ข้อคิดเตือนใจเรื่องการสักยันต์ "สักยันต์กันทำไม " ทำไมต้องสักยันต์ "
ผู้ที่สักยันต์มักจะเจอคำถามเหล่านี้อยู่เป็นประจำ " สักยันต์กันทำไม " " ทำไมต้องสักยันต์ "
" สักยันต์แล้วได้อะไร "เป็นคำถามยอดนิยม ก็ต้องตอบกันอธิบายกันไปทุกครั้งที่ถูกถามคำถามเหล่านี้
เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ถาม เพื่อเปลี่ยนทัศนะคติของเขาในการมองผู้สักยันต์เสียใหม่
ซึ่งต้องใช้เวลานานในการทำความรู้ความเข้าใจ อธิบายขยายความให้ผู้ฟังได้เข้าใจ จึงได้เขียนบรรยาย
ไว้และพิมพ์แจกให้เขาเอาไปอ่าน เพื่อการประหยัดเวลาในการอธิบายขยายความ...
สักยันต์กันทำไม.? ทำไมต้องสักยันต์.? สักยันต์แล้วได้อะไร.?
การสักนั้นมีมาแต่โบราณ มีอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลก แตกต่างไปตามความเชื่อและวัฒนธรรมของแต่ละถิ่น
ซึ่งในสมัยโบราณนั้น มีเหตุมาจากความเชื่อและความศรัทธา เพื่อเป็นขวัญเป็นกำลังใจและเป็นสัญลักษณ์ของเผ่า
ตามความเชื่อและวัฒนธรรมของแต่ละถิ่น ซึ่งในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า เขมร ลาว เวียดนาม
การสักในสมัยโบราณนั้น เป็นการสักยันต์เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ มีความเชื่อมั่น ศรัทธา เพื่อให้เข้มขลังมีปาฏิหารย์
สัมฤทธิ์ผลดังยันต์ที่สักไว้บนร่างกาย โดยมีการเสกเป่าเชิญครูบาอาจารย์มาคุ้มครองรักษากำกับไว้ทุกครั้งที่สักยันต์
ในสมัยโบราณนั้นนิยมสักยันต์กันเฉพาะผู้ชาย เพราะผู้ชายนั้นมีหน้าที่คุ้มครองรักษาชุมชนหมู่บ้านและต้อง
ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารไปออกทัพจับศึก และบางครั้งไม่สะดวกที่จะพกพาเอาเครื่องราง ของขลังติดตัวไปออกศึก
และเป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้ฮึกเหิมไม่หวั่นกลัวต่อข้าศึกและภัยอันตรายทั้งหลาย จึงนิยมสักยันต์กัน
ซึ่งมีทั้งการสักด้วยหมึกเพื่อให้เห็นอักขระเลขยันต์และการสักด้วยน้ำมันเพื่อซ่อนอักขระเลขยันต์บนร่างกาย
วิชาสักยันต์นั้นสืบทอดกันมาแต่โบราณ ซึ่งสมัยนั้นครูบาอาจารย์ผู้สักยันต์ให้เป็นฤาษีผู้บำเพ็ญตบะแก่กล้า
และสืบทอดวิชากันมาจนถึงปัจจุบันนี้
ทำให้ก่อนที่เราจะสักยันต์นั้น เราจะต้องมีการบูชาครู เพื่อระลึกถึงครูบาอาจารย์
ทุกครั้งก่อนที่เราจะสักยันต์ และเมื่อสักยันต์เสร็จแล้วก็จะมีการปลุกเสก เป่ามนต์คาถา เชิญครูบาอาจารย์มาคุ้มครอง
กำกับอักขระเลขยันต์ทุกครั้ง เพื่อความขลังและเสริมสร้างศรัทธาความเชื่อมั่นในยันต์ที่สักลงไปให้แก่ผู้ที่ถูกสักยันต์
การเป่ามนต์คาถานั้น เป็นการบริกรรมภาวนาเพื่อให้เกิดสมาธิและมีการอธิษฐานจิตหลอมไปตามความหมายมนต์คาถานั้น
ยันต์ที่สักลงไปนั้นจึงมีความขลังมีพลังประจุอยู่
เพื่อเป็นการควบคุมต่อศิษย์ที่สักยันต์ให้ ครูบาอาจารย์ท่านจึงตั้งกฏข้อปฏิบัติให้แก่ศิษย์เพื่อวัดศรัทธาของศิษย์
ว่าจะมีความเคารพศรัทธาต่อครูบาอาจารย์หรือไม่ ซึ่งกฏข้อปฏิบัติส่วนใหญ่จะเป็นไปในกรอบของศีลธรรมอันดีงาม
และเป็นการฝึกสติให้แก่ศิษย์ เพราะการรักษาข้อห้ามกฏกติกานั้นจำเป็นต้องมีสติและความเคารพศรัทธาควบคุมอยู่
เมื่อเขามีสติ มีศรัทธาเชื่อมั่นในยันต์ที่สักมา ในครูบาอาจารย์ที่สักมา มันก่อให้เกิดสมาธิและปาฏิหารย์ย่อมเกิดขึ้น
แต่ในยุคสมัยปัจจุบันนั้นการสักยันต์ส่วนใหญ่ได้เปลียนแปลงไป เป็นสมัยกระแสนิยมคือสักยันต์ไปตามกระแส
เป็นแฟร์ชั่นนิยม ขาดซึ่งศรัทธาที่แท้จริง เป็นการสักเพื่อโอ้อวด แข่งขัน ประชันความสวยงามกัน ย่อหย่อนในข้อวัตร
ปฏิบัติตามที่ครูบาอาจารย์ท่านได้กำหนดและปฏิบัติกันมา ทั้วผู้ที่ตั้งตนเป็นอาจารย์สัก และผู้ที่ถูกสักขาดการศึกษา
ในข้อห้ามข้อปฏิบัติเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ภาพพจน์ของผู้สักยันต์นั้นต่ำลง เพราะผู้ที่สักยันต์นั้นไม่ปฏิบัติตามข้อห้าม
ข้อปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์ท่านกำหนดไว้ ประพฤติตนไม่เหมาะสม ทำตัวเสื่อมเสีย ไม่อยู่ในศีลธรรมดั่งเจตนาของครูบาอาจารย์
ทำให้คนทั่วไปที่ไม่รู้ไม่เข้าใจ มองผู้สักยันต์ในทางที่ลบ
การสักยันต์นั้น เราต้องมีความเคารพศรัทธา เชื่อฟังปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์และมีคุณธรรมประจำใจ
ปาฏิหารย์เกิดจากศรัทธา ความเจริญก้าวหน้าเกิดจากคุณธรรม การสักยันต์นั้นเพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้เพิ่มขึ้น
และเป็นการระลึกถึงครูบาอาจารย์ที่ประสาทประสิทธฺ์ยันต์นั้นให้แก่เรา เพื่อให้เรามีสติและคุณธรรมในการดำรงค์ชีวิต
คนที่เคารพเชื่อฟังปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ย่อมมีความเจริญก้าวหน้าและประสพกับความสำเร็จในชีวิต
ถ้าเราสักยันต์ไปแล้วไม่ประพฤติปฏิบัติตามข้อห้ามข้อกำหนดที่เรียกว่า" ผิดครู" ยันต์ที่สักไปนั้นก็ไม่มีความขลัง
ไม่มีปาฏิหารย์ เป็นเพียงรอยสีรอยหมึกรูปภาพบนร่างกายเท่านั้น แต่ถ้าผู้ที่สักยันต์มานั้นนำข้อวัตรข้อปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์
ท่านกำหนดไว้ไปประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลในธรรม ก็ย่อมมีความสำเร็จดังปรารถนาสมกับยันต์ที่ได้สักลงมาบนร่างกาย
เพราะมีความเคารพ เชื่อมั่น ศรัทธา มีสติและคุณธรรมคุ้มครองจิต ชีวิตของเขาย่อมมีความสุขความเจริญ
เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรทุกผู้คน
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร