ความอิจฉาริษยา ไม่ลงรอยกัน..ในพระราชสำนักฝ่ายใน
สถานที่ใดที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ย่อมต้องมีเรื่องราวกระทบกระทั่งกันบ้างไม่มากก็น้อย ในพระราชสำนักฝ่ายในก็คงหลีกหนีธรรมชาติเช่นนี้ไปไม่พ้น แม้ว่าทุกคนจะมีศูนย์รวมแห่งความจงรักภักดีอยู่ที่องค์พระบาทสมเด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์เดียวกัน และมีความพยายามที่จะระมัดระวังมิให้เกิดการกระทบกระทั่งกันให้เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท
แต่เพราะพื้นฐานจิตใจและการอบรมบ่มนิสัย ของผู้ที่เข้ามาถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาแต่ละท่านไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ความอิจฉาริษยา การชิงดีชิงเด่น ชิงความรักและความเป็นหนึ่ง จึงต้องเกิดขึ้นบ้าง แต่มักไม่ใคร่จะมีหลักฐานปรากฏ เพราะถือเป็นเรื่องส่วนพระองค์ภายในพระราชวงศ์ ไม่สมควรที่คนภายนอกจะล่วงรู้ให้เป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ
อย่างไรก็ตามอาจกล่าวได้ว่า เรื่องการอิจฉาริษยา ชิงดี ชิงเด่นกัน ในพระราชสำนักฝ่ายในนั้นน่าจะมีแต่เป็นเพียงเรื่องราวที่คลุมเครือ ไม่กระจ่างชัดและไม่อาจที่จะกล่าวอย่างตรงไปตรงมา บางเรื่องเป็นเรื่องซุบซิบโจษขาน บางเรื่องมีปรากฏในพระราชหัตถเลขา บางเรื่องก็เป็นเรื่องเส็ก ๆ น้อย ๆ บางเรื่องก็เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องเล็กน้อยอาจจะ ได้แก่ความไม่ลงรอยกันหมั่นไส้และหึงหวงกัน
เรื่องของ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี
......พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ตรัสขณะประทับในพระบรมมหาราชวังเป็นคำเมืองว่า " ใคร่ปิ๊กบ้านวันละร้อยเตื้อ " แปลว่าอยากกลับบ้านวันละร้อยหน ก็น่าจะหมายถึงมีปัญหาที่ทำให้ไม่สบายพระทัยนัก
ตามคำบอกเล่าของท่านผู้ใกล้ชิดเล่าว่า พระองค์ได้รับความวิปโยคต่าง ๆ จาก “มือมืด” ทั้งหลาย .....แม้แต่ในขันทองสรงน้ำก็มีกระดาษเขียนตัวอักษรเลขยันต์คล้ายคาถาอะไรวางอยู่ .....และน้ำในห้องสรงก็ถูกโรยด้วยหมามุ่ย .....อยู่ดี ๆ บางทีก็มีถุงเงินพระราชทานของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง มาวางอยู่ตามทวารห้องบรรทมเพื่อหาเรื่องให้พระราชชายาว่าขโมยมา ..... อย่าว่าแต่อะไรเลยภายในสวนสวรรค์ข้าง ๆ พระตำหนัก ยังมีสิ่งปฏิกูลของมนุษย์ทิ้งเรี่ยราดอยู่ ......จู่ๆ ก็มีตัวบุ้งตัวหนอนไต่ยั้วเยี้ยตามพระแท่นบรรทมเล็กหน้าห้อง ......บางทีทรงได้ยินเสียงตะโกนลั่นผ่านหน้าห้องบรรทมว่า “ เหม็นปลาร้า” .....บ่อยครั้งที่พระกระยาหารบรรจุวางบนถาดเงินก็ถูกกีดกันมิให้ผ่านเข้าออกทวาร ......ผู้ที่ปรนบัติรับใช้พระองค์ก็พลอยถูกจงเกลียดจงชัง มีคนเอาปลาทูใส่กะลามะพร้าวไปวางไว้บนสำรับกับข้าว
ทรงบ่นกับผู้ใกล้ชิดว่า พระองค์ใคร่จะเสวยลำโพง (มะเขือบ้า) เป็นคนวิกลจริต แล้วทางกรุงเทพฯ จะได้ส่งกลับนครเชียงใหม่บ้านเกิดให้รู้แล้วรู้รอด จะได้พ้นจากความลำบากยากแค้นเสียที และผู้ใกล้ชิดของพระองค์ได้ทัดทานไว้ว่าขอให้อดใจรอจนกว่าเหตุร้ายจะกลายเป็นดีในวันหนึ่ง
พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงมีขันติอดทนอย่างน่าชมเชย พระองค์มิได้ทรงแพร่งพรายเรื่องราวอะไรต่าง ๆ นานาให้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทราบแม้แต่น้อย
เรื่องของ สมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพย์ฯ
สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ/สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมารศรีฯ/สมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพย์ฯ
อีกเรื่องที่มีการซุบซิบเล่าลือในหมู่ชาววัง คือเรื่องพิธีแห่โสกันต์ สมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพย์ สุขุมขัติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร พระราชธิดาซึ่งประสูติแต่ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมารศรี พระอัครราชเทวี ทรงเป็นพระราชธิดาที่มีพระสิริโฉมงดงาม เป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดายิ่งนัก
เมื่อครั้งโปรดให้โสกันต์นั้น ปกติจะต้องมีพิธีแห่โสกันต์ในเวลาเย็น แต่พิธีแห่ต้องเลื่อนไปจนค่ำ มีเรื่องเล่าเชิงลือกันว่า สาเหตุเป็นเพราะสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นพระนางเธอ เกิดประชวรปัจจุบันและบรรทมหนุนพระเพลาสมเด็จพระบรมราชสวามีไว้ ทำให้พระองค์ไม่อาจเสด็จไปงานพิธีโสกันต์ตามกำหนดได้
เรื่องของ พระวิมาดาเธอฯ
สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ / พระวิมาดาเธอฯ
ความอิจฉาริษยาเป็นเรื่องที่อยู่ในใจไม่มีใครหยั่งรู้ได้ จนกว่าจะมีพฤติกรรมบางอย่างที่บ่งบอก แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่อาจระบุได้ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น เกิดเพราะความอิจฉาริษยา เพราะอาจมีเหตุผลอื่นที่ทำให้ต้องปฏิบัติเช่นนั้น ดังเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเนือง ๆ ในพระราชสำนักฝ่ายใน เช่น
กรณีที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สั่งทำลาย เนกาตีฟ ภาพคู่พระพุทธเจ้าหลวง กับพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ทรงอ้างความไม่เหมาะสมที่จะทรงฉายพระรูปคู่กับพระมเหสีองค์อื่น
โดยเรื่องนี้เจ้าจอมสดับเล่าไว้ว่า "...พระวิมาดาเธอฯ ท่านทรงมีความสวามิภักดิ์ต่อเบื้องพระยุคลบาทพระพุทธเจ้าหลวงอย่างยิ่ง สิ่งใดที่เห็นว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดความยุ่งยากพระราชหฤทัย ถ้าท่านอาจจะแก้ไขตัดสาเหตุอันนั้นได้ก็จะทรงกระทำทันที แม้การนั้น ๆ จะกลับเป็นเครื่องบีบคั้นพระทัยของพระองค์เองอย่างทารุณก็ตาม
เช่นครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระกรุณาชักชวนให้พระวิมาดาเธอฯ ฉายพระรูปคู่กับพระองค์ท่าน ทำให้เกิดความปิติปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่สุด เพราะเท่ากับว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงซึ่งพระราชหฤทัยว่า ทรงพระเมตตาและทรงยกย่องมาก
แต่ครั้นเมื่อช่างได้ทำการฉายและจัดพิมพ์ส่งมาทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ทอดพระเนตรเห็น ก็กราบบังคมทูลว่าไม่สมควรที่จะทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์คู่กับพระมเหสีอื่น ขอให้ทรงเรียกรูปที่พิมพ์แล้วพร้อมทั้งเนเคตีฟ มาทำลายเสียให้หมด พระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชดำริว่า การทำเช่นนั้นจะเป็นการบีบคั้นพระทัยพระวิมาดาเธอฯ เกินไปจึงนิ่งเสีย
แต่เมื่อพระวิมาดาเธอฯ ทรงทราบ ก็ทรงพระดำริว่าถ้าไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามพระประสงค์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ เรื่องก็จะไม่ยุติลง คงจะเกิดร้าวฉานให้ร้อนถึงเบื้องพระยุคลบาท ดังนั้นแม้จะเป็นสิ่งที่ทรงปราถนาอย่างยิ่ง ที่จะเก็บไว้เป็นที่ระลึกเป็นที่ชิ่นชมในพระมหากรุณา แต่เมื่อเก็บไว้ก็จะทำให้พระพุทธเจ้าหลวงทรงร้อนพระราชหฤทัย ท่านก็ตัดสินพระทัยเด็ดขาดถวายพระรูปคืน เพื่อให้ไปทำลายเสียตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ
เรื่องของ เจ้าจอมก๊กออ
สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ / เจ้าจอมก๊กออทั้ง 5
เจ้าจอมก๊กออทั้งห้า เป็นพระสนมคนโปรดของพระพุทธเจ้าหลวง เจ้าจอมก๊กออเป็นที่โปรดปรานเป็นระยะเวลามากว่า 30 ปี โดยที่บางท่านไม่มีพระเจ้าลูกเธอมาเป็นเครื่องผูกมัด แต่เป็นเพราะคุณสมบัติพิเศษของเจ้าจอมก๊กออในแต่ละท่าน อาทิ เจ้าจอมเอี่ยม เป็นผู้ชำนาญงานนวด ส่วนเจ้าจอมเอิบ เป็นผู้ที่มีไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีหน้าที่ในการแต่งฉลองพระองค์ของพระราชสวามี มีความสามารถในการถ่ายภาพ และสามารถทำอาหารได้พิถีพิถันต้องพระราชหฤทัย
แต่ด้วยความเป็นกลุ่มคนโปรดของพระพุทธเจ้าหลวง จึงเป็นเหตุที่ทำให้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ไม่พอพระทัยนัก และปฏิเสธที่จะเสด็จตามพระราชสวามีไปยังเมืองเพชรบุรี ที่ซึ่งระยะหลัง ๆ พระราชสวามีได้เสด็จไปบ่อยดุจราชสำนักประจำ สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯทรงตรัสกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมารว่า "จะให้แม่ไปประจบเมียน้อยของพระบิตุรงค์(พ่อ)นั้น เหลือกำลังละ"
เรื่องของ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี
นอกจากความอิจฉาริษยา แข่งขันชิงดีชิงเด่นชิงความรักความเป็นใหญ่ระหว่างกันแล้ว สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ชาววังระวังและปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดที่สุดก็คือ การรักษาสถานภาพการเป็นคนโปรดหรือที่เรียกว่า "ขึ้น" เพราะเวลา "ขึ้น" นั้นจะมีทั้งอำนาจวาสนาทรัพย์สินเงินทอง ผู้คนต่างพากันเข้ามาสวามิภักดิ์ยอมตัวอยู่ในพระบารมี เวลาที่ไม่โปรดปรานเรียกว่า "ตก" สิ่งต่าง ๆ ประดาที่เคยมีก็พลันสูญเสียไป ความรู้สึกของผู้ที่อยู่ในสภาพนี้ ก็คือความรู้สึกของปถุชนคนทั่วไป คือมีทั้งความเสียใจเสียดายถึงสื่งดี ๆ ที่ผ่านไป เว้นแต่ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะกำกับกายใจอยู่จึงจะพ้นภาวะและความรู้สึกเช่นนั้น
สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ทรงเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ทรงประสบกับภาวะการณ์ "ขึ้น" และ "ตก" อันเนื่องมาจากการที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสทรงดำรงตำแหน่ง "สยามมกุฎราชกุมาร" จึง "ขึ้น" ในฐานะที่ทรงเป็น พระราชมารดาองค์รัชทายาท และทรง "ตก" เพราะสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศทรงสิ้นพระชนม์ ฐานะพระราชมารดาองค์รัชทายาทจึงเปลี่ยนไปอยู่ที่สมเด็จพระศรีพัชริรทรา พระวรราชเทวีแทน
สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า "...ฉันน่ะไม่เคยขี้เหนียวหรอก แต่เห็นเสียแล้วเมื่อเวลาฉันมีบุญน่ะ ล้วนแต่มาห้อมล้อมฉันทั้งนั้นแหล่ะ เวลามีงานมีการอะไร ฉันก็ช่วยเต็มที่ไม่ขัด แต่พอฉันตกก็หันหนีหมด ไปเข้าตามผู้มีบุญต่อไป ฉะนั้นฉันจึงตัดสินใจไม่ทำบุญกับคนรู้จัก แต่จะทำการกุศลทั่วไปไม่เลือก..."
เรื่องของ เจ้าจอมห้องเหลือง
การ "ตก" ชนิดไม่เป็นที่โปรดปรานเป็นสิ่งที่ชาววังหวาดกลัวเป็นอย่างยิ่ง ไม่ประสงค์จะให้เกิดกับตนเอง การ "ตก" เช่นนี้มีหลายปัจจัย เช่น เนื่องมาจากไม่มีพระราชโอรสพระราชธิดาไว้เป็นที่ผูกพันพระราชหฤทัย หรือมีอายุมาก หรือมีความประพฤติปฏิบัติตนไม่ต้องพระราชอัธยาศัย หรือเพราะเหตุผลอื่น ๆ สตรีเหล่านี้แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเจ้าจอม ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปี มีเรือนให้พักอาศัย แต่ก็มิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่อื่นใดในการที่จะมีโอกาสเข้าเฝ้าใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท จะเข้าเฝ้าก็เฉพาะตามหน้าที่ข้าทูลละอองธุลีพระบาทธรรมดา ในเวลาเสด็จพระราชดำเนินเข้าออกเช้าเย็น ณ ห้องโถง ซึ่งมีพระทวารเปิดออกไปยังอัฒจรรย์สำหรับเสด็จออกฝ่ายหน้า ห้องดังกล่าวมีฝาผนัง และเครื่องตกแต่งภายในปิดทองออกสีเหลือง จึงเรียกกันเป็นสามัญว่า "ห้องเหลือง" และเลยเรียกเจ้าจอมที่หมอบเฝ้าประจำอยู่ห้องนี้ว่า "เจ้าจอมห้องเหลือง" คำว่า "เจ้าจอมห้องเหลือง" จึงเป็นสมญาที่มีนัยแห่งความดูถูก เยาะเย้ย สงสารและสมเพชแฝงอยู่ ซึ่งเจ้าจอมทุกคนประจักษ์ในนัยนี้เป็นอย่างดี จึงไม่มีผู้ใดประสงค์จะอยู่ในสภาพเช่นนั้น
เรื่องของ เจ้าหม่อมราชวงศ์สดับ
เจ้าหม่อมราชวงศ์สดับ
บางเหตุการณ์ก็เกิดจากความอิจฉาริษยาโดยปิดเผยเช่นเรื่องที่ เจ้าหม่อมราชวงศ์สดับ ประสบมากับตัวเอง ว่าการที่ท่านเป็นเจ้าจอมคนโปรดนั้น คนรอบข้างมีความรู้สึกอย่างไร ปรากฎความว่า "....การที่ทรงซื้อเครื่องเพชรมาพระราชทาน โปรดให้แต่งเครื่องเพชร แล้วให้ช่างชาวต่างประเทศมาถ่ายรูป โดยทรงพระกรุณาเป็นผู้จัดท่าพระราชทานเอง ตลอดจนทรงพระกรุณาพระราชทานตู้ของที่ระลึก และจัดของเข้าแต่งตั้งในตู้พระราชทานด้วยพระองค์เองเหล่านี้ ทำให้เจ้าจอมหลายท่านอิจฉาริษยา ถึงใช้วิธีส่อเสียดยุแหย่กล่าวหาในข้อร้ายหลายประการ จนทำให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ รู้สึกตัวว่ามีแต่ผู้หวังร้ายไม่มีผู้หวังดี ท่านได้บันทึกความรู้สึกตอนนี้ไว้ว่า "...เหลียวไปพบแต่ศัตรู คุณจอมนั้นว่าส่อเสียดอย่างนั้น คุณจอมนี้ว่าอย่างนี้ ตรองดูที หรือข้าพเจ้าจะย่อยยับแค่ไหน..."
เรื่องที่ร้ายอย่างยิ่งก็คือ คุณจอมท่านหนึ่งกล่าวหาว่า ท่านไม่ซื่อตรงจงรักต่อเบื้องพระยุคลบาท กำลังติดต่อสัมพันธ์ทางชู้สาวกับชายอื่น ข้อหานี้ฉกรรจ์มาก ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นทุกข์อย่างหนัก เกิดความวิตกกังวล เกรงจะทำให้สิ้นพระมหากรุณา ขณะนั้นเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับยังอายุน้อยขาดความสุขุม ก็เลยคิดสั้น คือคิดทำลายตนเองด้วยการดื่มน้ำยาล้างรูป
แต่ความใด้ทราบถึงเบื้องพระยุคลบาททันการ ได้เสด็จลงไปพระราชทานกำลังใจ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ประจำพระองค์ชาวต่างประเทศ มารักษาช่วยชีวิตไว้ได้ทันท่วงที ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้กราบบังคมทูลยุยงอีกว่า "...ชีวิตตัวเองเขายังไม่รัก แล้วอย่างนี้เขาจะรักใครจริง..." แต่ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ก็เล่ากันว่า พระพุทธเจ้าหลวงก็มิได้ทรงกล่าวว่ากระไร
สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ/สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ/พระนางเจ้าสุขุมารศรีฯ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไป ทุกพระองค์ทุกคนต่างก็ลืมเลือนในสื่งที่ได้เคยล่วงล้ำก้ำเกินซึ่งกันและกัน และต่างก็ให้อภ้ยกันใน
".....ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงประชวรหนัก ครั้งหนึ่งสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี และ พระนางเจ้าสุขุมารมารศรีพระราชเทวี ซึ่งล้วนแต่เป็นพระเจ้าลูกเธอในสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 และเป็นพระมเหสีเทวีใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงด้วยกัน เสด็จขึ้นไปทรงเยี่ยมพระอาการประชวร ทรงสนทนากันสามพระองค์พี่น้องถึงความหลังครั้งเก่า
แล้วสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ที่แม้มีพระอิสริยยศสูงกว่าพระพี่นางทั้ง 2 ก็ทรงกราบลงที่พระบาทสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ก่อนที่ใคร ๆ จะรู้สึกพระองค์ เป็นนัยว่าทรงขอพระราชทานอภัยในความหลังดั้งเดิมทั้งหมด ฝ่ายพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ เมื่อทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็ทรงเบี่ยงพระองค์ชักพระบาทหลบ เห็นจะด้วยทรงเกรงว่าสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ จะกราบมาถึงท่านอีกพระองค์หนึ่ง เสร็จจากทรงกราบที่พระบาทสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ แล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ก็ทรงคลานอ้อมมานิดหนึ่ง พอที่จะกราบลงที่พระบาทพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีได้ แล้วก็ทรงกราบลง พร้อม ๆ กับที่ทรงพระกันแสงกันทั้งสามพระองค์ ทำให้ข้าหลวงแถว ๆ นั้นอดกลั้นน้ำตามิได้ ร้องให้ไปตาม ๆ กัน..."
สตรีที่อยู่ในพระราชสำนักฝ่ายในนั้น แม้จะอยู่ในฐานะที่แตกต่างจากคนธรรมดาสามัญ แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ก็เป็นเพียงผู้หญิงที่มีชีวิตจิตใจ เช่นบุคคลทั่วไปที่รู้จักรัก หึงหวง เสียใจ ฯลฯ แต่ก็มีความสามารถเป็นพิเศษในการอดทนอดกลั้น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการได้รับการอบรมมาเป็นอย่างดี และความจงรักภักดีต่อองค์พระประมุข มิต้องการให้มีสิ่งใดมาระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพระราชสำนักฝ่ายในจึงไม่รุนแรงนัก
โดย .......พระพันปีหลังม่าน......