ทำไมคนไทยเรียก Kangaroo ว่าจิงโจ้
สวัสดีครับเพื่อนๆ เนื่องจากบทความที่แล้วเรื่อง ชีวิตมหัศจรรย์ จิงโจ้ไม่มีสะดือ ที่โพสท์ไปเมื่อสองวันก่อน มีเพื่อนสมาชิกชื่อ LaDy Galadriel สงสัยว่า ทำไมคนไทยถึงเรียกจิงโจ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยไม่มีสัตว์พวกนี้อยู่ ผมก็เลยอาสาหาข้อมูลมาฝากเพื่อนๆ ให้หายข้องใจกันครับว่าเพราะอะไร
คำว่า "จิงโจ้" เป็นคำไทยหรือคำต่างประเทศกันแน่? ในความเป็นจริงแล้ว คำว่า "จิงโจ้" นั้นถือได้ว่าเป็นคำไทยแท้ หาได้เป็นคำที่ถูกคิดขึ้นเพื่อใช้เรียกสัตว์ต่างประเทศอย่าง "Kangaroo" อย่างที่คนส่วนใหญ่คิดแต่อย่างใดไม่ กล่าวคือ ตามข้อเท็จจริงแล้วคำว่า "จิงโจ้" นั้นมีการคิดและใช้มาก่อนการใช้เรียกสัตว์ต่างประเทศข้างต้นเสียอีก ดังจะเห็นได้จากการที่คนไทยมีการเรียกแมลงชนิดหนึ่งว่า "จิงโจ้น้ำ" นั่นเอง ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากคำว่า "จิงโจ้" ในภาษาไทยหมายถึง แมลงตัวลีบ ขาหน้าสั้น ขาสองคู่หลังยาว เดินยงโย่ยงหยกอยู่ในน้ำ ดังนั้น จึงได้ถูกนำไปใช้เพื่อใช้เรียกสัตว์ต่างประเทศที่พบมากในประเทศออสเตรเลียอย่าง "Kangaroo" ในเวลาต่อมา
แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น หลายท่านรู้ไหมว่า คำว่า "จิงโจ้" นั้น คือ สัตว์ในวรรณคดีชนิดหนึ่งในป่าหิมพานต์คล้ายๆ นกกินรี มาถึงตรงนี้คงทำให้ใครหลายคนประหลาดใจพอสมควร เพราะ "จิงโจ้" เป็นนกชนิดหนึ่งที่มีศีรษะเป็นมนุษย์ มีปีกและขาเป็นนก โดยต่างกับนกกินรีที่มีกายท่อนบนบนเป็นมนุษย์และกายท่อนล่างเป็นนก ใครอยากเห็นภาพของจิงโจ้ก็สามารถที่จะดูได้จากภาพไทยตามผนังของวัดวาอารามต่างๆ ได้
ในภาพเป็นจิงโจที่มีศีรษะเป็นมนุษย์และมีปีกและขาเป็นนก
คำว่า "จิงโจ้" มีการหยิบยกมาใช้มากมาย ไม่เว้นกระทั่งท่านหลวงวิจิตรวาทการที่ได้ประพันธ์บทเพลง "จิงโจ้โล้สำเภา" ซึ่งในปัจจุบันก็เป็นบทอาขยานเพื่อให้เด็กประถมได้ท่องจำกัน ผู้ใดอยากเห็นภาพ "จิงโจ้โล้สำเภา" ก็สามารถไปชมได้ที่วัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ซึ่งเป็นภาพจิตรกรรมที่ถูกวาดขึ้นตามจินตนาการจากการพรรณาของบทประพันธ์ของหลวงวิจิตรวาทการข้างต้นนั่นเอง
มีเรื่องราวของเพลงกล่อมเด็กเรื่อง "จิงโจ้โล้สำเภา" ที่ยังสืบทอดมาถึงในปัจจุบัน
จิงเอ๋ยจิงโจ้ มาโล้สำเภา
หมาไนไล่เห่า จิงโจ้ตกน้ำ
หมาไนไล่ซ้ำ จิงโจ้ดำหนี
เอากล้วยสองหวี รับขวัญจิงโจ้.
ต่อมาเมื่อมีคนนำตัวแกงการูมาจากประเทศออสเตรเลีย เห็นว่าประหลาด เพราะขาคู่หน้าสั้นกว่าขาคู่หลัง และมีกระเป๋าหน้าท้อง การเดินก็กระโดดหยอง ๆ เหมือนแมลง “จิงโจ้” ก็เลยเรียกแกงการูว่า “จิงโจ้” ตามแมลงตั้งแต่นั้นมาครับ
อนึ่ง คำว่า "จิงโจ้" ยังถูกนำมาใช้ในงานประพันธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๔ อีกด้วย กล่าวคือ พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์โคลงดั้นเรื่อง "โสกันต์" โดยได้มีการกล่าวถึงทหารประเภทหนึ่งที่เรียกว่า "ทหารจิงโจ้" จนกระทั่งรัชสมัยต่อมา พระบาทสมเด้จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงเรียกทหารหญิงว่า "ทหารจิงโจ้" โดยมีคำสั่งต่อทหารหญิงดังกล่าวที่น่าสนใจ ต่างๆ นาๆ อาทิ คำสั่งให้ทหารหญิงที่ถืออาวุธอยู่ทำความเคารพนั้นจะใช้คำว่า "จิงโจ้กัด" แทนคำว่า "วันทยาวุธ" เป็นต้น
และนี่คือที่มาของคำว่าจิงโจ้ที่มีใช้อยู่มาช้านานในบ้านเรา ก็ต้องขอบคุณน้อง LaDy Galadriel ที่สงสัยนะครับ ทำให้ผมได้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกไม่น้อยเลย ทั้งที่เคยได้ยินเพลงกล่อมเด็กมาตั้งแต่เล็กๆ ก็ไม่ได้เฉลียวใจ มาวันนี้ก็เลยหายข้องใจทั้งผู้เขียนและผู้อ่านกันไป หากมีเรื่องราวดีๆ ก็จำนำมาฝากกัน แล้วพบกันใหม่ครับ...mata
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
ขอบคุณภาพจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=140033
ขอบคุณแหล่งที่มา