คนไทยรับวัฒนธรรมการ "ออกหวย" และ "เล่นหวย" มาจากเมืองจีน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจีนระบุว่า การพนันทายตัวเลขหรือตัวหนังสือนี้มีขึ้นครั้งแรกในสมัยพระเจ้าเตากวาง แห่งราชวงศ์ไต้เช็ง ประมาณ พ.ศ.2364 - 2394 การพนันทายตัวเลขหรือตัวหนังสือของจีน เรียกว่า “ฮวยหวย” แปลว่า “ ชุมนุมดอกไม้ ” เหตุที่มีความหมายเช่นนี้ เพราะในตอนแรกเขียนตัวหวยเป็นรูปดอกไม้ ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นชื่อชาวจีนผู้มีชื่อเสียงในสมัยโบราณ โดยทำป้ายเล็ก ๆ จำนวน 34 ป้าย เขียนชื่อคนโบราณเป็นภาษาจีนลงป้ายละชื่อ เช่น สามหวย ง่วยโป๊ เป็นต้น จากนั้นเจ้ามือจะเลือกป้ายชื่อคนเหล่านั้นหนึ่งอันใส่ในกระบอกไม้ ปิดปากกระบอกแขวนไว้กับหลังคาโรงหวย ให้คนทายว่าจะเป็นชื่อผู้ใดใน 34 ชื่อนั้น ต่อมาได้เพิ่มชื่อขึ้นอีก 2 ชื่อ รวมเป็นตัวหวย 36 ตัว เมื่อ “ฮวยหวย” แพร่หลายมาถึงบ้านเราคนไทยก็พากันเรียกว่า “หวย” จนติดปากมาถึงทุกวันนี้
พ.ศ.2374 - 2375 กำเนิด "หวย" ครั้งแรกในไทย
กล่าวกันว่าหวยเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับชาวจีนอพยพกลุ่มหนึ่งในราวพ.ศ.2360 ในระยะแรกๆ นิยมเล่นกันเฉพาะในหมู่ชาวจีนอพยพเท่านั้น จนกระทั่ง พ.ศ.2374 - 2375 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เกิดข้าวยากหมากแพง เพราะปีหนึ่งน้ำมากแต่อีกปีหนึ่งเกิดฝนแล้ง จึงทำให้ข้าวขาดตลาดและมีราคาแพง เงินตราที่หมุนเวียนก็หดหายไป พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเข้าพระทัยว่า คงเป็นเพราะมีผู้นำเงินตราไปซื้อฝิ่นมาเก็บไว้ขาย พระองค์จึงโปรดให้เอาฝิ่นมาเผาเสียมาก แต่เงินก็ยังคงหายไปจากตลาดอยู่ ช่วงนั้นเอง เจ้าสัวผู้หนึ่งซึ่งเป็นนายอากรสุราชื่อว่า "จีนหง" ได้เข้าเฝ้ากราบทูลว่า สาเหตุที่เงินหายไปนั้นเพราะราษฎรนำไปใส่ไหฝังดินไว้ ถ้าจะเรียกเงินขึ้นมา ต้องออกหวยให้คนเล่นเหมือนเมืองจีน รัชกาลที่ 3 ทรงเห็นพ้องกับความคิดของเจ้าสัวจีนหง จึงโปรดให้จีนหงออกหวยขึ้นครั้งแรก เมื่อเดือนยี่ ปีมะแม พ.ศ. 2375 โดยผู้ที่ได้รับสัมปทานเป็นนายอากรหวยจะได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "ขุนบาลเบิกบุรีรัตน์" หรือคนทั่วไปเรียก “ขุนบาล” ซึ่งเป็นผู้อำนวยการออกหวยทุกวัน ดังนั้น เจ้าสัวจีนหง นอกจากจะเป็นนายอากรสุราแล้ว ยังเป็นนายอากรหวย มีตำแหน่งเป็นขุนบาลหารายได้ให้รัฐบาลอีกด้านหนึ่งด้วย โดยรายได้จากอากรหวยมีจำนวนมากและได้กลายเป็นรายได้ที่สำคัญของรัฐ
ในช่วงแรก การออกหวยตามแนวคิดของเจ้าสัวจีนหง จะออกหวยวันละครั้งในตอนเช้า วิธีการออกหวยให้คนไทยเล่น ได้ปรับเปลี่ยนจากแผ่นป้ายรูปคนและเขียนชื่อชาวจีนและอักษรจีนมาเป็นอักษรไทย แล้วตามด้วยชื่อคนจีนโบราณที่เขียนด้วยตัวอักษรไทย เช่น ก. สามหวย ข. ง่วยโป๊ เป็นต้น ทั้งนี้เป็นเพราะคนไทยอ่านหนังสือจีนไม่ออก อักษรไทยที่ใช้เริ่มจาก ก ข ฃ ค ฅ เรื่อยไปตามลำดับ อักษรไทยที่ใช้เขียนออกหวยมี 34 ตัว ตัดอักษรทิ้ง 8 ตัว คือ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ศ ษ ด้วยเหตุที่เขียนอักษรไทยในแผ่นป้ายนี่เองจึงเป็นที่มาของ "หวย ก. ข."
|
|
วิธีเล่นหวย ก. ข. นั้นไม่ยุ่งยาก ผู้แทงหวยจะต้องไปซื้อหวยจากเสมียนที่ตั้งขายอยู่ตามมุมถนนต่างๆ เมื่อซื้อแล้วเสมียนจะออกใบเสร็จรับเงินของโรงหวย โดยมีข้อความเกี่ยวกับตัวอักษรหรือ ตัวเลขที่แทง วันเดือนปี และเวลาที่ออกหวย จำนวนเงินที่แทง รวมทั้งรางวัลที่จะได้รับ โดยข้อความเหล่านี้จะเขียนเหมือนกันทั้งต้นขั้วและปลายขั้ว เรียกว่า “โพย” ผู้ซื้อถือปลายขั้วไว้ ผู้ขายจะนำต้นขั้วมาส่งให้ขุนบาลก่อนกำหนดออก เพื่อตรวจโพยก่อนว่าตัวไหนใครแทงมากน้อยเท่าใด ออกแล้วจะขาดทุนหรือกำไรเท่าใด จากนั้นจึงนำตัวหวยที่คิดแล้วนี้ใส่ถุงชักรอกแขวนให้ประชาชนดูว่า หวยออกตัวนี้ ผู้แทงถูกจะได้รางวัล 30 ต่อรวมทั้งทุน ส่วนเสมียนก็ชักเปอร์เซ็นต์ 1 ต่อ
ในสมัยรัชกาลที่ 3 โรงหวยตั้งอยู่ใกล้สะพานหัน แล้วย้ายมาอยู่ที่หน้าวังบูรพาภิรมย์ แต่เดิมออกหวยตอนเช้าวันละครั้ง ต่อมาพระศรีวิโรจน์ได้กราบทูลขอตั้งขึ้นอีก 1 โรง อยู่ที่บางลำพู ออกหวยตอนหัวค่ำ วันละครั้ง ในสมัยนั้นจึงมีหวย 2 โรง เรียกว่า โรงเช้าและโรงค่ำ
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีผู้ขอผูกอากรหวยออกไปตั้งที่เพชรบุรีและอยุธยา แต่เล่นอยู่ไม่นาน พระองค์จึงโปรดให้เลิกหวยทั้งสองแห่งเสีย เนื่องจากทรงเห็นว่าราษฎรยากจนลงกว่าเดิม
พ.ศ. 2417 กำเนิด "ลอตเตอรี่" หรือ "สลากกินแบ่งรัฐบาล" ครั้งแรกในไทย
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริจะเลิกอากรหวย แต่ก็ทรงเกรงว่าจะหารายได้แผ่นดินมาชดเชยไม่ทัน จึงเพียงแต่ผ่อนลดลดจำนวนโรงหวยและเบี้ยให้มีน้อยลงตามลำดับ
ต่อมาได้มีการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีชาวอังกฤษชื่อ "ครูอาล บาสเตอร์" เป็นผู้นำลักษณะการออกรางวัลสลากแบบยุโรปมาเผยแพร่เป็นคนแรก โดยเรียกว่า “ลอตเตอรี่” โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรมทหารมหาดเล็กออกลอตเตอรี่เป็นครั้งแรกใน ประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2417 เนื่องในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยเหลือพ่อค้าต่างชาติที่นำสินค้ามาร่วมแสดงในการ จัดพิพิธภัณฑ์ที่ตึกคองคาเดีย ในพระบรมมหาราชวัง และได้มีการออกลอตเตอรี่ในวาระพิเศษอีกหลายครั้ง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อบำรุงสาธารณกุศล
พ.ศ. 2459 - 2460 สิ้นสุดหวย ก.ข.
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกบ่อนหวย ก.ข. สำเร็จ ประกาศเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2459 แต่อย่างไรก็ตามยังมีผู้คนแอบเล่นหวยเบอร์กันจนถึงปัจจุบัน โดยอาศัยเลขท้ายรางวัลของสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นตัวจ่ายรางวัลในการเล่นผิดกฎหมายนี้
หลังจากประกาศเลิกหวย ก.ข. แล้วในปี พ.ศ. 2460 ซึ่งเป็นช่วงที่อยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 สหราชอาณาจักรอังกฤษซึ่งเป็นประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรประสงค์จะกู้เงินจากประเทศไทยเพื่อใช้ในการสงคราม แต่ไม่อาจกู้โดยตรงจากรัฐบาลไทยได้ เพราะเป็นการกระทบกระเทือนงบประมาณ สภารักชาติแห่งประเทศอังกฤษ จึงดำเนินนโยบายกู้เงินจากประชาชนด้วยการออกลอตเตอรี่ โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พ.ศ.2466 การออกลอตเตอรี่เสือป่าล้านบาท
ต่อมาในปี พ.ศ.2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ออก “ลอตเตอรี่เสือป่าล้านบาท” เพื่อหารายได้บำรุงกองเสือป่าอาสาสมัคร ซึ่งพิมพ์จำนวน 1 ล้านฉบับ จำหน่ายฉบับละ 1 บาท ซึ่งวิธีการออกสลากในสมัยนั้นเพียงแค่นำเลขที่ออกรางวัลบรรจุกล่องทึบแล้วใส่ลงในไห ตั้งเรียงตามลำดับจากหลักหน่วย สิบ ร้อย พัน หมื่น แสน ก่อนออกรางวัลกรรมการจะจับสลากเพื่อทราบว่าครั้งนี้จะออกรางวัลที่เท่าใด แล้วจึงให้กรรมการล้วงตลับบรรจุเลขหมายออกมาเปิดต่อหน้ากรรมการและประชาชนจนครบทุกรางวัลเป็นอันเสร็จการออกรางวัลสลากนั้น
พ.ศ. 2476 การออกลอตเตอรี่รัฐบาลสยาม
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2476 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 รัฐบาลมีนโยบายที่จะลดเงินรัชชูปการ (เงินที่เรียกเก็บจากชายไทยที่มิต้องรับราชการทหาร) ทำให้รัฐขาดรายได้ จึงได้ดำริให้มีการออกลอตเตอรี่รัฐบาลเป็นประจำขึ้นโดยเรียกว่า “ลอตเตอรี่รัฐบาลสยาม” โดยพิมพ์ออกจำหน่ายจำนวน 1 ล้านฉบับ ฉบับละ 1 บาท ปีละ 4 งวด
พ.ศ. 2477 - 2479 การออกสลากกินแบ่งบำรุงเทศบาล
ต่อมาในปีพ.ศ. 2477 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยออก “สลากกินแบ่งบำรุงเทศบาล” โดยกำหนดว่า หากเดือนใดเป็นเดือนที่ออกสลากกินแบ่งรัฐบาล เดือนนั้นให้งดจำหน่ายสลากกินแบ่งของเทศบาล โดยเริ่มจำหน่ายงวดแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2478 แล้วออกสลากเดือนเมษายน พ.ศ. 2479 โดยพิมพ์จำนวน 500,000 ฉบับๆ ละ 1 บาท และได้มีการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากบำรุงเทศบาลเรื่อยมา
พ.ศ. 2482 สถาปนาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
ในปี พ.ศ. 2482 ถือเป็นยุคที่สลากกินแบ่งรัฐบาลเริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้โอนกิจการสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากบำรุงเทศบาล มาสังกัดกระทรวงการคลัง และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลขึ้น โดยมีพระยาพรหมทัตศรีพิลาสเป็นประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2482 ในวันดังกล่าวจึงถือเป็นวันสถาปนาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจนปัจจุบัน และการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลก็ได้พัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2517 ได้มีการออกพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลขึ้น กำหนดให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นนิติบุคคล และเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง
พ.ศ. 2538
เมื่อต้นปี พ.ศ. 2538 สลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากการกุศลถูกรวมเข้าด้วยกันออกด้วยกันเดือนละ 2 ครั้ง รายได้สุทธิที่ได้รับถูกจัดสรรให้แก่หน่วยงานต่างๆ ตามจุดประสงค์ของการออกสลาก นอกจากนี้ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลยังได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้คนไทยหันมาซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยข้อความที่ว่า “วันนี้ ส่วนหนึ่งของการออกรางวัลทุกวงล้อที่หมุน คือ คุณภาพชีวิตที่คืนสู่สังคมไทย” และภาพโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์เป็นภาพคนพิการ เด็กด้อยโอกาส และคนชรา การประชาสัมพันธ์เชิญชวนเช่นนี้จึงมีอิทธิพลโน้มน้าวใจให้คนไทยผู้มีจิตกุศลได้ช่วยเหลือสังคมอีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามีช่องทางเสี่ยงโชคโดยซื้อสลากของรัฐ แต่เนื่องจากสลากกินแบ่งฯ มีราคาแพง อีกทั้งไม่สามารถเลือกแทงเลขได้ตามความต้องการ จึงมีกลุ่มพ่อค้าแม่ค้ารับเป็นเจ้ามือแทงหวยเสียเอง โดยอิงเลขท้ายของผลการออกสลากของรัฐเดือนละ 2 งวด หวยประเภทนี้รู้จักกันดีเรียกว่า “หวยใต้ดิน” การเล่นหวยใต้ดินสร้างรายได้มากมายให้เจ้ามือ แต่เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย จึงต้องมีผู้คุ้มครองซึ่งเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคนของรัฐที่ใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ เมื่อมีการแบ่งสรรผลประโยชน์ร่วมกัน จึงเป็นต้นตอของการสร้างเครือข่ายของผู้มีอิทธิพลในชุมชนที่อาจขยายผลไปสู่ธุรกิจผิดกฎหมายอื่นๆ อีกหลายประเภท
พ.ศ. 2546 กำเนิดโครงการ"สลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว" หรือ " หวยบนดิน"
สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.
ทักษิณ ชินวัตร มีนโยบายสำคัญในการปราบปรามผู้มีอิทธิพล โดยเฉพาะเจ้ามือหวยใต้ดิน แต่ปัญหาหลักคือประชาชนส่วนใหญ่นิยมแทงหวยใต้ดินกันมาก จึงมีการคิดวิธีการทำให้หวยใต้ดินเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย โดยรัฐบาลเป็นเจ้ามือรับแทงหวยเสียเอง โครงการจำหน่าย "สลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว" หรือ "หวยบนดิน" จึงเกิดขึ้น ตามมติครม. วันที่ 8 ก.ค. 2546 โดยให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจำหน่ายตั้งแต่งวดวันที่ 1 ส.ค. 2546 ถึงงวดวันที่ 16 พ.ย. 2549 รวม 80 งวด
ประเภทของสลาก ออกแบ่งเป็น
- สลากชนิดราคา 20 บาท พิมพ์ด้วยสีเขียวเหมือนสีของธนบัตร 20 บาท
- สลากชนิดราคา 50 บาท พิมพ์ด้วยสีฟ้าเหมือนสีของธนบัตร 50 บาท
- สลากชนิดราคา 100 บาท พิมพ์ด้วยสีแดงเหมือนสีของธนบัตร 100 บาท
|
สลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว |
พ.ศ. 2549 สิ้นสุดหวยบนดิน
หลังการยึดอำนาจรัฐบาลโดยคณะมนตรีเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) รัฐบาลชั่วคราวของพล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ประกาศยกเลิกหวยบนดิน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 เนื่องจากเห็นว่า การออกหวยบนดินเป็นการทำผิดกฏหมายสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล น่าจะเข้าข่าย พ.ร.บ.การพนันมากกว่า โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552 ศาลได้ตัดสินคดีหวยบนดินโดยองค์คณะมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า มติ ครม.ในการอนุมัติให้ดำเนินการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว (หวยบนดิน) ฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานสลากกินแบ่งฯ ตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มาตรา 5 และมาตรา 9 นอกจากนี้องค์คณะมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า กรณีที่คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้นำรายได้ในการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว (หวยบนดิน) คืนสู่สังคมนั้น ถือเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ.2491 มาตรา 4 และ มาตรา 13 และพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มาตรา 23 และ มาตรา 27 ด้วย