อีสำเพ็ง ใครกันที่ถูกเรียก?
สำเพ็งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวจีนมาแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งชาวจีนส่วนใหญ่นิยมทำการค้าขายเป็นอาชีพหลักแล้วยังเป็นย่านของโสเภณีด้วย ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่าโรงหญิงนครโสเภณี (มีมาตั้งแต่สมัยอยูธยาตามบันทึก) ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีทั่วไปแทบทุกตรอกซอกซอย แต่ที่มีนักเที่ยวไปใช้บริการกันคับคั่งคือที่ ตรอกเต๊า โรงยายแฟง โรงแม่กลีบ โรงแม่เต้า ยายแฟงเป็นแม่เล้าใจบุญ ได้นำเงินไปสร้างวัดใหม่ขึ้นวัดหนึ่งที่ตรอกวัดโคก ชาวบ้านเรียก วัดใหม่ยายแฟง หรือ วัดคณิกาผล ส่วนแม่กลีบได้สร้างวัดที่ปากตรอกเต๊า เรียก วัดกันมาตุยาราม
ภาพสำเพ็งในอดีต
คำว่า "สำเพ็ง" บางครั้งก็จะอ่านเป็นเสียงยาวว่า "สามแพร่ง" ซึ่งเป็นความหมายเดียวกัน ขึ้นอยู่กับคนพูดว่าถนัดแบบไหนมากกว่า ในบริเวณนั้นมีวัดซึ่งมีชื่อเกี่ยวกับ "สาม" ทั้งนั้น เช่น วัดสามจีน (วัดไตรมิตร) วัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิ) และวัดสามเพ็ง สมัยก่อนคนเชียงใหม่จะมาหาโสเภณีจากสำเพ็ง ไปหากินทางเชียงใหม่ คนเมืองเหนือจึงเรียกหญิงโสเภณีเหล่านี้ ว่า "คนสำเพ็ง" หรือ "อีสำเพ็ง" ซึ่งก็หมายถึงผู้หญิงขายประเวณี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหญิงกวางตุ้ง
ด้วยเหตุนี้จึงมีคำด่าหญิงโสเภณีหรือหญิงที่ประพฤติตัวไม่ดีว่า “อีสำเพ็ง” ส่วนคนจีนจะเรียกหญิงโสเภณีที่เป็นคนจีนว่า “หยำฉ่า” คำเรียกนี้ แม้ปัจจุบันจะได้พัฒนามาใช้คำอื่นแทนแล้วก็ตาม เช่น ออหรี่ ช็อกการี อีตัว ผู้หญิงหาเงิน ผู้หญิงขายตัว ผู้หญิงอาชีพพิเศษ คุณโส ฯลฯ แล้วแต่จะสารพัดสรรกันมาเรียก แต่คำว่าหญิงหยำฉ่า หรือแม่สำเพ็งก็ยังเป็นที่รับรู้ในความหมายของคนยุคนี้เป็นอันดี
ท้ายนี้ขอยืนยันว่ามิได้มีเจตนาดูถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีของหญิงสาวในอดีตเหล่านั้น เป็นเพียงผู้เผยแพร่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์บางส่วนเท่านั้น ด้วยความเคารพmata
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
ขอบคุณภาพจาก http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5464.0
ขอบคุณข้อมูล จรูญ วรรธนะสิน