายเหล่านั้นตรงกับตนเองมาก คะแนนความแม่นยำโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.26 เลยทีเดียว
มีการทดลองทำนองเดียวกันนี้บ่อยๆ โดยนักจิตวิทยาหลายคน และผลก็ออกมาคล้ายกันคือการทำนายด้วยหลักการโฟเรอร์ให้ความแม่นยำสูงมาก แม้จริงๆแล้วมันแทบจะไม่สื่อถึงข้อเท็จจริงอะไรเลยก็ตาม
เคล็ดลับของการทายใจอย่างง่าย
- การทายส่วนมากจะต้องมุ่งไปในแง่บวก อาจมีแง่ลบปนบ้างเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ แต่ต้องไม่ใช่แง่ลบที่รุนแรง และต้องมีการชดเชย
- เนื้อหาจะต้องเป็นลักษณะที่คล้ายจะชัดเจน แต่มีความหมายกว้างและกำกวม ความกำกวมทำให้คนเราโยงเข้ากับตัวเองได้ง่ายขึ้น
- ต้องใช้คำจำพวก “บางครั้ง” บ่อยๆ เพราะมันเป็นคำที่ให้โอกาสถูกสูงมาก
- ความแม่นยำในความรู้สึกของคนเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์การทายถูกแต่ขึ้นอยู่กับความถูกใจ ถ้ามีข้อความที่โดนใจอยู่แล้วคนเราจะปฏิเสธความผิดพลาดในส่วนอื่นๆไปเอง สมองของเรามีกลไกการเลือกรับฟังและจดจำ
และนี่เป็นเรื่องราวคร่าวๆเกี่ยวกับการทายใจครับ การทำนายหลายๆอย่างไม่ว่าจะเป็นการดูดวงหรือทายอนาคตก็ใช้หลักการคล้ายๆกัน เป็นเพียงการเล่นกับจุดอ่อนของจิตใจเท่านั้น โอกาสถูกไม่มากกว่าการเดาสุ่ม แต่โอกาสตรงใจนั้นสูงมาก เราจ่ายเงินเพื่อซื้อความสบายใจครับ
อย่ามองว่าวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ชอบทำลายความศรัทธานะครับ มันเป็นศาสตร์ที่ช่วยเพิ่มความศรัทธาในสิ่งที่ควรศรัทธามากที่สุดและสิ่งนั้นก็คือ “ตัวเราเอง” ครับ
ζ-Zeta S.