ติที่จุดด้อย หรือชมที่จุดเด่นกันดี??
ในการเขียนติชม หรือการเขียนวิจารณ์นั้น จะว่าไป ก็คือการชี้บอก จุดดีจุดด้อย ของงานชิ้นนั้นๆออกมานั่นเอง
จุดเด่น หรือจุดด้อย หรือจุดอ่อนจุดแข็ง แล้วแต่ใครจะเรียกนี้ ต่อมาก็จะมีคำเรียกหาที่ฟังดูดี และชี้แนวทางในการเขียนรายงานผลมากยิ่งขึ้นเป็น จุดเด่น (หรือข้อดี ) กับ โอกาสพัฒนา
จุดเด่น (หรือข้อดี ) คงไม่ต้องพูดถึงมาก มันก็คือ สิ่งที่ผู้ประเมิน จะชมหน่วยงาน หรือบุคคลผู้นั้น เช่น หน่วยงานสะอาดเรียบร้อยดี การจัดวางวัสดุสิ่งของเป็นระเบียบ มีการทำ 5 ส ครอบคลุมทุกพื้นที่ในหน่วยงาน บุคลากรยิ้มแย้มแจ่มใส
ส่วนจุดด้อย.. หรือจุดที่ต้องปรับปรุง จะว่าไป มันก็คือ "คำติ" แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่เรียกกันแล้ว เขาจะใช้คำว่า "โอกาสพัฒนา" นั่นก็คือ สิ่งที่มันยังไม่ดี แต่ยังมีโอกาสปรับปรุง และผู้ประเมิน ควรจะมี ชี้ช่องทาง หรือแนวทางให้กับผู้ถูกประเมินด้วย
อย่างเช่น โอกาสพัฒนา ของหน่วยงานหนึ่ง ได้แก่ มีของวางกั้นขวางบริเวณทางเดินหนีไฟ อาจจะมีความไม่สะดวกหากว่าเกิดไฟไหม้ขึ้นมาจริงๆ การจัดวางเอกสารยังไม่มีการแยกหมวดหมู่ ทำให้เวลาค้นหาทำได้ยากและเสียเวลา เป็นต้น
ยังมีเทคนิคอีกว่า ในการติชมใดก็ตามเวลาประเมินนั้น
1. คำชมควรจะมีมากกว่าคำติ เช่น มีคำชม 5 ข้อ ก็มีคำติ สัก 3 ข้อ
2. ควรจะเอ่ยจุดดีของเขาขึ้นมาก่อน แล้วค่อยตามด้วย โอกาสพัฒนา
3. ควรใช้คำพูดที่มีความจริงใจ เข้าใจ เป็นมิตร ด้วยความปรารถนาที่อยากจะช่วยเหลือเขา ให้กำลังใจเขา ไม่ใช่เหยียบย่ำเขา หลีกเลี่ยงคำพูดที่ประชด แดกดัน หรือเสียดสี
4. ทุกคนทุกสถานที่ย่อมมีทั้งจุดดีและจุดด้อย หากต้องการชี้ช่องทางโอกาสพัฒนาแก่เขา จะต้องค้นหาจุดดีของเขาให้เจอก่อน อย่าให้จุดไม่ดีบังตาผู้ประเมิน จนมองไม่เห็นจุดดีไปเลย
5. การบอกจุดด้อย หรือ โอกาสพัฒนาต่อผู้อื่นนั้น ควรใช้เทคนิคการบอกแบบชี้ผลลัพธ์ หรือขอความคิดเห็น ควรหลีกเลี่ยงการออกคำสั่งให้ทำ
ตัวอย่างเช่น
- มีของวางกั้นขวางบริเวณทางเดินหนีไฟ อาจจะมีความไม่สะดวกหากว่าเกิดไฟไหม้ขึ้นมาจริงๆ แทนที่จะบอกไปทื่อๆว่าบริเวณทางเดินหนีไฟ มีของวางรกรุงรัง ระเกะระกะ (เพราะคนที่ถูกประเมินอาจจะงง หรือไม่ทันคิดว่า เอ.. มันวางระเกะระกะยังไงหว่า ก็วางไว้เรียบร้อยแล้วนี่ แต่อันที่จริงแล้ว การที่เขาไม่ให้วางอะไรไว้ตรงนั้น เพราะเวลาที่เกิดเพลิงไหม้ มันจะขวางทางหนีไฟต่างหาก)
หรือ
- การจัดวางเอกสารยังไม่มีการแยกหมวดหมู่ ทำให้เวลาค้นหาทำได้ยากและเสียเวลา แทนที่จะบอกไปทื่อๆว่า เอกสารไม่มีการจัดแยกหมวดหมู่ (เพราะคนประเมินอาจจะงง ไม่เข้าใจอีกว่า ..ก็จัดไว้เป็นระเบียบแล้วนี่ แต่เขาลืมนึกไปว่า มันควรจะแยกหมวดหมู่ด้วย ในกรณีที่คนจัดวางเอกค้นหา ย่อมจำได้และหาเจออยู่แล้ว แต่ถ้ามีคนใหม่มา หรือมีคนอื่นมาหา เขาก็จะหาไม่เจอ เพราะไม่รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน เป็นต้น)
ส่วนการบอกแบบขอความคิดเห็น มักจะเป็นเรื่องของการเสนอคำแนะนำ ในสิ่งที่ไม่มีถูกหรือผิด อย่างเช่น ที่นี่อนุญาตให้บุคลากรใส่เสื้อเหลืองมาทำงานได้ คุณคิดว่าน่าจะกำหนดวัน ที่จะนัดกันใส่มา แทนที่ใครจะใส่มาวันไหนก็ได้ ดีไหม อย่างเช่น ทุกวันจันทร์และวันพฤหัส ทุกคนจะใส่เสื้อเหลืองกัน มันจะทำให้ดูมีความพร้อมเพรียง และสร้างพลังให้แก่หน่วยงานดีด้วย
การติชมที่มีเทคนิคที่ดีนั้น ต่อให้เป็นการทักท้วงเรื่องที่สุดแสนจะแย่ที่สุด แต่หากเรามีเทคนิคที่ดี คนฟัง (คนโดนติ) ก็ยังคงรู้สึกดี จะว่าไปแล้ว.. สิงนี้มันไม่ใช่เรื่องยากหรอก แต่จะต้องค่อยๆฝึกค่อยๆทำ
เทคนิคต่างๆดังที่กล่าวมา สามารถนำไปใช้ในการวิจารณ์ได้ ถ้าจะลองเอางานวิจารณ์ (ไม่ใช่งานสับแหลก ที่นักวิจารณ์การเมืองบางท่านเอามาเขียนวิจารณ์) เราจะพบว่า เขาจะมีเทคนิคการหยิบยกเอาจุดดี ของงานนั้นมาพูด มานำเสนอก่อน จากนั้นค่อยตามด้วยจุดด้อยของงาน แต่คนที่เขียนวิจารณ์ดีๆ เราจะพบว่า บางครั้ง เราอ่านแล้วดูไม่ออกเลยว่า เขากำลังติ แต่มันเหมือนเขากำลังชี้ "ช่องทางโอกาสพัฒนา" ของผลงานชิ้นนั้นออกมามากกว่า
งานวิจารณ์แบบนี้จึงมีคุณค่า ซึ่งไม่เพียงแสดงให้เห็นว่าผู้วิจารณ์มีความเข้าใจในงานนั้นๆแล้ว ยังมีแนวทางที่ทำให้เจ้าของผลงานนั้น นำไปศึกษาปรับปรุง เพื่อพัฒนางานชิ้นต่อไปในเขาได้
หากท่านใดมีเทคนิคการติชม ดีๆ ที่แตกต่างออกไป ก็ลองเอามาเสนอกันดูนะคะ เทคนิคเหล่านี้ฝึกไว้เป็นสิ่งดีค่ะ สามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ อีกทั้งยังปลอดภัยต่อ อาการ "หัวแตก" เพราะโดนเพื่อนร่วมงานเขม่น ได้ดีอีกด้วยน้า... จริงไหม.อิอิ