ศึกยุทธหัตถี ในพงศาวดารพม่า ที่น่าอ่าน
ถ้าพูดถึงสงครามยุทธหัตถีแล้ว เชื่อว่า ทุกคนคงรู้จักกันดี ว่าเป็นการรบครั้งยิ่งใหญ่บนหลังช้างระหว่าง สมเด็จพระนเรศวรและมหาอุปราชามังกะยอชวา โดยจากพงศาวดารของไทย ได้เล่าไว้ว่า ในศึกครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศวรได้ยกทัพไปตั้งรับทัพหงสาวดีในเขตเมืองสุพรรณบุรี (แต่ก็มีบางหลักฐานที่ชี้ว่า น่าจะอยู่ในเขต จังหวัดกาญจนบุรีมากกว่า) โดยกองทัพหงสาวาดีและอโยธยาได้เข้าปะทะกันจนเกิดความชุลมุน ทำให้ สมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถทรงผัดเข้าไปกลางทัพข้าศึก
เมื่อเห็นว่าทรงตกอยู่กลางวงล้อมศัตรู โดยมีไพร่พลติดตามาเพียงหยิบมือ พระนเรศวรจึงทรงท้าพระมหาอุปราชากระทำยุทธหัตถีกัน จากนั้นทั้งสองพระองค์ก็ได้ต่อสู้กับแบบตัวต่อตัวบนหลังช้าง และ สมเด็จพระนเรศวรทรงได้รับชัยชนะในที่สุด แต่สำหรับเหตุการณ์นี้ ในหนังสือ มหาราชวงศ์พงศาวดารพม่า ฉบับหอแก้วนั้น มีบันทึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้แตกต่างออกไป โดยได้เขียนไว้ดังนี้ (จะขอสรุปแบบสังเขปนะครับ)
ในสงครามครั้งนั้น กองทัพหงสาวดีได้รุกเข้ามาถึงชานพระนครอยุธยา ข้างสมเด็จพระนริศ (พม่าเรียก พระนเรศวรว่า พระนริศ) ก็ได้เสด็จนำกองทัพออกไปรับศึก กองทัพทั้งสองฝ่ายเข้าประจัญหน้ากันและรบพุ่งอย่างดุเดือด ทั้งพลปืนไฟต่างก็โหมระดมยิงเข้าใส่กันอย่างหนาแน่น ในขณะนั้นเอง ช้างของเจ้าเมืองชามะโรเกิดคลั่งจนควาญบังคับไม่อยู่และพุ่งเข้าแทงช้างทรงของพระมหาอุปราชาจนเสียหลัก ซึ่งในชั่วจังหวะดังกล่าวนั้น ได้มีกระสุนปืนจากฝ่ายไทยพุ่งเข้าไปต้ององค์พระมหาอุปราชาจนสิ้นพระชนม์ หากแต่กลางช้างนั้น รีบโดดเข้าประคองพระศพเอาไว้ได้ จึงไม่ฟุบลงไป ข้างพระเจ้าแปร อนุชาของพระมหาอุปราชาที่เป็นรองแม่ทัพ เห็นพระเชษฐาสิ้นพระชนม์แล้วก็ให้หมดกำลังใจที่จะรบต่อ จึงถอยทัพออกจากชานพระนครอยุธยา โดยในเวลานั้น เนื่องจากพระศพของพระมหาอุปราชายังมิได้ฟุบลงกับคอช้าง จึงทำให้ฝ่ายไทยไม่รู้ว่า จอมทัพหงสาวดีสิ้นพระชนม์แล้ว สมเด็จพระนริศจึงมิได้เสด็จนำทัพไล่ตามตี หลังจากนั้นกองทัพหงสาวดีก็ล่าถอยออกจากเขตแดนอโยธยากลับสู่กรุงหงสา จนหมดสิ้น ครับนี่ก็เป็นข้อความที่บันทึกในพงศาวดารพม่า ซึ่งจะเห็นว่า ผิดจากของเราโดยสิ้นเชิง
และที่นำมาลงให้อ่านกัน ก็ไม่ได้มุ่งหมายให้เกิดวิวาทะอะไรนอกจากเพียงเพื่อนำเสนอข้อมูลอีกแง่มุมหนึ่งของมหาสงครามครั้งนี้ให้เป็นความรู้นะครับ