นิทานธรรม "ศิษย์คิดล้างครู"
นิทานธรรม ฉบับพิเศษ
จัดพิมพ์โดย ธรรมสภา
ในเมืองพาราณสี มีตระกูลหนึ่งรับหน้าที่สอนศิลปะเกี่ยวกับการฝึกช้างและการใช้ช้างให้ทำงานต่างๆ ตามที่ปรารถนา ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าของเราเกิดเป็นลูกของตระกูลนั้น ศึกษาศิลปะเกี่ยวกับเรื่องการฝึกช้างจนจบและเชี่ยวชาญ จึงได้รับมอบหมายจากตระกูลให้ทำหน้าที่สอนศิลปะนั้นแก่ศิษย์รุ่นต่อๆ มา
อาจารย์เป็นคนมีเมตตาต่อบรรดาศิษย์มาก ตั้งใจสอนศิลปะวิทยาเป็นอย่างดีโดยไม่ปิดบัง และไม่เลือกว่าศิษย์นั้นมีฐานะเป็นเช่นไร ดังนั้น จึงมีศิษย์มาสมัครเรียนศิลปะวิทยาจากทั่วสารทิศ ต่อมาได้มีชายหนุ่มคนหนึ่งมาขอศึกษาอยู่ด้วย
“เธอมาจากที่ไหน” อาจารย์ถาม
“ข้าพเจ้าเป็นชาวเมืองพาราณสีนี้เอง” ชายหนุ่มตอบ
“เธอจะเรียนไปทำไม”
“ข้าพเจ้ามาเรียนก็เพื่อเอาไว้ไปใช้ทำมาหากิน”
เมื่อทราบความประสงค์ของศิษย์อย่างนั้นแล้ว อาจารย์ก็ได้รับไว้ด้วยความเมตตาและสอนศิลปวิทยาให้จนหมดสิ้น
วันหนึ่ง หลังจากจบการศึกษาแล้ว ชายหนุ่มได้เข้าไปหาอาจารย์ อาจารย์ได้กล่าวความยินดีและชวนสนทนาถึงเรื่องต่างๆ รวมทั้งเรื่องราวในราชสำนักด้วย
“ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอยากรับราชการ” ชายหนุ่มเอ่ยขึ้นในตอนหนึ่ง
“งานราชการคืองานรับใช้พระราชสำนักเป็นงานหนักนะ” อาจารย์บอก
“ข้าพเจ้าไม่กลัวงานหนัก กลัวแต่ว่าจะไม่ได้งานทำเท่านั้น”
“ถ้าเธอต้องการจริงๆ ฉันจะช่วยฝากให้”
อาจารย์ทำตามที่พูดไว้ หลังจากเฝ้าพระเจ้าพรหมทัต พระราชาแห่งแคว้นกาสีแล้ว วันหนึ่งจึงได้กราบทูลว่า “ขอเดชะ ข้าพระองค์มีลูกศิษย์ฝีมือดีอยู่คนหนึ่ง ขอฝากเขาไว้รับใช้ในราชสำนักด้วย”
“ได้ซีท่านอาจารย์” พระเจ้าพรหมทัตตรัสรับรอง “ใครก็ตามถ้ามาจากอาจารย์ ฉันรับหมดเพราะเชื่อฝีมือ”
“เป็นพระมหากรุณาธิคุณพระเจ้าข้า” อาจารย์ก้มลงกราบ พลางขอให้พระเจ้าพรหมทัตตั้งเงินเดือนให้เขาด้วย
“ท่านอาจารย์ ฉันมีธรรมเนียมอยู่ว่าศิษย์กับอาจารย์จะได้เงินเดือนไม่เท่ากัน ศิษย์จะต้องได้น้อยกว่า อาจารย์จะต้องได้มากกว่า” พระเจ้าพรหมทัตตรัสชี้แจง
“ข้าพระองค์คิดว่าเรื่องนี้คงไม่มีปัญหา”
“ถ้าอย่างนั้น ทุกวันนี้ฉันให้อาจารย์เดือนละ ๑๐๐ กหาปณะ ศิษย์ของอาจารย์ก็จะได้ครึ่งหนึ่งคือ ๕๐ กหาปณะ”
“เป็นพระมหากรุณาพระเจ้าข้า”
อาจารย์ดีใจมากที่สามารถฝากศิษย์เข้ารับราชการได้สำเร็จตามความต้องการของศิษย์ ดังนั้นครั้นกลับถึงบ้านแล้วจึงรีบแจ้งให้ชายหนุ่มทราบทันที “อาจารย์ดีใจด้วย พระราชารับเธอเข้ารับราชการแล้ว”
“แล้วเรื่องเงินเดือน พระราชาทรงให้เท่าไร ท่านอาจารย์” ชายหนุ่มถามอย่างกระตือรือร้น
“เห็นรับสั่งว่าจะพระราชทานให้ครึ่งหนึ่งของฉัน” อาจารย์ตอบตามความเป็นจริง
“ทุกวันนี้อาจารย์ได้เท่าไร”
“ฉันได้ ๑๐๐ กหาปณะ”
“ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าก็ได้เพียง ๕๐ กหาปณะใช่ไหมอาจารย์”
“ใช่.....” อาจารย์พยักหน้ารับ
“ท่านอาจารย์.....” ชายหนุ่มพูดขึ้นด้วยความไม่พอใจ
“ข้าพเจ้ากับท่านมีความรู้เท่ากัน ก็ควรจะได้เงินเดือนเท่ากัน”
“ถ้าเธอต้องการอย่างนั้น ฉันจะไปกราบทูลพระราชาดูก่อนว่าจะทรงเห็นด้วยหรือไม่” อาจารย์ยินดีรับข้อเสนอ
ต่อมาอาจารย์ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าพรหมทัต และกราบทูลข้อเสนอของชายหนุ่มให้พระราชาทราบ
“ได้.....ท่านอาจารย์” พระเจ้าพรหมทัตรับข้อเสนอของชายหนุ่ม และทรงมีเงื่อนไขว่า “ลูกศิษย์ของท่านจักได้เงินเดือนเท่ากับท่าน ถ้าเขามีความสามารถเท่ากับท่าน”
“พระองค์จะให้เขาแสดงศิลปะแข่งกับข้าพระองค์หรือพระเจ้าข้า” อาจารย์ทูลถาม
“ใช่แล้ว” พระจ้าพรหมทัตพยักหน้าพระพักตร์รับ
อาจารย์ได้นำความนั้นมาแจ้งให้แก่ชายหนุ่มได้ทราบ และได้รับคำตอบอย่างหนักแน่นว่า
“ได้.....ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้ายินดีจะแสดงความสามารถแข่งกับท่าน”
“ตกลง” อาจารย์รับคำ
วันรุ่งขึ้น อาจารย์ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าพรหมทัตอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งกราบทูลเรื่องที่ชายหนุ่มตกลงแสดงศิลปะแข่งกับตนให้ทรงทราบ
“เอาละ อาจารย์ พรุ่งนี้เชิญท่านกับศิษย์มาแสดงแข่งกันได้เลย ที่ลานดินหน้าพระราชวัง” พระเจ้าพรหมทัตทรงนัดหมาย
“เป็นพระมหากรุณาธิคุณพระเจ้าข้า” อาจารย์ก้มลงกราบแทบพระบาท “และเป็นพระมหากรุณาธิคุณมากยิ่งขึ้นหากพระองค์จะป่าวประกาศเชิญชวนชาวเมืองมาร่วมเป็นสักขีพยานด้วย”
“ได้.....ท่านอาจารย์ ถ้าท่านต้องการอย่างนั้น” พระเจ้าพรหมทัตตรัสรับคำอย่างหนักแน่น
ความจริงแล้วอาจารย์รู้สึกสะเทือนใจที่ต้องมาแสดงฝีมือแข่งกับศิษย์ เพราะคิดไม่ถึงว่าศิษย์จะกล้าท้าทายตนเช่นนี้ “เราควรจะสอนให้เขาได้สำนึกบ้าง” อาจารย์บอกกับตนเองขณะเดินทางกลับบ้าน
คืนวันนั้น ขณะที่ทุกคนหลับกันหมดแล้ว อาจารย์ก็แอบไปที่โรงช้างและฝึกช้างให้เรียนรู้วิธีที่จะเอาชนะชายหนุ่มศิษย์อกตัญญูของตน เขาฝึกให้ช้างเรียนรู้คำสั่งและปฏิบัติการที่ตรงกันข้าม นั่นคือ
เมื่อออกคำสั่งว่า “ไป” ให้ช้างเรียนรู้ว่า “ต้องถอยหลัง”
เมื่อออกคำสั่งว่า “หยุดยืน” ให้ช้างเรียนรู้ว่า “ต้องนอน”
และเมื่อออกคำสั่งว่า “ถือ” ให้ช้างเรียนรู้ว่า “ต้องปล่อย”
รุ่งเช้าที่บริเวณหน้าพระราชวัง ชาวเมืองพาราณสีมาเฝ้าชมการแข่งขันประลองความสามารถระหว่างศิษย์กับอาจารย์อยู่เนืองแน่น พระเจ้าพรหมทัตประทับนั่งบนพระที่นั่งอย่างสง่างาม แล้วทันใดนั้นเอง อาจารย์กับศิษย์ก็ปรากฏตัวพร้อมด้วยช้างที่จะใช้ประลองความสามารถ
ครั้นได้เวลา อาจารย์กับศิษย์ก็ผลัดกันแสดงความสามารถในการบังคับช้าง ผลปรากฏว่าอาจารย์มีความสามารถบังคับได้อย่างไร ศิษย์ก็มีความสามารถอย่างนั้น ผู้คนที่มาเฝ้าชมต่างพากันเงียบกริบเพราะคิดว่าอาจารย์คงสู้ศิษย์ไม่ได้ อาจารย์เองก็ชื่นชมศิษย์ของตนเองอยู่ในที ช่วงสุดท้ายมาถึงแล้ว อาจารย์ยืนสงบนิ่งอยู่ครู่หนึ่งจากนั้นจึงเสนอวิธีการประลองความสามารถครั้งสุดท้าย คือ ให้ศิษย์สั่งบังคับช้างของตนเอง
“ได้.....ท่านอาจารย์ ช้างของท่านก็เหมือนช้างของข้าพเจ้า” ชายหนุ่มรับข้อเสนอของอาจารย์ทันที แล้วตรงรี่เข้าหาช้างของอาจารย์ พร้อมทั้งออกคำสั่งให้ช้างทำ
แต่ผลปรากฏว่าช้างกลับทำกิริยาอาการตรงกันข้ามหมดสิ้น
ถึงตอนนี้ ชายหนุ่มเริ่มหน้าถอดสีเพราะรู้สึกอับอายที่ไม่สามารถสั่งช้างของอาจารย์ให้ทำตามตนสั่งได้ ผู้คนที่เฝ้าชมซึ่งเอาใจช่วยอาจารย์อยู่ตลอดเวลา ต่างได้โอกาสลุกฮือขึ้นสาปแช่งชายหนุ่มกันเสียงอึงมี่
“ไป.....ไปให้พ้น ไอ้ลูกศิษย์เนรคุณ ช่างไม่รู้จักประมาณตัวเองบ้างเลย” ว่าแล้ว ต่างคนต่างปาก้อนดินใส่ชายหนุ่มจนได้รับบาดเจ็บอย่างสาหัส และขาดใจตายในเวลาต่อมา
นิทานธรรมเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ศิษย์ที่คิดล้างครูนั้นย่อมมีแต่ความวิบัติ เหมือนชายหนุ่มกับอาจารย์ผู้มากด้วยเมตตา ผลสุดท้ายชายหนุ่มก็ได้รับผลร้ายที่เกิดจากการกระทำของตนเอง
ซ้ำขออภัยค่ะ