สงครามโลกครั้งที่สองในประเทศไทย
รัฐนิยม
นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สังคมไทยได้ค่อยๆ ก้าวสู่ความเป็นอารยะตามแบบตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเจริญที่ปรากฏอยู่ในรูปของวัตถุไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง รถไฟ ไฟฟ้า ประปา เขื่อนชลประทาน โรงพยาบาล ระบบการสื่อสารคมนาคม ที่ทำการรัฐบาล ห้างร้าน และตึกรามบ้านช่อง ตลอดจนเครื่องใช้อันทันสมัย อันมีเจ้านายและชนชั้นสูงเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ส่วนชาวบ้านสามัญชนเป็นผู้ตาม ในแง่การเมือง อิทธิพลของเจ้านายและขุนนางยุคเก่าในการนำสังคมไทยเริ่งลดลงอย่างเห็นได้ชัดภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คณะราษฎร์ได้เข้ามามีบทบาทสูงในการนำสังคม และบุคคลหนึ่งที่เป็นผู้นำฝ่ายทหารของคณะราษฎร์ และเป็นหนึ่งในผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในฝ่ายทหาร คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้ขึ้นสู่อำนาจและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี( พ.ศ. 2481-2487 ) อันเป็นช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ในยุคนี้ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมไทยให้เป็นสากลและสอดคล้องกับความเป็นไปของโลก โดยได้มีบัญญัติเรียกว่า “ รัฐนิยม “ ซึ่งแสดงนโยบายของประเทศว่าต้องการให้ประชาชนคนไทยรักหวงแหนและภูมิใจในความเป็นไทย เช่น ให้ข้าราชการแต่งเครื่องแบบตามที่กำหนด ห้ามสวมกางเกงแพร ให้ทักทายกันด้วยคำว่า “ สวัสดี “ ห้ามกินหมาก ให้สวมหมวกทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ใช้คำขวัญปลุกใจทุกเช้าก่อนเรียน การยกเลิกบรรดาศักดิ์โดยให้ใช้เพียงชื่อ สกุล เหมือนคนทั่วไป การเคารพธงชาติ ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีการปลุกระดมความรู้สึกชาตินิยมอย่างรุนแรงด้วย
สภาพสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญ คือ ประชาชนขึ้นมาเป็นเจ้าของประเทศและมีบทบาทในการปกครองประเทศด้วยกระบวนการกฎหมายรัฐธรรมนูญ ชนชั้นกลาง พวกพ่อค้า ปัญญาชน ขึ้นมามีบทบาทในสังคมแต่ผู้กุมอำนาจยังคงได้แก่ทหารและข้าราชการ นายทุนเติบโตจากการค้าและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วพร้อมทั้งมีอิทธิพลและบทบาทจนได้เปรียบในสังคม เกิดช่องว่างในสังคมทำให้ชาวไร่ ชาวนา และกรรมกรมีฐานะและชีวิตอยู่กับความยากจนและถูกเอารัดเอาเปรียบจากสังคม
กรณีพิพาทอินโดจีน
สถานการณ์ในประเทศไทยเริ่มขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2483 เมื่อคณะนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง รวมทั้งประชาชนร่วมกันเดินขบวนเรียกร้องรัฐบาลเรียกเอาดินแดนคืนจากฝรั่งเศสจากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 เช่น เสียมราฐ พระตะบอง จำปาศักดิ์ เป็นต้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ได้ส่งทหารข้ามพรมแดนเข้าไปยึดดินแดนคืนทันที ท่ามกลางกระแสชาตินิยมอย่างหนัก เพลงปลุกใจในเวลานั้นได้ถูกเปิดอย่างต่อเนื่อง เช่น เพลงข้ามโขง เพลงจำปาศักดิ์ เพลงเสียมราฐ เป็นต้น
เกิดการยิงต่อสู้กันอย่างหนักระหว่างทหารไทยกับทหารฝรั่งเศส ในบางช่วงทหารไทยสามารถจับทหารโมร็อกโกทหารประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศสมาได้ และได้นำเชลยศึกเหล่านั้นมาแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้ดูที่สวนสัตว์เขาดินวนา โดยการต่อสู้ที่เป็นที่กล่าวขานมากที่สุดคือ ยุทธนาวีที่เกาะช้าง จ.ตราด เมื่อ เรือหลวงธนบุรี ของกองทัพเรือไทยได้เข้าต่อสู้กับ เรือรบลามอตต์ปิเกต์ ของฝรั่งเศส เรือหลวงธนบุรีเสียเปรียบเรือรบลามอตต์ปิเกต์ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีหรือกำลังพล ที่สุดเรือหลวงธนบุรีโดยการบังคับบัญชาของ นาวาโทหลวงพร้อมวีระพันธ์ ก็ได้ถูกยิงจมลง นายทหารบนเรือเสียชีวิตรวม 36 นาย รวมทั้งตัวหลวงพร้อมวีระพันธ์เองด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถสร้างความเสียหายให้แก่เรือรบลามอตต์ปิเกต์ จนฝ่ายฝรั่งเศสไม่กล้าส่งเรือรบมาลาดตระเวนในน่านน้ำอ่าวไทยอีกเลย เหตุการณ์นี้ได้ถูกเรียกในเวลาต่อมาว่า ยุทธนาวีเกาะช้าง
ในส่วนของกองทัพอากาศไทย เครื่องบินรบของฝ่ายไทยและฝรั่งเศสได้ปะทะกันในสมรภูมิภาคตะวันออก การต่อสู้ที่ได้รับการกล่าวขานอย่างที่สุด คือ ในวันที่ 10 ธันวาคม เรืออากาศโทศานิต นวลมณี ได้นำเครื่องขับไล่แบบคอร์แซร์ เข้าโจมตีทิ้งระเบิดเมืองเวียงจันทน์ในระยะต่ำ เครื่องบินของเรืออากาศโทศานิตได้ถูกกระสุนปืนต่อสู้อากาศของฝ่ายฝรั่งเศส ทำให้เกิดไฟลุกท่วมเครื่องบิน นักบินพลปืนหลังได้เสียชีวิตทันทีเนื่องจากถูกกระสุน เรืออากากาศโทศานิตได้กระโดดร่มลงในฝั่งไทย แต่ได้รับบาดเจ็บสาหัสเนื่องจากถูกไฟคลอกและกระสุนทะลุหัวเข่า ถูกส่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่กรุงเทพมหานคร และได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา
การต่อสู้ยังคงดำเนินไปถึงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2484 ไม่มีทีท่าว่าจะสงบ ทางญี่ปุ่นแสดงเจตจำนงเข้ามาไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง เหตุการณ์ได้จบลงโดยที่ฝรั่งเศสได้มอบดินแดนบางส่วนคืนให้แก่ไทย ฝ่ายไทยจึงจัดการปกครองเป็น 4 จังหวัด คือ จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดพระตะบอง จังหวัดนครจัมปาศักดิ์ และจังหวัดลานช้าง
เหตุการณ์การสู้รบในครั้งนี้ได้ถูกเรียกว่า กรณีพิพาทอินโดจีน หรือ สงครามอินโดจีน และต่อมาได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิขึ้นเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย
เริ่มสู่สงคราม
หลังการเข้ามามีบทบาทของญี่ปุ่นในเหตุการณ์นี้ เป็นที่คาดหมายว่า ญี่ปุ่นจะยาตราทัพเข้าสู่ประเทศไทยแน่ในอนาคต รัฐบาลไทยโดย จอมพล ป. ได้รณรงค์ให้ประชาชนปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ และการเสริมสร้างเศรษฐกิจระดับต้น ๆ อย่างเข้มแข็ง เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เช่นการออกพระราชบัญญัติสงวนอาชีพบางประเภท ที่ส่วนมากเป็นงานฝีมือ เฉพาะแก่คนไทย เป็นต้น
ทูตทหารบกของเยอรมันประจำกรุงเทพ ได้เสนอบันทึกลับต่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้เร่งรัดปรับปรุงกองทัพโดยเร่งด่วน เพื่อรับมือกับสถานการณ์สงครามขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อใช้เป็นอำนาจในการรบ และการเจรจาทางการเมืองให้เป็นผลสำเร็จ กับทั้งมีความเห็นว่าควรจะหลีกเลี่ยงการสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่น เพราะจะทำให้เกิดความสูญเสียอย่างหนัก และประเทศไทยจะหวังพึ่งชาติอื่นไม่ได้เลย ก่อนที่กองทัพญี่ปุ่นจะบุกอาเซียอาคเนย์ 2 เดือน ทูตทหารเยอรมันประจำประเทศไทย ได้แจ้งให้ทราบเป็นการลับเฉพาะว่า ญี่ปุ่นจะบุกอินโดจีนผ่านประเทศไทยทางด้านอรัญประเทศ เพื่อมุ่งไปโจมตีพม่า และจะมีกำลังหนึ่งกองพลตรึงอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ส่วนอีกสี่กองทัพใหญ่ จะกระจายขึ้นตามฝั่งทะเลภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ไปถึงโกตาบารู ซึ่งเป็นแผนการที่แน่นอน และย่ำว่าอย่าได้แจ้งรัฐบาลประเทศใดทราบว่า กระแสข่าวนี้มาจากทูตทหาร
บรรยากาศโดยทั่วไปทั้งในพระนครและต่างจังหวัด ประชาชนต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ในเหตุการณ์สงครามที่อาจเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ เพลงปลุกใจจำนวนมากได้ถูกเปิดขึ้นโดยสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยส่วนมากจะเป็นเพลงมาร์ชของเหล่าทัพต่าง ๆ
ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.00 น. กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี ปัตตานีและบางปูสมุทรปราการ และบุกเข้าประเทศไทยทางบกที่อรัญประเทศ กองทัพญี่ปุ่นสามารถขึ้นบกได้โดยมีการต่อสู้ต้านทานอย่างหนักของทหารไทย ประชาชนทั่วไปและอาสาสมัครที่เป็นเยาวชน ที่เรียกว่า ยุวชนทหารในบางจังหวัด เช่นการรบที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร กล่าวคือ กลุ่มยุวชนทหารและกองกำลังผสมทหารตำรวจซึ่งกำลังจะต่อสู้ปะทะกันอยู่ที่สะพานท่านางสังข์ โดยที่กลุ่มยุวชนทหารนั้นมีผู้บังคับการคือร้อยเอกถวิล นิยมเสน ในระหว่างการสู้รบร้อยเอกถวิลนำกำลังยุวชนทหารออกมาปะทะกองทหารญี่ปุ่น แม้ร้อยเอกถวิลจะถูกทหารญี่ปุ่นยิงเสียชีวิต แต่ยุวชนทหารยังคงสู้ต่อไปจนกระทั่งรัฐบาลไทยพ่ายแพ้ต่อกองทัพญี่ปุ่น เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2485 เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นทราบว่ากลุ่มยุวชนทหารหลายคนเป็นเพียงนักเรียนมัธยม จึงส่งหนังสือเชิดชูความกล้าหาญมายังกระทรวงกลาโหม และร้อยเอกถวิล นิยมเสน ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นพันโท ส่วนการเชิดชูเกียรติของยุวชนทหารผู้เสียชีวิตและผู้ร่วมต่อสู้ในครั้งนั้น มีอนุสาวรีย์อยู่ที่ริมสะพานท่านางสังข์ เป็นรูปยุวชนทหารพร้อมกับอาวุธปืนยาวติดดาบปลายปืน ในท่าเฉียงอาวุธ ยืนอยู่บนแท่น สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2524 เป็นสมบัติของจังหวัดชุมพร
ซึ่งในระยะแรกกองทัพญี่ปุ่นอาจบุกเข้ามาได้ ทางญี่ปุ่นเองได้ประกาศว่า ต้องการยึดครองประเทศไทย, พม่า และ อินเดีย แต่จะขอใช้ไทยเป็นทางผ่านไปยังพม่าและอินเดีย เท่านั้น การต่อสู้ทำท่าว่าจะยืดเยื้อต่อไป จนกระทั่งอัครราชทูตญี่ปุ่นเดินทางมาพบนายกรัฐมนตรีเมื่อเวลาประมาณ 07.55 น. พร้อมกับคำขู่ว่า ญี่ปุ่นได้เตรียมเครื่องบินทิ้งระเบิดไว้ 250 ลำที่ไซ่ง่อน เพื่อจะมาทิ้งระเบิดกรุงเทพให้สิ้นซาก ถ้าไทยยอมให้ผ่าน มีกำหนดเวลา 10.30 น. รัฐบาลไทยเห็นว่า อาจต้านทานกองกำลังญี่ปุ่นได้นานมากจนถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2485 รัฐบาลไทยจึงต้องยอมจำนนต่อกองทัพญี่ปุ่น ในวันที่ 31 ธันวาคม ในอีก 1 วันต่อมา ญี่ปุ่นได้เข้ามาครอบครองไทยโดยตรงเป็นเวลา 4 ปี ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2485 ที่ซากพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปล.ทหารญี่ปุ่นประจำภาคพื้นอินโดจีนส่งสารเตือนมาถึงรัฐบาลไทย ว่าถ้าไม่ยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านแต่โดยดีกองทัพญี่ปุ่นจะเครื่องบินระเบิด400ลำ บินมาทิ้งระเบิดกรุงเทพฯรัฐบาลไทยตอนนั้นเลยต้องยอมเข้ากับญี่ปุ่นค่ะ เพราะตอนนั้นกองทัพเราสู้เขาไม่ได้จริงๆ
ระหว่างสงคราม
ในเวลานั้น ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากได้เข้าสู่พระนครเต็มไปหมด และได้ใช้สถานที่ทางราชการบางแห่งเป็นที่ทำการ รัฐบาลได้ประกาศให้ญี่ปุ่นเป็น มหามิตร ประชาชนทุกคนต้องให้ความร่วมมือและสนับสนุนกับทางญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ การกระทำใด ๆ ที่เป็นปรปักษ์มีโทษถึงประหารชีวิต แต่ก็มีประชาชนบางส่วนลับหลังได้เรียกญี่ปุ่นอย่างดูถูกว่า "ไอ้ยุ่น" หรือ "หมามิตร" เป็นต้น
ในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2485 รัฐบาลไทยก็ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษ สหรัฐอเมริกา อย่างเต็มตัว ผลของการประกาศสงครามทำให้ไทยได้ดินแดนในแหลมมลายู ที่เสียให้อังกฤษกลับคืนมา (จังหวัดมาลัย) ยังได้ก่อตั้งสหรัฐไทยเดิมโดยส่งกองทัพเข้ายึดและรวมดินแดนในแคว้นรัฐฉาน (เชียงตุง เมืองพาน), รัฐกะยา รวมไปถึงเมืองตองยีและครึ่งหนึ่งของทะเลสาบอินเลในเขตประเทศพม่าอีกด้วย ผลจากสงครามทำให้สถานการณ์รุนแรงภายในของไทยถึงขนาดมีการปลุกระดมให้เกิดลัทธิคลั่งชาติอย่างรุนแรง ถึงปลูกฝังความคิดชาตินิยม พูดถึงความยิ่งใหญ่ของชาติ ที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางอารยธรรมเหนือชาติใดๆ ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้มีเป้าหมายขจัดอิทธิพลของชาติตะวันตกร่วมกับจักรวรรดิญี่ปุ่น อีกทั้งยังได้มีการปลุกระดมการรักชาติในด้านการศึกษาแก่เยาวชน เพื่อจะได้ได้ร่วมกันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติให้ยิ่งใหญ่ทัดเทียมกับสมัยเมืองพระมหานครสุโขทัย อยุธยาในอดีต
28 มกราคม พ.ศ. 2485 ประเทศไทยได้เซ็นสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่นจึงมาตั้งทัพในไทยฐานะพันธมิตร อีกทั้งในเดือนกรกฎาคมนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นฮิเดะกิ โทโจได้เดินทางมาเยือนกรุงเทพและได้เจรจาวางแผนและแบ่งเขตการรบกับไทย นัยว่าเพื่อหวังจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยตามที่ตกลงไว้ในสนธิสัญญา ในการเจรจาสรุปได้ว่ากองทัพไทยต้องถูกส่งไปรบที่เชียงตุงโดยก่อตั้งกองพลพายัพเพื่อรบกับอังกฤษและสาธารณรัฐจีน ตามข้อตกลงแบ่งเขตการรบที่ทำไว้กับญี่ปุ่นว่าตั้งแต่รัฐกะยาห์จนถึงเมืองตองยีโดยยึดเส้นแบ่งทะเลสาบอินเลเป็นของไทย จนถึงแม่น้ำโขงเป็นเขตการรบของไทย ฝ่ายทางรัฐบาลไทยต้องรบเพื่อรักษาอาวุธยุทธภัณฑ์ไว้ไม่ให้ขบวนการเสรีไทยลักลอบขโมยไปจนหมด กองทัพไทยยังสามารถขออาวุธของญี่ปุ่นมาเพิ่มเติมได้ด้วย ขณะเดียวกัน ทางสหรัฐอเมริกา ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ไม่อาจยอมรับการประกาศเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นของรัฐบาลไทย และได้ประกาศ ขบวนการเสรีไทย ขึ้นที่นั่น ในวันที่ 12 ธันวาคม พร้อม ๆ กับขบวนการเสรีไทยในที่อื่น ๆ ก็ได้เกิดขึ้น และเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาลไทยก็ได้สั่นคลอน เมื่อคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนหลายคน เช่น ปรีดี พนมยงค์ ทวี บุณยเกตุ ควง อภัยวงศ์ ได้แยกตัวออกมา เนื่องจากไม่อาจรับกับการกระทำของรัฐบาลเช่นเดียวกัน และกลายมาเป็นขบวนการเสรีไทยในประเทศ
หลังจากนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดในพระนคร การทิ้งระเบิดครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2485 สถานการณ์โดยทั่วไปในพระนครนั้น ประชาชนได้รับคำสั่งให้ทำการ พรางไฟ คือการใช้ผ้าขนหนูหรือผ้าขาวม้าปิดบังแสงไฟในบ้าน ให้เหลือเพียงแสงสลัว ๆ เพื่อป้องกันมิให้เครื่องบินของฝ่ายข้าศึกมาทิ้งระเบิดลงได้ ส่วนสถานการณ์โดยรวมของสงคราม ฝ่ายอักษะมีทีท่าว่าจะได้รับชัยชนะในสมรภูมิยุโรปและแอฟริกาตอนเหนือ ส่วนในเอเชียญี่ปุ่นก็สามารถยึดมลายูและสิงคโปร์ได้แล้ว
ทิ้งระเบิด
เมื่อไทยประกาศสงครามอย่างเต็มตัวกับฝ่ายสัมพันธมิตร ทางสหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้ส่งเครื่องบิน บี 24, บี 29 และ (Vickers Windsor) ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงได้ทำการทิ้งระเบิด ทำลายสนามบิน ชุมทางรถไฟ ท่าเรือ สะพาน อันเป็นปมคมนาคมเพื่อตัดเส้นทางลำเลียงของญี่ปุ่น พระนครและธนบุรีถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทิ้งระเบิด ระหว่างปี พ.ศ. 2485 ถึง 2488 รวม 34 ครั้งด้วยกันคือ ปี พ.ศ. 2485 จำนวน 5ครั้ง ปี พ.ศ. 2486 จำนวน 4 ครั้ง ปี พ.ศ. 2487 จำนวน 14 ครั้ง และปี พ.ศ. 2488 จำนวน 11 ครั้ง สถานที่ที่ถูกโจมตีได้แก่ สถานีรถไฟหัวลำโพง สถานีรถไฟบางกอกน้อย สถานีรถไฟช่องนนทรีย์ สถานีรถไฟบางซื่อ โรงงานซ่อมสร้างหัวรถจักรมักกะสัน โรงไฟฟ้าวัดเลียบ โรงงานปูนซีเมนต์บางซื่อ สะพานพุทธยอดฟ้า สะพานพระราม 6 ท่าเรือคลองเตย สนามบินดอนเมือง สถานทูตญี่ปุ่น ที่พักและคลังอาวุธของทหารญี่ปุ่น ที่ตั้งปืนต่อสู้อากาศยานบริเวณถนน กาติ๊บ สนามเป้า กองสัญญาณทหารเรือข้างสวนลุมพินี ประตูทดน้ำบางซื่อ โรงเก็บสินค้าและโรงงาน การทิ้งระเบิดในระยะแรก ระหว่างปี พ.ศ. 2486 ถึงกลางปี พ.ศ. 2487 เป็นการโจมตีทิ้งระเบิดในเวลากลางคืน ต่อมาในเดือน มิถุนายน 2487 จึงได้เริ่มโจมตีทิ้งระเบิดในเวลากลางวัน การทิ้งระเบิดมีการทิ้งผิดเป้าหมายที่ต้องการเป็นจำนวนไม่น้อย เช่น วัดราชบุรณราชวรวิหาร ทำให้ภาพวาดของขรัวอินโข่งถูกทำลาย เครื่องบินทิ้งระเบิดที่ใช้มี แบบ บี-24 ซึ่งส่วนใหญ่จะมาทิ้งระเบิดเวลากลางคืน ปืนต่อสู้อากาศยานได้ยิงต่อสู้โดยใช้ไฟฉายส่อง ค้นหาเป้าหมายแบบประสานกันจากจุดต่าง ๆ บนพื้นดิน เมื่อจับเป้าคือเครื่องบินได้แล้ว ก็เกาะเป้าไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ปืนต่อสู้อากาศยาน ยิงทางเครื่องบินทิ้งระเบิด จะต่อสู้โดยยิงปืนกลอากาศสวนมาตามลำแสงของไฟฉาย ซึ่งจะเห็นได้จากกระสุนส่องวิถีจากปืนกลอากาศ ที่ยิงมาเป็นชุดยาว
ทางกองทัพอากาศได้ส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นต่อสู้สกัดกั้น แต่ไม่ใคร่ได้ผลเพราะเครื่องบินฝ่ายเรา มีสมรรถนะต่ำกว่า และต่อมาในระยะหลังที่ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ บี -29 ซึ่งจะบินมาเป็นหมู่ในระยะสูง ปืนต่อสู้อากาศยานยิงไม่ถึง จึงได้มีการมาทิ้งระเบิดเวลากลางวันอย่างเสรี อีกทั้งรัฐบาลต้องประกาศให้ประชาชนเตรียมพร้อมสำหรับการทิ้งระเบิด เมื่อมาถึงทางการจะเปิดเสียงสัญญาณหวอเสียงดังเพื่อเตือนให้ประชาชนได้ระวังตัว เช่น หลบอยู่ในหลุมพรางที่ขุดขึ้นเอง หรือทำการพรางไฟ เป็นต้น แต่ประชาชนบางส่วนก็ได้อพยพย้ายไปอยู่ตามชานเมืองหรือต่างจังหวัด ตลอดจนลงไปอยู่ในหลุมที่ทางการจัดสร้างไว้ เป็นต้น ซึ่งการอพยพนั้นมักจะเดินกันไปเป็นขบวนกลุ่มใหญ่เหมือนขบวนคาราวาน โดยชานเมืองที่ผู้คนนิยมไปกันเป็นจำนวนมากคือ บริเวณถนนสุขุมวิท ซึ่งในเวลานั้นเรียกว่า บางกะปิ
ตั้งแต่เดือน มกราคม 2487 ถึงเดือน มกราคม 2488 ประเทศไทยถูกโจมตีทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตร ประมาณ 250 ครั้ง มีเครื่องบินเข้าปฏิบัติการประมาณ 2,490 เที่ยวบิน ทิ้งลูกระเบิดทำลายประมาณ 18,600 ลูก ระเบิดเพลิงประมาณ 6,100 ลูก ทุ่นระเบิดประมาณ 250 ลูก พลุส่องแสงประมาณ 150 ลูก มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,900 คน บาดเจ็บประมาณ 3,000 คน อาคารถูกทำลายประมาณ 9,600 หลัง เสียหายประมาณ 1,200 หลัง รถจักรเสียหาย 73 คัน รถพ่วงเสียหาย 617 คัน เรือจักรกลเสียหาย 14 ลำ เรืออื่น ๆ ประมาณ 100 ลำทรัพย์สินเสียหายประมาณ 79 ล้านบาท
น้ำท่วม
ในปลายปี พ.ศ. 2485 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ขึ้นที่พระนครและธนบุรี ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนเลวร้ายลงไปอีก ซ้ำสภาพเศรษฐกิจของกินของใช้ก็ขาดแคลนไปแทบทุกอย่าง ทั้งข้าวสาร ยารักษาโรค ราคาข้าวสารถังละ 6 บาท แม้จะหาซื้อได้ยากอยู่แล้วก็ยังต้องกักตุนเพื่อให้ไว้สำหรับกองทัพญี่ปุ่นด้วย และมีพ่อค้าคนไทยบางส่วนได้กักตุนสินค้าไว้เพื่อโก่งราคา ซึ่งเรียกกันว่า ตลาดมืด และพ่อค้าที่ได้ผลประโยชน์ในครั้งนี้ว่า เศรษฐีสงคราม เพราะร่ำรวยไปตาม ๆ กันจากเหตุนี้ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อถึงคราวนี้ เครื่องบิน บี 29 กลับไม่ได้มาทิ้งระเบิดเหมือนอย่างเคย
รัฐบาลไทย โดย จอมพล ป. พิบูลสงครามได้เปิดทำเนียบรัฐบาลซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมให้ประชาชนทั่วไปมารับแจกข้าวสารได้ โดยนำหลักฐานคือสำมะโนครัวไปด้วย โดยทำการแจก 1 ครั้งต่อ 1 สัปดาห์ คณะผู้แจกโดยมากจะเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก แต่งตัวดี ทำการแจกอย่างขะมักขะเม่น สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่มารับเป็นอันมาก
การลักทรัพย์ยามสงคราม
ในเวลาเดียวกัน ก็เกิดขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นโดยคนไทยด้วยกันเอง เรียกว่า ขบวนการไทยถีบ ขบวนการนี้ทำหน้าที่ดักปล้นของเล็กของน้อย ยุทธปัจจัยต่าง ๆ ของกองทัพญี่ปุ่น ไปซ่อนตามป่าเขา โดยเฉพาะการตัดขบวนรถไฟขณะลำเลียงสิ่งของต่าง ๆ ให้ขาดจากกัน อีกทั้งบางครั้งยังแอบเข้าไปลักลอบขโมยดาบซามูไรของทหารญี่ปุ่นในเวลาหลับอีกด้วย เรียกว่า ไทยลักหลับ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ขบวนการนี้บางครั้งขโมยแม้แต่ทรัพย์สินของรัฐบาลไทยเอง เช่น ลวดทองแดง สายโทรศัพท์ เป็นต้น อีกทั้งขบวนการเสรีไทยก็ไม่ได้นับขบวนการไทยถีบเป็นแนวร่วมแต่อย่างใด
นอกจากนี้ มีการปล้นทหารญี่ปุ่นกันอย่างหนัก ซึ่งมีทั้งใช้การปล้นสะดมด้วยการรมยาให้หลับ ที่สุดมีแม้แต่การปล้นในเวลากลางวัน โดยที่โจรถึงกับทักทายทหารญี่ปุ่นก่อนลงมือปลดทรัพย์ทรัพย์และอาวุธ หรือ ปล้นทหารญี่ปุ่นด้วยไม้ตะพดชิงเอาอาวุธปืนไปได้ โดยไม่เกรงกลัวอาญาแผ่นดิน
หลังสงคราม ตำรวจต้องระดมกำลังปราบปรามบรรดาโจรผู้ร้ายซึ่งมีอาวุธที่ชิงมาจากทหารญี่ปุ่น และ บรรดาเสือร้ายต่าง ๆ เช่น กรณีการถล่มชุมโจรที่บางไผ่ ซึ่งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่าง อำเภอปากท่อ ราชบุรี และ จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อ ปี พ.ศ. 2490 กว่าจะราบคาบ ก็กินเวลาหลายปี
หลังสงคราม (จนถึง พ.ศ. 2493)
สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตของญี่ปุ่นทรงประกาศยอมแพ้และมีพระบรมราชโองการให้ทหารญี่ปุ่นทั่วโลกวางอาวุธ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย ทางญี่ปุ่นก็ได้ทำพิธียอมแพ้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่อ่าวโตเกียว
จากการยอมแพ้ครั้งนี้ส่งผลให้ผู้นำประเทศหลายประเทศที่เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ตกเป็นอาชญากรสงครามทั้งสิ้น ควง อภัยวงศ์ ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งจะต้องถูกแขวนคอในข้อหาอาชญากรสงคราม นายควงได้เร่งรีบออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และออกกฎหมายที่เรียก ประกาศสันติภาพ มีผลให้การประกาศสงครามของไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ โดยอ้างเหตุว่าขณะที่ประกาศสงครามนั้นหนึ่งในผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คือ ปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้ลงนามด้วย ซึ่งนับว่าเป็นประเทศเดียวที่เป็นรัฐบาลได้เข้าทำการบร่วมกับฝ่ายอักษะจนแพ้สงครามแต่สามารถพลิกกลับมาให้มีสถานะไม่ใช่ประเทศแพ้สงครามได้ (ทั้งนี้ งานของขบวนการเสรีไทยเป็นเหตุผลสนับสนุนการอ้างของไทยเช่นนี้ด้วยส่วนหนึ่ง) แต่สภาพเศรษฐกิจโดยร่วมขณะนั้นย่ำแย่ ประกอบกับประเทศสัมพันธมิตรบางประเทศอย่างอังกฤษไม่ยอมรับในสถานภาพนี้ของไทย และเรียกร้องสิทธิบางประการกับไทยเสมือนประเทศที่แพ้สงครามอื่น ๆ ด้วย ขณะที่ไทยได้เจรจาเรียกร้องดินแดนบางส่วนคืน ควง อภัยวงศ์ จึงได้ลาออก และทวี บุณยเกตุ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว เพื่อรอการกลับมาของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตที่สหรัฐอเมริกาและหัวหน้าขบวนการเสรีไทยที่นั่น เพื่อมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำร้องขอของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ 8
ม.ร.ว.เสนีย์ ออกเดินทางจากสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2488 ถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 กันยายน และได้ดำเนินการเจรจากับอังกฤษและตกลงข้อสัญญาบางประการกับทางอังกฤษ จนแล้วเสร็จและได้ทำบันทึกอย่างเป็นทางการลงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 เป็นอันเสร็จภารกิจและ ม.ร.ว.เสนีย์ ก็ได้ยื่นใบลาออกในวันนั้นทันที แต่ต้องอยู่รักษาการไปจนกระทั่งสิ้นเดือน
ระหว่างนี้ได้มีการออกกฎหมายอาชญากรสงครามมาเพื่อให้ผู้กระทำผิดต้องขึ้นศาลไทย จอมพล ป. พิบูลสงคราม รวมทั้งอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาระดับสูงหลายคน เช่น หลวงวิจิตรวาทการ, พลเอกมังกร พรหมโยธี เป็นต้น จึงถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีในประเทศไทย และต่อมาไม่ต้องรับโทษเพราะศาลฎีกาวินิจฉัยว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลังและอ้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ระบุเรื่องสิทธิเสรีภาพของบุคคลซึ่งเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่ากฎหมายอาชญากรสงคราม ทั้งนี้มีผู้วิจารณ์ว่าการออกกฎหมายอาชญากรสงครามก็เพื่อไม่ให้คนไทยถูกส่งไปดำเนินคดีในต่างประเทศอันจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศและทำให้เสียเปรียบในการเจรจาหลังสงคราม หรือบางแหล่งก็ว่าเป็นการช่วยเหลือจอมพล ป. ให้พ้นโทษ ในขณะที่อาชญากรสงครามของประเทศอื่นๆ ถูกจับกุมและประหารชีวิตในที่สุด[