แตงโม ผลไม้ง่ายๆ ได้คุณค่า
แตงโม Citrullus lanatus (Thunb.) Matsum & Nakai เป็นพืชวงศ์แตง Cucurbitaceae ภาคอีสานเรียกบักโม ภาคเหนือเรียกบะเต้า คนตรังเรียกแตงจีน มีชื่อสามัญว่า Watermelon แปลว่า “แตงน้ำ” เพราะในผลแตงโมมีน้ำเป็นส่วนใหญ่
ชาวอียิปต์เป็นชาติแรกที่ปลูกแตงโมไว้กินเมื่อ 4000 ปีมาแล้ว แตงโมมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกาแถบทะเลทรายคาลาฮารี ในทวีปดังกล่าวมีแตงโมขึ้นเองตามธรรมชาติ และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด มีทั้งพันธุ์ที่เนื้อผลมีรสหวาน จืด และรสขม ประเทศจีนปลูกแตงโมคริสต์ศตวรรษที่ 10 และปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่ปลูกแตงโมมากที่สุดในโลก คริสต์ศตวรรษที่ 13 พบบันทึกการนำแตงโมเข้าสู่ทวีปยุโรปโดยผู้รุกรานชาวมัวร์ และถูกนำเข้าสู่ทวีปอเมริกาเหนือโดยทาสผิวดำที่ถูกนำไปใช้แรงงานในไร่ในราว คริสต์ศตวรรษที่ 15
แตงโมเป็นไม้เถาอยู่ในวงศ์เดียวกับแตงกวา ลำต้นเป็นเถาเลื้อยแผ่ไปตามพื้นดิน ใบมีลักษณะเว้าลึก 3-4 หยัก ก้านใบยาว ทั้งเถาและใบมีขนอ่อนปกคลุม ผลพัฒนาจากรังไข่ ผลแตงโมมีทั้งแบบกลม กลมรี และทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางผล 15-20 เซนติเมตร เปลือกแข็ง สีเขียว สีเขียวเข้ม และสีเหลือง บ้างก็มีลวดลายสีขาวเป็นแถบยาวจากขั้วถึงปลายผล รสชาติของเนื้อผลคือฉ่ำน้ำและหวานกรอบ ในเนื้อมีเมล็ดสีดำขนาดเล็กแทรกอยู่บริเวณใจกลางผล
แตงโมมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกาแถบทะเลทรายคาลาฮารี ในทวีปดังกล่าวมีแตงโมขึ้นเองตามธรรมชาติ และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด มีทั้งพันธุ์ที่เนื้อผลมีรสหวาน จืด และรสขม
ผลแตงโมมีทั้งแบบกลม กลมรี และทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางผล ๑๕-๒๐ เซนติเมตร เปลือกแข็ง สีเขียว สีเขียวเข้ม และสีเหลือง บ้างก็มีลวดลายสีขาวเป็นแถบยาวจากขั้วถึงปลายผล รสชาติของเนื้อผลคือฉ่ำน้ำและหวานกรอบ ในเนื้อมีเมล็ดสีดำขนาดเล็กแทรกอยู่บริเวณใจกลางผล
แตงโมที่มีการปลูกในปัจจุบันแบ่งออกได้เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆ ตามลักษณะของผลและเมล็ด ได้แก่ พันธุ์ธรรมดา พันธุ์ไม่มีเมล็ด และพันธุ์กินเมล็ดที่นำไปผลิตเป็นเม็ดก๊วยจี๊นั่นเอง
คุณค่าทางโภชนาการ
แตงโม เนื้อผล (กินได้) คุณค่าทางโภชนาการต่อ ๑๐๐ กรัม
พลังงาน ๓๐ กิโลแคลอรี
คาร์โบไฮเดรต ๗.๕๕ กรัม
น้ำตาล ๖.๒๐ กรัม
เส้นใยอาหาร ๐.๔๐ กรัม
ไขมัน ๐.๑๕ กรัม
โปรตีน ๐.๖๑ กรัม
น้ำ ๙๑.๔๕ กรัม
วิตามินเอ (เทียบเท่า) ๒๘ μg (๓%)
วิตามินบี ๑ (ไทอะมีน) ๐.๐๓๓ มิลลิกรัม (๓%)
วิตามินบี ๒ (ไรโบฟลาวิน) ๐.๐๒๑ มิลลิกรัม (๑%)
วิตามินบี ๓ (ไนอะซิน) ๐.๑๗๘ มิลลิกรัม (๑%)
วิตามินบี ๕ (กรดแพนโทเทนิก) ๐.๒๒๑ มิลลิกรัม (๔%)
วิตามินบี ๖ ๐.๐๔๕ มิลลิกรัม (๓%)
วิตามินบี ๙ (โฟเลต) ๓ μg (๑%)
วิตามินซี ๘.๑๐ มิลลิกรัม (๑๔%)
แคลเซียม ๗ มิลลิกรัม (๑%)
เหล็ก ๐.๒๔ มิลลิกรัม (๒%)
แมกนีเซียม ๑๐ มิลลิกรัม (๓%)
ฟอสฟอรัส ๑๑ มิลลิกรัม (๒%)
โพแทสเซียม ๑๑๒ มิลลิกรัม (๒%)
สังกะสี ๐.๑๐ มิลลิกรัม (๑%)
ร้อยละเมื่อเทียบกับปริมาณแนะนำของสหรัฐอเมริกาที่ผู้ใหญ่ควรกินใน ๑ วัน
แหล่งข้อมูล : USDA Nutrient database
แตงโมเป็นผลไม้ที่มีพลังงานต่ำ แตงโมมีน้ำตาลทั้งหมดร้อยละ ๖.๘๑-๙.๓๖ โดยมีน้ำตาลฟรักโทสร้อยละ ๓-๔ น้ำตาลกลูโคสร้อยละ ๑-๓ และน้ำตาลซูโคสร้อยละ ๒-๕ เมื่อกินแตงโมจะได้น้ำถึงร้อยละ ๙๒ มีวิตามินซี บีตาแคโรทีน ไลโคพีน และแร่ธาตุอื่น
ทั่วโลกกินเนื้อแตงโมเป็นผลไม้ มีฤทธิ์ขับปัสสาวะอย่างอ่อน แต่ในประเทศไทยพบการกินแตงโมเป็นผักในอาหารมื้อหลักด้วย
ในอดีตคุณยายของผู้เขียนจะกินปลาแห้งแตงโมกับข้าวสวย เป็นปลาช่อนแห้งผัดหอมเจียวเคล้าน้ำตาลขลุกขลิก ตักข้าว ๑ ช้อนโรยผัดปลาแห้ง แกล้มแตงโมแดงเข้มเต็มคำ เมื่อเคี้ยวมีน้ำแตงโมเคล้าข้าวปลาแห้งหวานหอม...
ไม่ลองไม่รู้ค่ะสุดยอดคนโบราณสรรหามากินจริงๆ ไม่ทราบคิดได้อย่างไร เสียดายปัจจุบันแทบไม่เห็นอาหารนี้แล้ว อยากกินแต่ทำไม่เป็น...
นับเป็นอาหารผู้สูงอายุที่ชาญฉลาดเพราะน้ำแตงโมมีคุณสมบัติเพิ่มความอยากอาหาร เมนูนี้เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย ปลาแห้งผัดเก็บได้นานไม่ต้องอาศัยตู้เย็น และได้โปรตีนจากเนื้อปลาแห้งอีกด้วย
เปลือกผลกินได้ มีธาตุอาหารซ่อนไว้มากแต่ในทวีปอเมริกาเหนือไม่มีวัฒนธรรมการกินเปลือกแตงโม ที่ไม่กินเพราะเปลือกแตงโมปราศจากรสชาติ
ในประเทศไทยมีการปอกผิวเปลือกแตงโมสีเขียวเข้มออก เอาเปลือกด้านในมาประกอบอาหารกับเครืองปรุงมีรส เช่น แกงส้ม
บางประเทศกินเป็นผัก แต่ที่จีนนำเปลือกแตงโมที่ฝานผิวนอกออกแล้วมาปรุงเป็นผัดผักกับกระเทียม พริก ต้นหอม น้ำตาลและเหล้าขาว ต้มพะโล้ หรือดองเก็บไว้กิน เปลือกแตงโมดองนี้มีกินกันในหมู่ชนหลายวัฒนธรรม เช่น รัสเซีย โรมาเนีย บัลแกเรีย ยูเครน และตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาบางแห่ง
น้ำแตงโมมีการดื่มกันมากในประเทศแถบคาบสมุทรบอลข่าน บ้างนำน้ำแตงโมมาหมักเป็นไวน์
ทางเหนือของประเทศไทยนำน้ำแตงโมมาผลิตเป็นขนมขบเคี้ยวเรียกข้าวแต๋นน้ำแตงโม
เมล็ดแตงโมตากแห้งคั่วกินได้ เท่าที่ทราบมีกินในจีน เวียดนาม และไทย
ความรู้อายุรเวทจากอินเดียกล่าวว่า เนื้อแตงโมเสริมธาตุไฟและธาตุน้ำ มีคุณสมบัติช่วยเจริญอาหาร เพิ่มกากอาหารเพื่อการขับถ่ายที่ดี แก้อาการกระหายน้ำ ลดไข้และระบายความร้อนในร่างกาย บำรุงไตและม้าม มีฤทธิ์ขับปัสสาวะอย่างอ่อนลดการเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
ส่วนการแพทย์แผนจีนใช้เปลือกแตงโมและเปลือกฟักเขียวอย่างละ ๓๐ กรัม ต้มน้ำดื่มวันละ ๓ ครั้งในการควบคุมอาการผู้ป่วยเบาหวาน
แตงโมมีกรดอะมิโนซิทรูลีน พบมากในส่วนที่เป็นเปลือก กรดอะมิโนนี้กระตุ้นการสร้างไนตริกออกไซด์ผ่านการแปรสภาพเป็นกรดอะมิโนอาร์จีนีน สารไนตริกออกไซด์ช่วยเสริมการทำงานของเซลล์เอนโดทีเลี่ยมที่บุหลอดเลือด มีฤทธิ์ช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดอ่อนนิ่ม คล้ายกับฤทธิ์ของยาไวอากร้า
งานวิจัยจากเยอรมนีพบว่า การกินกรดอะมิโนซิทรูลีนดีกว่าการกินกรดอะมิโนอาร์จีนีนเพราะไปแปรสภาพเป็นกรดอะมิโนอาร์จีนีนหลังการดูดซึม จึงไปเพิ่มปริมาณไนตริกออกไซด์ได้โดยตรงโดยไม่มีการสูญเสียไปโดยการขับออกของเอนไซม์อาร์จีเนสในลำไส้เล็ก
ดังนั้น การกินแตงโมและเปลือกแตงโมมีส่วนช่วยสุขภาพทางเพศในเพศชาย บ้างเชื่อว่าเปลือกแตงโมกระตุ้นกำหนัดได้ด้วย
เมล็ดแตงโมมีโปรตีนสูง ช่วยบำรุงร่างกาย ปอด สมอง แต่ควรจำกัดปริมาณการกินถ้าเมล็ดแตงโมมีความเค็มสูง
แตงโมเป็นผลไม้พลังงานต่ำ คุณค่าสูง ราคาประหยัดที่หากินได้ทั้งปี ลองกินเนื้อแตงโมและนำเปลือกมาประกอบอาหารดูบ้างเพื่อสุขภาพของหลอดเลือดของท่าน