ชะตากรรมของหงสาวดี หลังศึกยุทธหัตถี
ความต่อจากเรื่อง "ศึกยุทธหัตถี ในพงศาวดารพม่า ที่น่าอ่าน" เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ช่วงนี้ จึงขออนุญาตเพื่อนๆ ได้มาทำความรู้จักกับเรื่องราวต่อจาก ศึกยุทธหัตถี ว่าส่งผลกระทบต่อประวัติศาสตร์หงสาวดีเพียงใด
หลังจากสมเด็จมหาอุปราชามังกะยอชวา ยกทัพมาทำศึกกับพระนเรศ (พระนเรศวร ชาวพม่าเรียกเช่นนั้น และก็น่าจะถูกต้องด้วย ลองอ่าน สมเด็จพระนเรศวรฯ ชื่อที่ถูกต้องจริงๆ คือสมเด็จพระนเรศ ดูนะครับ)แห่งอโยธยาและทรงพ่ายแพ้จนสิ้นพระชนม์ชีพในการทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศ อำนาจของหงสาวดีก็เริ่มเสื่อมถอยลง เนื่องจากเหล่าประเทศราชทั้งหลายแลเห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า บัดนี้ ดุลอำนาจแห่งดินแดนแหลมทองได้เปลี่ยนขั้วจากหงสาวดีไปสู่อโยธยาแล้ว
หลังจากสมเด็จพระนเรศหรือพระนเรศวร ทรงชนะศึกยุทธหัตถีในปี พ.ศ. 2135 พระเจ้านันทบุเรง ทรงเสียพระทัยกับการสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชามังกะยอชวาเป็นอันมาก และด้วยเหตุนี้ จึงยังมิได้ทรงแต่งตั้งพระโอรสองค์ใดองค์หนึ่งที่เหลือขึ้นเป็นพระมหาอุปราชาพระองค์ใหม่
ครั้นต่อจากนั้นไม่ถึงปี หงสาวดีก็ต้องเสียทวายและตะนาวศรีให้กับอโยธยา ครั้นถึงปี พ.ศ. 2137 หัวเมืองมอญภาคใต้คือเมืองเมาะลำเลิงก่อกบฏ หงสาวดีให้ทัพตองอูไปปราบ ทางพญาพะโรเจ้าเมืองเมาะลำเลิงจึงขอให้อโยธยาช่วย พระนเรศจึงทรงโปรดให้พระยาศรีไสลคุมทัพไปช่วยเมาะลำเลิง ทัพผสมอโยธยารามัญช่วยกันตึทัพตองอูแตกพ่าย จากนั้นหัวเมืองมอญภาคใต้ก็ย้ายข้างมาสวามิภักดิ์ต่ออยโธยา
เมื่อได้หัวเมืองมอญแล้ว พระนเรศจึงทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะยกทัพมาตีหงสาวดีบ้าง พระองค์ได้เสด็จยกกองทัพหลวงไปตีเมืองหงสาวดี ในปี พ.ศ. 2138 ด้วยกำลังพล 120,000 คน โดยรวบรวมกองทัพมอญเข้ามาสมทบ จากนั้น ได้เสด็จยกทัพไปล้อมเมืองหงสาวดีไว้ ทัพอโยธยาล้อมเมืองอยู่ 3 เดือน และได้เข้าปล้นเมืองครั้งหนึ่ง แต่เข้าเมืองไม่ได้
ครั้นเมื่อสมเด็จพระนเรศทรงทราบว่าพระเจ้าแปร พระเจ้าอังวะ พระเจ้าตองอู ได้ยกกองทัพลงมาช่วยพระเจ้าหงสาวดีถึงสามเมือง ทรงเห็นว่าข้าศึกมีกำลังมากนัก จึงทรงให้เลิกทัพกลับ เมื่อวันสงกรานต์ เดือน 5 ปี พ.ศ. 2139 และได้กวาดต้อนครอบครัวในเขตมณฑลหงสาวดี มาเป็นเชลยเป็นอันมาก โดยกองทัพข้าศึกมิได้ยกติดตามมารบกวนแต่อย่างใด
แม้ครั้งนี้ อโธยาจะตีหงสาวดีไม่ได้ แต่ก็ได้สร้างความแตกแยกครั้งใหญ่ให้เหิดขึ้น กล่าวคือ ในสงครามครั้งนี้ พระเจ้าอังวะ ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ที่สามของพระเจ้านันทบุเรง กับ พระสังกะทัต กษัตริย์ตองอู ผู้เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้านันทบุเรงได้ยกทัพมาถึงก่อนพระเจ้าแปร ซึ่งเป็นโอรสองค์รองของพระเจ้านันทบุเรง จึงทำให้พระเจ้านันทบุเรงไม่พอพระทัยพระเจ้าแปรที่ยกทัพมาล่าช้า ประกอบกับพระสังกะทัตกราบทูลยุยง พระองค์จึงทรงแต่งตั้งพระเจ้าอังวะเป็นพระมหาอุปราชาพระองค์ใหม่ ทำให้พระเจ้าแปรที่กำลังเสด็จนำทัพมา ไม่พอพระทัยเป็นอันมากด้วยทรงหวังจะได้ตำแหน่งนี้อยู่
โดยนอกจากจะทรงโกรธพระราชบิดาแล้ว พระเจ้าแปรยังโกรธพระสังกะทัตที่ไปสนับสนุนพระเจ้าอังวะซึ่งอ่อนอาวุโสกว่าพระองค์ด้วย พระเจ้าแปรจึงให้เบนเข็มนำทัพเข้าตีเมืองตองอูเพื่อแก้แค้นพระสังกะทัต ทว่าชาวตองอูป้องกันเมืองเข้มแข็ง ทัพแปรจึงตีเมืองไม่ได้ พระเจ้าแปรจึงยกทัพกลับและประกาศตนตั้งแข็งเมืองต่อหงสาวดี
ขณะเดียวทางเชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่มังนรธาสอกำลังมีปัญหากับล้านช้างที่เพิ่งตั้งตนเป็นเอกราชและทรงเห็นว่าหงสาวดีไม่อาจเป็นที่พึ่งต่อพระองค์ได้อีก จึงส่งราชทูตนำบรรณาการมาขอถวายสมเด็จพระนเรศและขอยอมเป็นเมืองประเทศราชอโยธยา ทำให้หงสาวดีต้องเข้าสู่ความแตกแยก โดยที่พระเจ้านันทบุเรงก็ทรงมิอาจแก้ไขอันใดได้
ต่อมาไม่นาน สมเด็จพระนเรศได้ทรงจัดทัพเพื่อเตรียมยกมาตีหงสาวดีอีกครั้ง ในคราวนี้ พระสังกะทัต กษัตริย์ตองอูทรงวางแผนการคิดเป็นใหญ่ โดยทางหนึ่งก็ทำทีเป็นขอสวามิภักดิ์อโยธยา ขณะเดียวกันก็แอบร่วมมือกับพระเจ้ายะข่ายทำกลลวงพระเจ้านันทบุเรงว่า ตองอูและยะข่ายจะยกมาช่วยป้องกันเมืองจากอโยธยา และได้สมคบคิดกับพระมหาอุปราชาพระองค์ใหม่เข้ายึดอำนาจในหงสาวดี กุมตัวพระเจ้านันทุบเรงไว้
จากนั้น พระสังกะทัตก็ลอบปลงพระชนม์พระมหาอุปราชาเสีย และให้นำพระเจ้านันทบุเรงไปไว้ยังเมืองตองอูส่วนหงสาวดีนั้น ถูกทัพยะข่ายเผาจนสิ้นซาก
ครั้นเมื่อ สมเด็จพระนเรศได้ยกทัพมาตีหงสาวดีและทรงทราบความทั้งหมด ก็ทรงพิโรธที่พระเจ้าตองอูใช้กลอุบายเช่นนี้ จึงทรงนำทัพไปล้อมตองอูไว้ใน ปีพ.ศ. 2142 ทัพอโยธยาล้อมเมืองนานถึงสองเดือนจนเสบียงขาดแคลนก็ไม่อาจตีเมืองได้ จึงต้องถอยทัพกลับมา
หลังจากอโยธยาถอยทัพกลับไป บรรดาหัวเมืองมอญที่ยังภักดีต่อพระเจ้านันทบุเรงคิดเห็นว่า พระเจ้าตองอูคิดไม่ซื่อควบคุมพระเจ้านันทบุเรงไว้ จึงชวนกันระดมทัพมาตีตองอู พระสังกะทัตต้องใช้อุบายปลอมราชสาส์นพระเจ้านันทบุเรงว่ากล่าว จนหัวเมืองเหล่านั้นล่าถอยกลับไป
นักสร้าง ราชบุตร พระเจ้าตองอูเห็นว่า พระเจ้านันทบุเรงจะเป็นเหตุชักนำอันตรายมาสู่เมืองตองอู จึงแอบวางยาพิษปลงพระชนม์พระเจ้านันทบุเรงเสีย ฝ่ายพระเจ้าตองอูนั้นแต่เดิมตั้งพระทัยว่าจะใช้พระเจ้านันทบุเรงเป็นหุ่นเชิดเพื่อควบคุมอาณาจักร แต่เมื่อการณ์แปรเปลี่ยนไปเช่นนั้น จึงทรงให้ปล่อยข่าวว่า พระเจ้านันทุบเรงประชวรและสวรรคต โดยก่อนสวรรคตได้ทรงมีพระราชโองการแต่งตั้ง พระเจ้าตองอู สังกะทัต ขึ้นเป็นพระเจ้าหงสาวดีสืบต่อ แต่หามีหัวเมืองใดเชื่อถือไม่
ยามนั้น เจ้านะยองยัน โอรสองค์สุดท้องของบุเรงนองได้ประทับอยู่ที่อังวะ ชาวเมืองเห็นว่าทรงเป็นโอรสของพระเจ้าสิบทิศบุเรงนองและอนุชาของพระเจ้านันทบุเรงจึงพากันนับถือและยกขึ้นเป็นพระเจ้าอังวะองค์ใหม่ ฝ่ายพระสังกะทัตเห็นว่า อังวะกำลังจะเป็นภัยจึงส่งคนถือสาส์นไปขอความร่วมมือกับพระเจ้าแปรให้ช่วยกันปราบอังวะ
พระเจ้าแปรเห็นพ้องด้วยจึงแต่งทัพหมายไปสมทบกับตองอู เพื่อตีอังวะ ทว่าก่อนจะเคลื่อนทัพ ชาวเมืองได้ก่อจลาจลขึ้น พระเจ้าแปรหนีพวกก่อจลาจลจนพลัดตกน้ำและจมน้ำสิ้นพระชนม์ ส่วนพระสังกะทัตเมื่อทราบว่า แปรเกิดความวุ่นวายจึงนำทัพเข้าตีหมายยึดเมือง แต่ไม่สำเร็จจึงถอยทัพกลับ
ในเวลานั้นเอง พระเจ้าอังวะ นะยองยัน ได้หมายพระทับจะสร้างความเป็นปึกแผ่นจึงนำทัพเข้าปราบปรามหัวเมืองไทใหญ่ต่างๆและยกพลเลยมาถึงแสนหวีเมืองขึ้นของอโยธยา จนทำให้สมเด็จพระนเรศต้องยกทัพไปตีอังวะในปี พ.ศ.2148 ทว่าเมื่อทัพอโยธยาไปถึงเมืองห้างหลวง สมเด็จพระนเรศก็ทรงประชวรและสวรรคตที่นั่น ทำให้อโยธยาต้องยกทัพกลับ ส่วนพระเจ้านะยองยันก็สวรรคตในปีเดียวกันนั้น
ส่วนพระสังกะทัพ พระเจ้าตองอูนั้นต่อมาได้ขอสวามิภักดิ์ต่อพระเอกาทศรถ ทว่าภายหลังได้ถูกพระเจ้าอังวะพระองค์ใหม่ โอรสของพระเจ้านะยองยันยกทัพมาปราบปราม โดยทัพอังวะได้ตีเมืองตองอูแตกและจับพระสังกะทัตประหารชีวิตเสีย
ก็เหมือนเช่นเคยครับ ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่นำเสนอมานี้ก็เพื่อเป็นการเรียนรู้ มิได้มีเจตนาในทางอื่นใด แต่ด้วยใจที่เคารพ สำหรับเพื่อนๆ ที่มีความคิดเห็นอื่น หรือมีส่วนใดส่วนหนึ่งที่อยากเสริม ก็ขอให้แสดงคอมเม้นท์ด้วยความเคารพนะครับ