ไขปริศนาได้แล้ว ทำไมหินก้อนใหญ่หนักหลายร้อยปอนด์เคลื่อนที่ได้
ปริศนาหินก้อนใหญ่หนักหลายร้อยปอนด์เคลื่อนที่ซิกแซกข้ามที่ราบพลาย่า ในอุทยานแห่งชาติเดธวัลเลย์ ที่ทิ้งรอยยาวให้เห็นไว้บนพื้น ที่นักวิทยาศาสตร์พยายามตั้งทฤษฎีกันมานานหลายปี ตอนนี้มีนักวิจัยจากสถาบันสมุทรศาสตร์สคริปป์ส มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานดิเอโก 2 คน ได้ไขปริศนาได้แล้วว่า “หินแล่นเรือ” ถูกพัดให้เคลื่อนที่ข้ามพื้นที่อดีตก้นทะเลสาบเพียงแค่ลมพัดเบา ๆ เท่านั้น
ริชาร์ด นอร์ริส นักโบราณชีววิทยา วัย 55 ปี กับลูกพี่ลูกน้อง เจมส์ นอร์ริส วิศวกรวิจัย วัย 59 ปี จากสถาบันสคริปป์สบอกว่า หินเคลื่อนที่เกิดขึ้นได้เมื่อมีแผ่นน้ำแข็งก่อตั้งขึ้น หลังจากที่มีฝนตกหนักตลอดทั้งคืน ซึ่งเกิดขึ้นได้น้อยเต็มที แล้วละลายเมื่อมีแสงแดดส่อง ทำให้พื้นโคลนแข็งและลื่น
ก่อนฝนตก - หลังฝนตก
ทั้งคู่ได้เขียนรายงานเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ออนไลน์ พลอส วัน เมื่อวันพุธว่า สังเกตหินเคลื่อนที่เกิดขึ้นในวันที่อากาศดี แจ่มใส หลังจากคืนที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักเพราะว่ามีฝนตกน้อยในหุบเขาทะเลทรายที่ร้อนและแห้งนี้ ข้อสรุปรายงานพบว่า หินเคลื่อนที่ได้ราว 15 ฟุต (4.57 เมตร) ต่อนาที
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556 ทั้งคู่ได้ทำบัญชีหิน 60 ก้อนเคลื่อนที่ข้ามพื้นที่แบบแพนเค้กของที่ราบพลาย่า หลังจากที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยบริการอุทยานแห่งชาติ พวกเขาได้ติดตั้งสถานีอากาศในพื้นที่และติดตั้งอุปกรณ์พร้อมระบบบอกตำแหน่งบนพื้นที่โลก หรือจีพีเอส บนหิน 15 ก้อนในพลาย่า
“หินจีพีเอส” บันทึกการเคลื่อนที่และอัตราความเร็ว ติดตั้งที่ปลายด้านใต้สุดของพลาย่าที่หินเริ่มเดินทางแปลก ๆ หลังจากที่กลิ้งลงจากหน้าผา เมื่อปลายปีที่แล้วริชาร์ดและเจมส์ ได้กลับมาตรวจเครื่องมือ พวกเขาพบว่าพลาย่าถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง มีร่องรอยเคลื่อนที่ของหินใหม่ ๆ ใกล้กับแผ่นน้ำแข็งที่เลาะตามแนวชายฝั่ง
ในบ่ายถัดมาทั้งคู่กำลังนั่งอยู่บนภูเขาและชมวิว เมื่อมีลมพัดเบา ๆ และน้ำแข็งเริ่มแตก ทันใดนั้นพวกเขาก็เห็นกระบวนการเคลื่อนที่ของหิน และคลายปริศนาได้