มดคันไฟกับแพที่มีชีวิต
หลายคนคงเคยเห็นมดคันไฟที่ถูกน้ำท่วม เพราะมดคันไฟมักจะทำรังที่พื้นดิน เวลาน้ำมาบางทีก็หนีไม่ทัน ต้องลอยไปตามน้ำยกรัง เราก็จะสังเกตเห็นว่ามันจับตัวกันเป็นแพ และนึกชื่นชมในความเสียสละของเพื่อนมดตัวที่อยู่ข้างล่าง แต่อันที่จริงแล้วพวกมันมีกลยุทธ์สุดยอด แพของมดนั้นแข็งแรง ปลอดภัย และจะไม่มีใครจมน้ำตาย…
[เมื่อน้ำท่วมมดคันไฟจะรีบต่อแพทันที]
มดคันไฟ (Solenopsis invicta) สามารถรับมือกับน้ำที่ท่วมกะทันหันโดยการสร้างแพขึ้นภายในไม่กี่นาที พวกมันจะเกาะรวมตัวกันเป็นแพที่ลอยน้ำได้นานหลายสัปดาห์ แพนี้สามารถบรรทุกสมาชิกทุกตัวรวมทั้งสัมภาระ(ไข่)ของพวกมันได้อย่างปลอดภัยจนกว่าจะเจอแผ่นดิน
[ไม่ใช่แค่เอาตัวรอด ยังขนสัมภาระได้ด้วย]
นักวิจัยจากสถาบันจอร์เจียเทค(Georgia Institute of Technology) นำมดคันไฟพันธุ์พื้นเมืองของอเมริกาใต้มาทำการศึกษาทดลองในห้องปฏิบัติการ เพื่อดูว่าพวกมันมีเทคนิคการสร้างแพได้อย่างไร
[แพของมดมีความแข็งแรงและลอยน้ำได้นานมาก]
จากการศึกษาพบว่า พวกมันใช้กรงเล็บ ขากรรไกร และแผ่นเหนียวที่ขา เกาะตัวกันเป็นแพหยาบ ๆ ได้อย่างง่ายดาย ขนเล็ก ๆ ของมดช่วยกักเก็บฟองอากาศ ทำให้แพลอยได้ และยังทำให้สมาชิกที่อยู่ข้างล่างมีอากาศหายใจ
[ขนเล็ก ๆ ตามตัวช่วยให้มดที่อยู่ใต้น้ำมีอากาศหายใจ]
ครอบครัวมดที่มีสมาชิกประมาณ 200,000 อาจสร้างแพได้ใหญ่กว่าครึ่งเมตร แพของมดสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ มดทุกตัวสามารถสลับที่กันได้ มดที่อยู่ด้านล่างอาจขึ้นมาแทนมดด้านบน มดที่อยู่ด้านบนก็อาจลงไปประจำการแทนมดด้านล่างได้อย่างรวดเร็ว ในกรณีที่มีสมาชิกสูญหายไปตามกระแสน้ำหรือถูกปลากิน พวกมันสามารถรักษาเสถียรภาพของแพเอาไว้ได้อย่างมีระบบระเบียบทีเดียว
[การทดสอบความแข็งแกร่งของแพแบบมด ๆ]
ถ้าพูดถึงสัตว์สังคมที่ขยันขันแข็ง เสียสละ ฉลาด และมีระเบียบวินัย ต้องนับว่ามดติดอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว พวกมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ามหัศจรรย์มากจริง ๆ
แอดมิน
- National Geographic 136
- http://6legs2many.wordpress.com
- http://ksj.mit.edu