ช้าง 4 งา "กอมโฟทีเรียม" สัตว์ดึกดำบรรพ์
ช้าง 4 งา "กอมโฟทีเรียม" (Gomphotherium)
สวัสดีครับ ถ้าพูดถึงช้าง เราก็คงนึกถึงได้แค่ช้างแอฟริกา ที่ตัวสูงใหญ่ หัวเล็กใบหูใหญ่ กับช้างเอเซีย ที่ตัวเล็กกว่าช้างแอฟริกานิดหน่อย แต่มีหัวที่ใหญ่กว่า หูเล็กกว่า หรือช้างแมมมอธที่อยู่ในเขตหนาวอย่างไซบีเรีย แต่ในโลกดึกดำบรรพ์เมื่อประมาณ 13 ล้านปีก่อน ยังมีช้างอยู่หลายสายพันธุ์ซึ่งบางสายพันธุ์ได้กลายมาเป็นบรรพบุรุษช้างที่เรารู้จักกันอยู่ในทุกวันนี้ หนึ่งในนั้นที่จะพูดถึงในวันนี้คือ ช้าง 4 งา (Gomphotherium) ครับ
ภาพโครงกระดูกของ กอมโฟทีเรียม (Gomphotherium)
ช้าง 4 งา "กอมโฟทีเรียม" (Gomphotherium) บางคนเรียกในชื่อ ไตรโลโฟดอน เป็นช้างดึกดำบรรพ์ เป็นตระกูลสัตว์งวงที่มีลักษณะค่อนข้างโบราณ ขากรรไกรล่างบางชนิดยาวถึง 2 เมตร มีงา 2 คู่ที่ค่อนข้างสั้น งอกจากขากรรไกรบนและล่าง ฟันกราม 2 ซี่แรก ฟันมีลักษณะเป็นปุ่มฟัน (cusp) (ฟันช้างโบราณจะมีลักษณะเป็นปุ่มซึ่งไม่เหมือนลักษณะฟันอย่างทุกวันนี้ครับ) มีความสูงถึงไหล่ตั้งแต่ 1-3 เมตร เป็นช้างที่วิวัฒนาการมาจากช้างรุ่นแรกๆ บนดินแดนอิยิปต์ที่มีขนาดเท่าหมูใหญ่ที่มีชื่อว่า เมอริธิเรียม "กอมโฟทีเรียม"ช้างในสกุลนี้มีอยู่หลายสิบชนิดด้วยกันครับ
กอมโฟทีเรียม มีชีวิตอยู่ในยุคไมโอซีนช่วงกลาง (16 -11 ล้านปีก่อน) อาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำทะเลสาบในเขตป่าที่ค่อนข้างแห้งแล้ง แต่บางชนิดอาศัยอยู่ตามที่ลุ่มชื้นแฉะคล้ายพวกสมเสร็จ ชอบกินยอดอ่อนของใบไม้ที่อยู่สูงๆ จึงไม่ค่อยถูกแย่งอาหารสักเท่าไหร่ โครงกระดูกที่สมบูรณ์ที่สุดของกอมโฟทีเรียม พบใกล้เมือง Sansan ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งสามารถดูได้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในกรุงปารีส การกระจาย ส่วนใหญ่พบในยุโรปตะวันตก แหล่งพบอื่นๆ ได้แก่ ทวีปแอฟริกา อเมริกาเหนือ และเอเชีย โดยแหล่งล่าสุดที่พบเมื่อ พ.ศ. 2540 คือ แหล่งบ่อทรายตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งที่นี่เราไม่เพียงพบซากดึกดำบรรพ์ของ กอมโฟทีเรียมเท่านั้น ยังได้พบกับช้างในสกุลอื่นอีกรวมทั้งหมด 5 สกุลด้วยกันครับ
- ช้าง “กอมโฟเธอเรียม” (Gomphotherium) ช้าง 4 งา
- ช้าง “ไดโนเธอเรี่ยม” ( Deinotherium ) ช้างงาจอบ
- ช้าง “สเตโกโลโฟดอน” ( Stegolophodon) ได้สูญพันธุ์ไปในสมัยไพลโตซีนหรือสมัยน้ำแข็งช่วงสุดท้าย
- ช้าง “สเตโกดอน” ( Stegodon) เป็นสกุลช้างที่วิวัฒนาการจนเป็นช้างในปัจจุบัน แต่ฟันยังเป็นปุ่ม (Cusp) แบบช้างโบราณอยู่งาล่างหายไปแล้ว
- ช้าง เอลลิฟาส ( Elephas) เป็นช้างสกุลเดียวกับช้างเอเชีย หรือช้างไทยในปัจจุบัน
ภาพเขียนของ กอมโฟทีเรียม (Gomphotherium)
เป็นยังไงครับ ลักษณะที่แปลกดี กว่าจะวิวัฒนาการมาถึงปัจจุบันก็เปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง ยังมีเรื่องราวของช้างอีกมากมายที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน ถ้าเพื่อนๆ ชอบผมจะหามาเรียบเรียงเรื่องราวให้อ่านกันอีกนะครับ แล้วพบกันใหม่ครับ...mata
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
ขอบคุณภาพจาก
http://th.wikipedia.org/wiki/กอมโฟทีเรียม
http://www.scilogs.com/endless_forms/2011/04/07/im-going-to-take-a/
http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Gomphotherium_-_molar_-_Somosaguas.JPG