เหยี่ยวดำ เหยี่ยวแดง
เหยี่ยวดำ
เหยี่ยวดำ (อังกฤษ: Black kite, Pariah kite; ชื่อวิทยาศาสตร์: Milvus migrans) เป็นเหยี่ยวชนิดหนึ่ง
จัดเป็นนกขนาดกลาง ขนาดลำตัวประมาณ 60-66 เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกันคือ ลำตัวสีน้ำตาลเข้มอมเหลืองทั้งด้านบนและด้านล่าง ปีกสีน้ำตาลเข้ม หางเป็นแฉกตื้น ๆ มองดูคล้ายง่าม ปากสั้นสีดำแหลม คม ปลายปากเป็นขอ หัวค่อนข้างใหญ่ คอสั้น ปีกยาว ส่วนนกที่ยังไม่โตเต็มที่ ลำตัวจะเป็นสีน้ำตาลอ่อน พร้อมกับมีขีดสีเหลืองอ่อนทั่วทั้งตัว
พบกระจายพันธุ์อยู่กว้างขวางในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ยูเรเชีย, ออสตราเลเชีย และโอเชียเนีย จึงทำให้มีชนิดย่อยหลากหลายถึง 5 ชนิด (ดูในตาราง) และเป็นนกอพยพในหลายพื้นที่ในช่วงฤดูหนาว ในประเทศไทยพบได้ในป่าทางภาคเหนือ, ภาคกลางและภาคใต้
มีพฤติกรรมหากินในเวลากลางวัน ชอบบินอยู่ตามที่โล่งชายป่า ตามริมฝั่งทะเล หรือตามแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ เพื่อหาอาหาร เมื่อจับเหยื่อได้ก็มักกินบนพื้นดิน หรืออาจนำไปกินบนต้นไม้ พบอยู่โดดเดี่ยว เป็นคู่หรือเป็นฝูง
เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ เหยี่ยวดำจะทำรังรวมกันเป็นกลุ่มบนต้นไม้สูง ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันสร้างรังด้วยกิ่งไม้เล็ก ๆ นำมาขัดสานกัน จากนั้นทั้งคู่จะช่วยกันกกไข่และเลี้ยงลูกอ่อน นกจะใช้เวลากกไข่นานประมาณ 29-32 วัน ออกไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ปกติ 3 ฟอง
คลิปจากYOUTUBE
เหยี่ยวแดง
เหยี่ยวแดง (อังกฤษ: Brahminy kite, Red-backed sea-eagle) เป็นนกล่าเหยื่อขนาดกลางในวงศ์ Accipitridae สามารถพบได้ในอนุทวีปอินเดีย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ประเทศออสเตรเลีย
ลักษณะ
เหยี่ยวแดงมีสีที่ตัดกันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ทั้งตัวจะมีสีน้ำตาลแดงยกเว้นที่หัวและอกมีสีขาว ปลายปีกมีสีดำ ขามีสีเหลือง ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้มีความยาวจากปลายปีกจดปลายหาง 51 ซม. ตัวผู้ยาว 43 ซม. นกวัยอ่อนมีสีน้ำตาลแกมดำคล้ายกับเหยี่ยวดำ แต่มีสีจางกว่า ปีกสั้น และ หางมน
เหยี่ยวแดงมีขนาดพอๆกับเหยี่ยวดำและมีลักษณะการบินที่คล้ายกันจากมุมปีก แต่มันมีปลายหางมนเหมือนกับนกในสกุล Milvus ขณะที่เหยี่ยวดำมีหางเป็นแฉก นกทั้งสองสกุลนี้มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก
เสียงร้อง:กิ๊ก หรือ เกรออ
อนุกรมวิธาน
เหยี่ยวแดงถูกจำแนกครั้งแรกโดยนักธรรมชาติวิทยาชาวดัตช์ที่ชื่อ พีเทอร์ บอดเดอต์ (Pieter Boddaert) ในปี ค.ศ. 1783 มีด้วยกัน 4 สปีชีส์ย่อย:
- indus (Boddaert, 1783) พบในเอเชียใต้
- flavirostris Condon & Amadon, 1954 พบในหมู่เกาะโซโลมอน
- girrenera (Vieillot, 1822) พบในเกาะนิวกินี หมู่เกาะบิสมาร์ค และ ประเทศออสเตรเลีย
- intermedius Blyth, 1865 พบในคาบสมุทรมลายูไปถึงหมู่เกาะซุนดา เกาะซูลาเวซี และ ประเทศฟิลิปปินส์
การกระจายพันธุ์และสถานะการอนุรักษ์
เหยี่ยวแดงสามารถพบได้ในประเทศศรีลังกา, ประเทศอินเดีย, ประเทศปากีสถาน, ประเทศบังกลาเทศ, และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทางใต้ไปได้ไกลถึงรัฐนิวเซาท์เวลส์, ประเทศออสเตรเลีย เป็นนกประจำถิ่น แต่อาจมีการย้ายถิ่นตามฤดูกาลตามปริมาณน้ำฝนในบางบริเวณของพิสัย
ส่วนใหญ่จะพบในที่ราบแต่บางครั้งพบที่ระดับความสูง 5000 ฟุตในเทือกเขาหิมาลัย
เหยี่ยวแดงถูกประเมินเป็นความเสี่ยงต่ำในบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่ นกชนิดนี้มีแนวโน้มที่จะลดจำนวนลง อย่างเช่นใน ชวา
พฤติกรรม
เหยี่ยวแดงชอบบินอยู่ตัวเดียวหรือ เป็นคู่หรือเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เมื่อพบอาหารมันจะบินเป็นวงกลม พร้อมกับบินดิ่งควงลงมา โฉบอาหารนั้นขึ้นไปกินบนต้นไม้สูงซึ่งอยู่ใกล้ ๆ อาหารได้แก่ กบ เขียด งู นก แมลง หนู ลูกเป็ด ลูกไก่ สัตว์เลื้อยคลานเล็ก ๆ เหยี่ยวแดง ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อน ทำรังตามกิ่งไม้ใกล้แหล่งน้ำ วางไข่ครั้งละ 2 - 4 ฟอง ไข่สีขาวไม่มีลวดลายใดๆ ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่นาน 29 - 31 วัน
คลิปจากYOUTUBE