คลีโอพัตรา ราชินีโลกไม่ลืม
ภาพ อลิซาเบธ เทเลอร์ สวมบทพระนางคลีโอพัตราในภาพยนตร์
เมื่อผู้ถึงสตรีผู้ทรงอำนาจในยุคอดีต คงไม่มีใครไม่รู้จัก พระนางคลีโอพัตราที่ 7 * ราชินีแห่งอียิปต์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ ปโตเลมี พระนางสืบเชื้อสายมาจากขุนพลคุ่ใจชาวกรีกมาซิโดเนียนของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ที่มีชื่อว่า แม่ทัพปโตเลมี ซึ่งต่อมาปราบดาภิเษกเป็น ฟาโรห์ปโตเลมีที่1 และก่อตั้งราชวงศ์ปโตเลมีเพื่อปกครองดินแดนอียิปต์อันเกรียงไกร
พระนางคลีโอพัตราที่ 7 เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงไปทั่วในเรื่องของความงาม ความงามของพระนางนี้ไม่ได้หมายถึงความมีพระสิริโฉมที่งดงามเพียงอย่างเดียว แต่ทรงขึ้นชื่อเรื่องความงามของเสน่ห์ เนื่องทรงมีวาทศิลป์ที่เป็นเลิศ มีพระสติปัญญาที่เฉลียวฉลาด ถึงขนาดที่ จูเลียส ซีซาร์และมาร์คแอนโทนี ขุนพลผู้เก่งกาจแห่งอาณาจักรโรมันยังต้องสยบใต้เบื้องพระบาท
จูเลียส ซีซาร์ (ซ้าย) มาร์ค แอนโทนี่ (ขวา)
สมัยของพระนาง อียิปต์ เป็นอาณาจักโบราณทีมีความเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะอย่างนครอเล็กซานเดรีย ที่เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมย่านดินแดนชายฝั่งทะเลของเมดิเตอร์เรเนียนด้านตะวันออกทั้งหมด เป็นศูนย์กลางการค้าและแหล่งรวบรวมศิลปวิทยาการที่ทันสมัยที่สุดจากทั่วโลก ตัวอย่างของความเจริญทางศิลปะวิทยาการของชาวเมืองอเล็กซานเดียสมัยนั้นก็อย่างเช่น ประภาคารฟารอส หอสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย เป็นต้น
ภาพ แบบจำลองประภาคารฟารอส ที่สะท้อนถึงเทคโนโลยีความก้าวหน้าของอียิปต์ ชั้นบนเป็นกระจกส่งแสงสะท้อนที่ส่องได้ไกลถึง 34 ไมล์
ปัจจุบันพังทลายหมดแล้วเนื่องจากแผ่นดินไหว
พระนางคลีโอพัตราที่7 ทรงถูกนักประวัติศาสตร์บางยุคบันทึกไว้ว่า ทรงเป็นสตรีที่มักมากในกาม กระหายอำนาจ และบ้าเลือด ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะส่วนใหญ่แล้วบันทึกเหล่านั้นถูกเขียนโดยนักประวัติศาสตร์ผู้ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพระนางและอย่างที่ทราบกันดีว่า ผู้แพ้นั้นไม่เคยมีโอกาสได้เขียนบันทึกเพื่อแสดงความบริสุทธ์ของตนเอง ดังนั้นพระนางจึงถูกเข้าใจผิดมาโดยตลอดว่า ทรงเป็นสตรีที่ชั่วช้า และโสมม ทั้งที่ในข้อเท็จจริงแล้วพระนาง ทรงเป็นราชินีแห่งอียิปต์ผู้พยายามทุกวิถีทางเพื่อป้องป้องบ้านเมืองของตนเองไม่ให้ไปตกสู่ภายใต้เงื้อมมือของอาณาจักรโรมัน ที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลอยู่ในขณะนั้น สังเกตได้จากทรงเลือกที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับจูเลียส ซีซาร์ ผู้ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่แห่งโรม ณ ขณะนั้นและกำลังเตรียมการเพื่อสถาปนาจักรวรรดิโรมันขึ้นมา แต่ทว่าถูกลอบสังหารเสียก่อน ทำให้ความหวังในการพึ่งจูเลียส ซีซาร์ในการปกป้องอาณาจักรจึงพังทลายลง ดังนั้นพระนางจึงหันไปหามาร์ค แอนโทนีซึ่งถือเป็นคนสนิทของซีซาร์เพื่อคานอำนาจของจักรวรรดิโรมันแทน
อย่างไรก็ตามเนื่องจากความแข่งแกร่งของอาณาจักรโรมัน ท้ายที่สุดอียิปต์ก็ถูกโจมตีและเข้ายึดครองโดย ออกุสตุส หลานของซีซาร์ ที่ต่อมากลายเป็นจักรพรรดิองค์แรกแห่งโรม ทำให้พระนางคลีโอพัตราถูกจับเป็นเชลย และเนื่องด้วยขัตติยะมานะของพระนางเอง ทรงได้กระทำอัตวินิบาตกรรม โดยใช้งูพิษ เพื่อหลีกเลี่ยงความอัปยศและรักษาเกียรติแห่งราชินีอียิปต์ ซึ่งชาวอียิปต์เชื่อกันว่าคือเทพีไอซิสกลับชาติมาเกิด ทั้งนี้หลังจากสวรรคต ร่างของพระนางได้ถูกฝังอย่างสมพระเกียรติภายใต้พิธีกรรมเยี่ยงอย่างที่ราชวงศ์อียิปต์สืบต่อกันมาและทำให้ร่างของพระนางสูญสลายไปกับกาลเวลาเหลือเพียงเรื่องเล่าถึง อัจฉริยะภาพของพระนาง ไว้ให้แก่คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
*หมายเหตุ คลีโอพัตรา เปรียบเสมือนพระนามสำหรับพระราชธิดาผู้เป็นทายาทแห่งฟาโรห์ ซึ่งจะเป็นราชินีต่อไป ซึ่ง ราชวงศ์ปโตเลมีมี พระนางคลีโอพัตรามาก่อนหน้านั้นแล้วถึง 6 องค์ อนึ่งชาวอียิปต์เชื่อว่า ผู้จะเป็นราชินี และฟาโรห์ ได้นั้นต้องทำการเสกสมรสกับพี่น้อง พ่อแม่เดียวกันเสียก่อน ตามความเชื่อว่า เทพไอซิส และโอซิริสทรงเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน