ไขปริศนาพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง
มันความสงสัยจากการดูหนังเรื่อง "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" อีกแล้วครับ คือตอนที่สมเด็จพระนเรศวรฯทรงยิงพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสโตงไปถูกสุระกำมาได้จริงหรือเปล่า??? เพราะดูจากในหนังแม่น้ำมันกว้างมากครับ ใช้สไนเปอร์เทคโนโลยีปัจจุบันก็คงยิงยากเลย ผมจึงไปหาข้อมูลมา...
เรื่องราวของพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตงมีปรากฏหลักฐานชัดเจนในพระราชพงศาวดารของไทยเกือบทุกฉบับที่ชำระขึ้นในสมัยหลัง ข้อความมีปรากฏตรงกันคือ
“...ครั้นพระเจ้าหงสาวดีแจ้ง จึงให้พระมหาอุปราชาถือพล ๑๐๐,๐๐๐ ให้สุระกำมาเป็นกองหน้า ตามมาเถิงแม่น้ำสะโตงฟากหนึ่ง สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ให้นายทัพนายกองนำพระมหาเถรคันฉองกับครอบครัวรีบไปก่อน แต่พระองค์กับทหารลำลอง ๑๕,๐๐๐ นั้นยังรออยู่ริมฝั่ง จึงทอดพระเนตรไปเห็นสุระกำมากองหน้า ใส่เสื้อแดงขี่ช้างยืนอยู่ริมฟากน้ำ ตรัส ให้ทหารเอาปืนหามแล่น และปืนนกสับคาบชุดยิงระดมไปเป็นอัน มากก็ไม่เถิง จึงสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า ก็ทรงพระแสงปืนนกสับยาวเก้าคืบ ยิงไปต้องสุระกำมาตกจากคอช้างตาย รี้พลรามัญทั้งนั้นเห็นอัศจรรย์ ด้วยแม่น้ำนั้นกว้างเหลือกำลังปืน ก็กลัวพระเดชเดชานุภาพ และพระมหาอุปราชามิอาจจะตามมาได้ ก็เลิกทัพกลับไป...”
ปัญหาที่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตหรือเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องราวที่เรารับรู้และเชื่อกันมานมนาน เช่น ปืนในสมัยนั้นจะมีพิสัยยิงข้ามแม่น้ำสะโตงซึ่งกว้างราว ๆ ๖๐๐ เมตรได้จริงหรือ และถึงแม้ว่ายิงข้ามแม่น้ำสะโตงได้ ความแม่นยำจะมีมากน้อยเพียงใด
หากสำรวจข้อมูลเรื่องปืนโบราณจะพบว่า มีปืนที่มีลักษณะเป็น “ปืนไฟ” อยู่ ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ ปืนใหญ่และปืนเล็ก สำหรับพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตงนั้น เชื่อกันว่าเป็นประเภทปืนเล็ก
ปืนเล็กที่พบในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้แก่
๑. ปืนหามแล่น ถือเป็นปืนใหญ่ขนาดเล็ก สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกรวดเร็ว แล้วเริ่มใช้กันตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ ไม่ได้ใช้เพื่อหวังผลทำลายป้อมหรือค่ายแต่จะใช้เพื่อสังหารมนุษย์เป็นหลัก ความยาวของปืนเฉลี่ยประมาณ ๕๐ นิ้ว เวลาใช้งานต้องวางไว้บนแท่นยิงทำจากไม้เป็นรูปร่างคล้ายขานก ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันอีกชื่อว่าปืนขานกยาง
๒. ปืนคาบชุด มีกลไกที่ไม่ต้องใช้ไฟจี้รูชนวนด้วยตัวเองให้ลำบากเหมือนปืนหามแล่น ช่วยให้ผู้ยิงใช้สองมือประคองปืนได้ กลไกลการทำงานคือจะมีกระเดื่องที่คีบหัวชุดจุดชนวนซึ่งมีรูปร่างโค้งคล้ายงู หัวจุดชนวนนี้ต้องติดไฟไว้เสมอ เมื่อเหนี่ยวไก กระเดื่องจะสับลงมาให้ไฟไปจ่อในจานชนวน ทำให้ดินปืนเกิดการเผาไหม้และระเบิดดันลูกกระสุนออกมา
๓. ปืน Snaphaunceเป็นกลไกจุดระเบิดแบบใหม่ ที่ไม่ต้องจุดไฟตรงชนวนไว้ตลอด คือจะมีกระเดื่องซึ่งคีบหินเหล็กไฟ เมื่อเหนี่ยวไก ฝาปิดจานชนวนก็จะเปิดออก กระเดื่องจะกระดกตัวหินให้ลงไปเสียดสีกับแผงปะทะจนเกิดประกายไฟ ลามไปเผาไหม้ดินปืน เกิดเป็นแรงระเบิดดันลูกกระสุนออกมา
๔. ปืนนกสับคาบศิลา มีหลักการทำงานใกล้เคียงกับปืน Snaphaunce มาก แตกต่างกันเพียงจุดเดียวคือ แผงปะทะจะทำหน้าที่เป็นฝาเปิดปิดจานชนวนด้วยในชิ้นเดียวกัน จึงเกิดความผิดพลาดได้น้อยกว่าปืน Snaphaunce
ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “...จึงสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า ก็ทรงพระแสงปืนนกสับยาวเก้าคืบยิงไปต้องสุระกำมาตกจากคอช้างตาย...”
อย่างไรก็ตาม ข้อความนี้น่าจะมีความผิดพลาดอย่างแน่นอน เพราะว่าปืนนกสับคาบศิลานั้นยังไม่มีใช้ ณ เวลานั้น ปืนประเภทนี้ถูกผลิตขึ้นหลังเหตุการณ์นี้ร่วม ๓๐ ปี เมื่อพิจารณาจากความเป็นไปได้แล้ว ข้อสันนิษฐานแบ่งออกได้เป็น ๒ กรณี
กรณีที่ ๑ คือสมเด็จพระนเรศวรอาจจะทรงยิงด้วย “ปืนคาบชุด” เป็นที่แน่นอนว่าในยุคนั้นมีปืนคาบชุดใช้กันแล้วเพราะปืนประเภทนี้เริ่มผลิตก่อนเหตุการณ์นี้ร่วม ๑๐๐ ปี แต่การที่พงศาวดารระบุว่าเป็นปืนนกสับน่าจะเป็นความเข้าใจผิดในการบันทึกในภายหลังเสียมากกว่าโดยเป็นไปได้ว่าเกิดความสับสนในตัวกระเดื่องในปืนคาบชุดกระเดื่องเป็นรูปงู ส่วนในปืนนกสับคาบศิลา กระเดื่องเป็นรูปนกและอาจมองสับสนกันในพงศาวดารจึงเรียกปืนคาบชุดเป็นปืนนกสับไปด้วย หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้คือหลังจากพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตงสูญหายไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดให้มีการจำลองขึ้นใหม่ เพื่อใช้ในราชพิธีและพระแสงปืนจำลองนี้เป็นปืนคาบชุด
หรือในกรณีที่ ๒ สมเด็จพระนเรศวรอาจจะทรงยิงด้วยปืน Snaphaunce เพราะปืนชนิดนี้เริ่มผลิตก่อนเหตุการณ์พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตงประมาณ ๑๔ ปี ลักษณะของกระเดื่องคีบหินเหล็กไฟก็มีลักษณะคล้ายไกหรือนกเช่นเดียวกันและกลไกการทำงานก็ใกล้เคียงกับปืนนกสับคาบศิลามาก จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าปืน Snaphaunceนี้ คือปืนที่สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้ยิงสุระกำมา แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปืนโบราณบางท่านได้ให้ความเห็นไว้ว่า เราไม่พบหลักฐานว่ามีปืน Snaphaunce เข้ามาในสยามสมัยนั้น ดังนั้นความเป็นไปได้ที่ใกล้เคียงที่สุดคือสมเด็จพระนเรศวรน่าจะทรงใช้ปืนคาบชุดยิงสุระกำมามากกว่า
ท้ายที่สุด ทีมงานสร้างภาพยนตร์ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ได้สร้างปืนจำลองด้วยขนาดและเทคโนโลยีที่เชื่อว่าใกล้เคียงกับ “พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง” มากที่สุด และได้ทดลองยิง ผลปรากฏว่า สามารถยิงได้ไกลในระยะกว่า ๖๐๐ เมตร แต่ทว่า “ความแม่นยำ” นั้น ไม่สามารถหวังผลได้
ด้วยเหตุนี้ ผู้สร้างภาพยนตร์จึงขับเน้นการอธิบายปรากฏการณ์ของพระวีรกรรมนี้ว่าเป็น “พระกฤษดาภินิหารอันบดบังมิได้” ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระเจ้าจักรพรรดิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา
.......................................
และนี้ข้อมูลเพิ่มเติมจากท่านมุ้ยฯที่ไปตอบในพันทิพย์น่ะครับ
เถียงกันจังเลยครับเรื่องพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสโตง
หัวข้อก็เห็นจะเป็นปืนต้นของสมเด็จพระนเรศวรสามารถยิงข้ามแม่น้ำสะโตงไปได้หรือเปล่า
และ
สามารถยิงถูกสุระกำมาได้จริงหรือเปล่า
เมื่อแรกตอนที่ผมอ่านพระราชพงศาวดารมาถึงตอนนี้ ผมเองก็ไม่เชื่อเหหมือนกันว่าปืนนกสับดินดำนี่น่ะหรือ สามารถที่จะยิงข้ามแม่น้ำที่กว้างใหญ่อย่างแม่น้ำสะโตงได้
แต่เพื่อความเป็นธรรมผมก็ต้องพิสูจน์ว่าความเป็นไปได้มันมากน้อยแค่ไหน
ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าสมเด็จพระนเรศวรข้ามแม่น้ำสะโตงที่ไหน
บริเวณที่จะข้ามได้ ถ้าเดินทางจากหงสาวดีหรือจากเมืองแครง(นี่ก็อีกประเด็นหนึ่ง คือเมืองที่ว่านี้คือเมืองอะไร) ก็น่าจะมีอยู่ที่เดียวคือที่เมืองสะโตงหรือเมืองจิตตอง
เมืองนี้คือเมืองที่สมิงทุดดอล่อให้พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้มาจับช้างเผือกแล้วจับสังหารเสีย (พงศาวดารของพม่ายิ่งไม่น่าเชื่อกว่าของเราเสียอีกเพราะระบุว่าเมือพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ถูกตัดหัง ตาของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยังกลับกรอก กระพริบได้อีกวันหนึ่งทีเดียวเลยครับ)
เมืองสะโตงนี่เป็นท่าข้ามแม่น้ำสะโตงมาแต่โบราณ จนพวกอังกฤษมาสร้างสะพานรถไฟข้ามที่ตรงนั้น แต่ระเบิดทิ้งตอนสงครามโลกครังที่สองเพื่อป้องกันไม่ให้ญี่ปุ่นข้ามแม่น้ำสะโตงมาตีย่างกุ้งได้ (สมัยนั้นเราเรียกแรงกูนว่าย่างกุ้งครับ) ตรงบริเวณนั้นแม่น้ำสะโตงกว้าง 670 เมตรครับ
อันนี้เป็นแผนที่ที่คนอังกฤษทำเอาไว้เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สองครับ
ผมเดินทางไปสำรวจบริเวณที่เชื่อว่าเป็นบริเวณที่สมเด็จพระนเรศวรข้ามแม่น้ำสะโตง - ครั้ง เช่าเรือข้ามแม่น้ำสะโตงไปดูทั้งสองฝั่งแม่น้ำเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบรูณ์ที่สุด ใช้เครื่องวัดระยะเลเซอร์ตรวจดูความกว้าง พบว่าจากชายน้ำถึงชายน้ำกว้าง 620 เมตร ครับดังนั้นพระแสงปืนต้นจะต้องยิงได้ไกลกว่่า 620 เมตร ครับ
ภาพนี้คือภาพที่ผมยืนถ่ายรูปที่ริมแม่น้ำสะโตง บริเวณที่เชื่อว่าเป็นที่ที่พระนเรศวรยิงพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตงครับ ส่วนตอหม้อที่เห็นในพื้นหลังเป็นตอหม้อของสะพานรถไฟที่อังกฤษระเบิดทิ้งในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองครับ
เมื่อรู้ระยะแน่นอนว่าระยะทางที่ปืนของพระนเรศวรจะต้องยิงสุระกำมานั้นเป็นระยะห่างออกไปเท่าไร คราวนี้ลองมาดูพระแสงปืนต้นว่ายิงถึงหรือไม่
ปืนต้นที่สมเด็จพระนเรศวรยิงนั้นเป็นปืนประเภทเดียวกับปืนที่ผมเคยเห็นในอินเดีย (Rajastan) ที่เรียกกันว่า Siege Gun คือใช้นองข้าศึกจากกำแพงป้อม ซึ่งผู้อำนวยการของ พิพิภัณฑ์ เล่าว่าสามารถยิงข้าศึกได้ไกลถึงสองกิโลเมตร(ไม่น่าเชื่อ แต่เอาแค่ครึ่งเดียว คือ 1กม. ก็สามารถยิงข้ามแม่น้ำสะโตงได้แล้วครับ
เรื่องลองทำพระแสงปืนต้นดู เราให้กรมสรรพาวุธจำลองพระแสงปืนต้น ให้มีขนาดเท่ากับในพระราชพงศาวดารคือ 9 คืบ แล้วลองยิงดู พบว่าระยะทางขึ้นอยู่กับการอัดดินดำ ซึ่งถ้าถูกสัดส่วนก็สามารถยิงได้ไกลกว่า 800 เมตร ครับ
ดังนั้นประเด็นของปืนยิงถึงหรือไม่ถึงเป็นอันตกไป คือพระแสงปืนต้นสามารถยิงข้มแม่น้ำสะโตงได้แน่นอนครับ
ส่วนเรื่องจะถูกหรือไม่ถูกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ
ปืนที่เห็นในรูปคือปืนพระแสงปืนต้นจำลองครับ ยาว 9 คืบ
เรื่องจะถูกหรือไม่คุณ Niceguy ใน คห. 50 อธิบายแล้วครับ ว่ามันเหมือนตี Hole in one นั่นแหละครับ เพราะใครจะคิอว่าคนเราสามารตีลูกกอล์ฟ ระยะทางเกือบครึ่งกิโลไปลงในหลุมเล็กๆได้ แต่ก็มีคนทำได้ครับคือนายไมเคิล เจ. คลีน ครับ
Longest Hole-In-One
Michael J. Crean of Denver, CO- 517 yard par 5 9th hole at the Green Valley Ranch Golf Club on July 4, 2002.
แต่คงจะไม่มีใครตี Hole in One ได้ตลอดไป
การที่สมเด็จพระนเรศวรยิงถูกสุระกำมานั้น จะเรียกว่าฟลุ๊คก็ได้ แต่ก็ทำความแตกตื่นให้กับกองทัพพม่าจนถึงกับแตกหนีถอยกลับไป เพราะทหารพม่าคงเห็นว่าเป็นกฤษดาภินิหารของสมเด็จพระนเรศวร เพราะอย่างที่ทุกคนคิดนั่นแหละครับว่าเป็นไปไม่ได้ที่สมเด็จพระนเรศวรจะทรงปืนต้นยิงถูกสุระกำมาได้ แต่ถ้าสมเด็จพระนเรศวรทรงยิงอีกสิบกว่านัด พวกพม่าก็คงคิดว่าที่สมเด็จพระนเรศวรยองถูกสุระกำมาตายนั้นเป็นเรื่องฟลุ๊ค ดีที่สมเด็จพระนเรศวรยิงเพียงนัดเดียว (หรือหลายนัดก็ไม่รู้เหมือนกัน)
.............
งดเม้นดราม่าการเมืองน่ะครับ เจอลบอย่างเดียว