การละเล่นของหลวง
สวัสดีครับหลังจากที่ห่างหายไปนานวันนี้ผมมีเรื่องราวที่น่าสนใจมาฝากทุกท่านอีกแล้วครับ
ประเทศไทยนับตั้งแต่โบราณมามักจะมีงานเทศกาลและงานรื่นเริงอยู่บ่อยครั้งซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าอยู่คู่กับชาวสยามประเทศมาแต่ครั้งโบราณก็ว่าได้
แน่นอนในงานเทศกาลรื่นเริงงานฉลองต่างๆของชาวไทยนั้นจะต้องมีการละเล่นอยู่ในงานรื่นเริงต่างๆด้วย
นอกจากงานรื่นเริงงานฉลองของประชาชนทั่วไปแล้ว ในพระราชวังหลวงก็มีการจัดงานรื่นเริงเช่นเดียวกัน
ภาพการละเล่นโมงครุ่ม บริเวณพระราชวังโบราณกรุงเก่า
สำหรับการละเล่นในวังหลวงนั้นจะมีขึ้นในโอกาสสำคัญๆ เช่นพระราชพิธีโสกันต์ สมโภชพระนคร เป็นต้น
เท่าที่ค้นพบในเอกสารเก่าๆ พบว่ามีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวง อาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การละเล่นของหลวง มีทั้งหมด ๕ ชุดด้วยกัน คือ กุลาตีไม้ โมงครุ่ม ระเบง แทงวิสัย และ กระอั้วแทงควาย ซึ่งผู้เล่นถวายทั้งหมดล้วนเป็นผู้ชาย
ภาพการละเล่นโมงครุ่มที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
กุลาตีไม้ ในสมัยโบราณมักจะเล่นคู่กันกับ "โมงครุ่ม" เพราะการแต่งตัวเหมือนกัน ถือไม้กำพตเหมือนกัน ปัจจุบันแยกออกเป็นการละเล่น ๒ ชนิด คือ กุลาตีไม้ไม่มีดนตรีประกอบ ผู้เล่นจะแบ่งเป็นกลุ่ม กี่กลุ่มก็ได้ตามความเหมาะสมกับสถานที่ กลุ่มหนึ่งต้องมีจำนวนคู่ นั่งคุกเข่าหันหน้าเข้าหากันล้อมเป็นวงกลม วางไม้กำพตพาดทับกันไว้ตรงด้านหน้า เริ่มเล่นด้วยการร้องแล้วตบมือให้เข้ากับจังหวะ แล้วจะหยิบไม้กำพตตีเป็นจังหวะ แล้วหันไปตีกับคนซ้ายและขวา แล้วลุกขึ้นยืนตีกันเป็นคู่ๆ ท่าที่ขยับย่างและใช้ไม้กำพตตีกันจะเป็นไปตามจังหวะเพลงที่ร้อง ทำซ้ำๆ เรื่อยๆ ไปตอนจะเลิกผู้เล่นตีกันเป็นคู่ๆ ออกไปจากสถานที่เล่น
บทร้องประกอบมีว่า
ศักดานุภาพล้ำ แดนไตร
สิทธิครูมอบให้ จึงแจ้ง
ฤทธาเชี่ยวชาญชัย เหตุใคร นาพ่อ
พระเดชพระคุณปกเกล้า ไพร่ฟ้าอยู่เย็น
โมงครุ่ม (มงครุ่ม) เป็นการละเล่นมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา การแต่งตัวของผู้เล่นเหมือนกับระเบ็ง มือถือไม้กำพต คือ กระบองสั้นแต่มีด้ามยาว มีกลองประกอบการเล่น กลองใหญ่เหมือนกลองทัด หน้ากว้างประมาณ ๕๕ เซนติเมตร ผู้เล่นแบ่งออกเป็นกลุ่ม จะมีกี่กลุ่มก็ได้ กลุ่มละ ๔ คน กลุ่มหนึ่งมีกลองโมงครุ่ม ๑ ใบ อยู่ตรงกลาง ด้านหน้ามีผู้เล่น ๒ คน ด้านหลัง ๒ คน ต้องมีผู้เล่น ๑ คน มายืนตรงหน้าคอยตีโหม่งบอกท่าทางให้ผู้เล่นทำตาม
ระเบ็ง เป็นการละเล่นในชุดพระราชพิธีที่แปลกกว่าอย่างอื่น คือแสดงเป็นเรื่องมาจากเทพนิยาย เนื้อร้องกล่าวถึงเทวดามาบอกให้บรรดากษัตริย์ร้อยเอ็ดเจ็ดพระนครไปเขาไกรลาส ระหว่างเดินทางก็เดินชมนกชมไม้ไปจนพบพระกาลมาขวางทางไว้ กษัตริย์เหล่านั้นไม่รู้จัก ก็ไล่ให้หลีกทางไปเงื้อธนูจะยิง พระกาลกริ้วมากจึงสาปให้สลบ แล้วพระกาลเกิดสงสารจึงถอนคำสาบให้ฟื้นดังเดิม แล้วขอร้องให้กลับเมืองดังเดิม กษัตริย์ก็เชื่อฟังกลับเมือง
แทงวิสัย เป็นการละเล่นที่ใช้เวลาไม่นานนักเพียงชั่วแห่ขบวนโสกันต์ ผู้เล่นแต่งตัวสวมเสื้อผ้ารุ่มร่าม ผัดหน้าติดหนวดเคราคล้ายตัวเสี้ยวกางของจีน ศีรษะสวมเทริด มือถือหอกหรือทวน ผู้เล่นจะใช้ปลายอาวุธแตะกันข้างบนบ้างข้างล่างบ้าง เต้นเวียนไปเวียนมา ซ้ายที ขวาที ตามทำนองและจังหวะของปี่พาทย์ที่บรรเลงประกอบ เพลงนี้บางท่านว่าชื่อเพลง "แทงวิสัย"
กระอั้วแทงควาย เป็นการเล่นที่ได้รับอิทธิพลมาจากพม่า มอญ มีผู้เล่น ๔ คน คำว่า "กระอั้ว" ไม่ใช่ภาษาไทย เป็นภาษาทวาย เป็นชื่อสามีของนาง "กะแอ" ผู้เล่นชุดนี้มี ๔ คน คือ ตากระอั้ว นางกะแอ และความซึ่งใช้ผู้เล่น ๒ คน อยู่ในชุดควาย คือ เป็นตอนหัวควาย ๑ คน และตอนท้ายอีก ๑ คน ผู้เล่นเป็นกระอั้วใส่เสื้อกะเหรี่ยงยาว ชายเสื้อคลุมถึงน่อง หัวใส่ลองเป็นเกล้าผมสูง ถือหอกใหญ่ ใบกว้าง ทำด้วยกระดาษ ผู้ที่เล่นเป็นนางกะแอ แต่งตัวเป็นผู้หญิง ผัดหน้าขาว แต้มไฝเม็ดใหญ่ หัวสวมผมปีก นุ่งผ้าถุง ใส่เสื้อเอว ห่มผ้าแถบสีแดงห้อยบ่า กระเดียดกระทาย ถือร่ม ในขณะเล่นใช้ร่มคอยค้ำควายไว้เพื่อป้องกันตัว
การดำเนินการแสดงไม่มีอะไรแสดงว่ายุ่งยากมากนัก เพราะเป็นการเล่นสนุกๆ ให้เกิดความขบขันมากกว่าอย่างอื่น เป็นการแสดงการล่าควาย ในระหว่างที่แสดงก็ทำท่าขบขันต่างๆ เช่น การหลอกล่อ หลบหนี การไล่ติดตามระหว่างควายและตากระอั้ว ประกอบกับการทำท่าทาง ตกอกตกใจของนางกะแอจนผ้าห่มหลุดลุ่ย เป็นที่สนุกขบขันเฮฮา และท่าทางดีใจของสองผัวเมียเมื่อฆ่าควายได้สำเร็จ เป็นต้น
การละเล่นของหลวงเป็นสิ่งที่หาดูได้ยากซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้จักมัน ผมหวังว่ากระทู้นี้จะทำให้ผู้ชมทุกท่านรู้จักกับการละเล่นโบราณนี้มากขึ้น
ขอขอบพระคุณ
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
กรมศิลปากร
อ.จตุพร ภักดี สาขานาฏศิลป์ไทย คณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม
www.Youtube.com
www.postjung.com
เป็นอย่างสูง
ขอบคุณและสวัสดีครับ