สูตรไม่ลับ! เมื่อคนเมืองอยากปลูกผัก (กินเอง)
ใช่ว่าคนเมือง ที่พักอาศัยอยู่บ้านทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม หรือห้องเช่าเล็กๆ จะปลูกผักกินเองไม่ได้เสียเมื่อไหร่ แต่กลับเป็นเรื่องที่ง่ายมากต่างหาก แค่ใช้สูตร “ก่อน 10 หลัง 10 ทุกวัน” และเน้นความใส่ใจอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็จะมีผักปลอดสารพิษไว้รับประทานเอง ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดการใช้พลังงาน ที่สำคัญหมดห่วงเรื่องสารเคมีตกค้างที่มากับผัก
แต่หากมีใครพูดชักชวนขึ้นว่า “มาปลูกผักกินเองกันเถอะ” สำหรับคนเมืองอย่างเราๆ ภาพแรกที่นึกขึ้นมาในหัว ก็คือ “ความยุ่งยาก” และก็คงจะมีข้ออ้างตามมาอีกร้อยแปดประการ เราจึงหยิบเรื่องน่ารู้และน่ารักเกี่ยวกับการปลูกผักฉบับคนเมือง โดย พี่ชูเกียรติ-ชูเกียรติ โกแมน ผู้เชี่ยวชาญจากโครงการสวนผักคนเมือง มาฝากกัน เพื่อเป็นความรู้และคำแนะนำ รวมถึงเพื่อทำความเข้าใจว่าการปลูกผักกินเองนั้นให้ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่หลายคนคิด
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจ “ทำไมถึงต้องปลูกผักกินเอง?”
พี่ชูเกียรติ เล่าว่า คนเมืองมีบทเรียนที่ต้องเรียนรู้และหาทางออก อยู่ 3 ข้อคือ 1.ค่าครองชีพสูง 2.ความไม่ปลอดภัยของอาหารจากสารเคมีตกค้าง และ 3.ความไม่มั่นคงทางอาหาร ซึ่งคนเมืองมักจะเข้าใจผิดว่าสามารถกินอาหารดีๆ แพงๆ จากทั่วทุกมุมโลกได้ แต่ถ้าวันใดเกิดวิกฤติทางอาหารขึ้นมา วันนั้นคนเมืองจะไม่มีอะไรให้กินเลยถึงแม้จะมีเงินมากมายแค่ไหนก็ตาม ต่างจากคนในชนบทที่มีทรัพยากรทางอาหารที่หาได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้เงิน จึงเป็นที่มาของแนวคิด “ปลูกผักกินเอง” เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการหาทางออกและรับมือกับบทเรียนที่เกิดขึ้น
ปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ “ปลูกผักกินเองยากจริงหรือ?”
สิ่งที่ยากที่สุดของคนเมืองคือ “การเริ่มต้นลงมือทำ”ขั้น ตอนในการปลูกผักกินเองนั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด และไม่จำเป็นต้องมีความรู้ถึงขั้นเชี่ยวชาญ แค่ใช้สัญชาตญาณกับความรู้พื้นฐาน หากทำไปแล้วเกิดปัญหาก็สามารถหาข้อมูลหรือแนวทางในการแก้ไขได้ ซึ่งปัจจุบันมีช่องทางมากมายให้เราค้นคว้า
การปลูกผักมีสูตรไม่ลับที่ทุกคนทำได้ คือ “ก่อน 10 หลัง 10 ทุกวัน” และเน้นความใส่ใจอย่างสม่ำเสมอ หมาย ถึง ก่อนที่จะออกไปทำงานและหลังจากกลับจากทำงานให้แวะมารดน้ำผัก ใช้เวลากับพืชผักช่วงละ 10 นาที ทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน คอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดูว่ามีหนอนหรือแมลงมารบกวนรึเปล่า ในวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และอย่าลืมดูว่าถูกแดดร้อนจัดเกินไปรึเปล่า ซึ่งแก้ไขด้วยการย้ายที่ตั้งภาชนะหรือใช้ตาข่ายกรองแสง 60 % เป็นตัวช่วย
ไม่ต้องห่วงเรื่องพื้นที่จำกัด เพราะผักสวนครัวส่วนใหญ่ปลูกได้ในทุกภาชนะที่มีรูระบายน้ำ เช่น ถ้วย กะละมัง ขวดพาสติก โดยนำมาเจาะรูเล็กๆ เพื่อระบายน้ำป้องกันไม่ให้ดินได้รับน้ำจนเกินความจำเป็น ดังนั้นแค่ใช้พื้นที่ริมระเบียงหอพัก หรือหน้ากระจกในห้องน้ำ ก็สามารถปลูกได้
เชื่อไหมว่า “ปลูกผักกินเองเกิดมิติของความน่ารักในสังคมคนเมืองด้วย?”
“การปลูกผักกินเอง นอกจากจะได้ประโยชน์แก่ตัวผู้ปลูกเองแล้วนั้น ยังเกิด “มิติของความน่ารัก” ใน แง่ของการแบ่งปันน้ำใจที่มักจะไม่ค่อยเห็นในสังคมเมืองทั่วไป อย่างเช่น ในสังคมหมู่บ้านเล็กๆ ซึ่งประกอบด้วยครอบครัวที่พักอาศัยใช้วิถีชีวิตแบบปลูกผักกินเองในบ้าน และครอบครัวที่ใช้วิถีชีวิตแบบคนเมืองทั่วไปคือกินเหลือแล้วทิ้ง บ้านที่ปลูกผักกินเองก็จะไปเก็บขยะจากบ้านที่ไม่ได้ปลูกผัก เพื่อเอามาใช้ในเป็นวัตถุดิบในการปลูกผัก เมื่อมีผักเหลือเฟือก็เอาผักไปแลกกับขยะจากเพื่อนบ้าน เกิดความสัมพันธ์เป็นมิตรไมตรีที่ดี เกิดการพูดคุยแบ่งปันเรื่องราวดีๆ แก่กัน รอยยิ้มก็จะมีมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าถ้าเป็นเช่นนี้ได้ คนในสังคมเมืองก็จะรักกันมากขึ้น สังคมก็จะน่าอยู่ตามไปด้วย” พี่ชูเกียรติ เล่าให้ฟังพร้อมกับรอยยิ้ม
กระแส “สวนผักคนเมือง” เป็น อีกหนึ่งกระแสที่กำลังฮิตติดลมบนอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มของคนรักสุขภาพ ซึ่งนับเป็นเรื่องดีอย่างยิ่งที่คนเมืองมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหันมาพึ่ง พาตัวเอง เพื่อความปลอดภัยทางอาหารและความยั่งยืนในอนาคต อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาวิกฤติต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น และเชื่อมั่นว่าหากทุกคนร่วมมือกัน สิ่งเล็กๆ ที่ทำในวันนี้ จะกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่จะช่วยให้เราทุกคนอยู่รอด
หากต้องการทราบข้อมูลการปลูกผักเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.thaicityfarm.com
เรื่องโดย : ฐาปน คำทา Team Content www.thaihealth.or.th