การแต่งรถ ดัดแปลงสภาพรถ เครื่องอุปกรณ์รถยนต์ แบบไหนผิด
ในปัจจุบันมีจำนวนรถยนต์เพิ่มขึ้นมากมาย จนแถบไม่มีป้ายแดงให้ใช้กันช่วงคราวแล้ว และในหลายกลุ่มของคนรักรถ ก็ต้องการปรับแต่งรถยนต์ของตนให้สวยงาม และมีสมรรถนะที่ตอบสนองความต้องการได้อย่างสูงสุด กับอุปกรณ์เสริมและเครื่องมือต่างๆ ที่ออกมาแถบจะพร้อมกับรถรุ่นใหม่กันมากมายเลยทีเดียว จึงควรทราบในเรื่องของกฏหมายว่าเราสามารถ แต่ง, ดัดแปลงสภาพรถ ได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นสภาพภายนอก,สมรรถนะเครื่องยนต์ หรือ อื่นๆ
กฎหมายที่ว่าถึงป้ายทะเบียนรถยนต์
ป้ายทะเบียนที่นำมาตัดต่ออัดกรอบใหม่เป็นป้ายยาว ผิดข้อหาดัดแปลง เปลี่ยนแปลงเอกสารของทางราชการเจ้าหน้าที่มีสิทธิเรียกปรับ ระบุโทษไม่เกิน 2,000 บาท รวมถึงการติดป้ายเอียง แบบแหงนขึ้น – แหงนลง มีวัสดุมาปิดทับ เจ้าหน้าที่อาจฟันธงว่า มองเห็นไม่ชัดเจนก็มีโทษปรับเช่นเดียวกัน
การไม่ติดป้าย หรือวางไว้ที่กระจกหน้ารถ ผิดเช่นกัน ถือว่าไม่ปิดแผ่นป้ายทะเบียนต้องโทษปรับ 500 บาท
ส่วนการติดป้าย ที่ทำขึ้นเอง เช่นทำด้วยกระดาษ หรือใช้การเขียน แต่หมายเลขตรงกับทะเบียนรถ ผิดข้อหา ไม่ใช้เอกสารที่ทางราชการกำหนด โทษปรับ 500 - 1000 บาท
(ปัจจุบัน กฎหมายในข้อนี้ อยู่ระหว่างการร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการดัดแปลง เติม ตัดทอน ปิดทับ แผ่นป้ายทะเบียนรถ และผลิต หรือปลอมซึ่งมุ่งหมายให้เข้าใจว่าเป็นแผ่นป้ายทะเบียนรถ ซึ่งอาจมีโทษปรับตั้งแต่ 5000 -10,000 บาท) (update พ.ย. 2555)
โหลดต่ำ แค่ไหนถึงเรียกว่าผิด
ในพระราชบัญญัติรถยนตร์พ.ศ.2522 ระบุไว้อย่างชัดเจน เรื่องของระดับไฟหน้า กับพื้นถนน ไม่ได้ระบุว่ารถจะเตี้ย โหลดต่ำแค่ไหนถึงจะผิด จึงอาศัย
วัดระยะกึ่งกลางไฟหน้า กับระดับพื้นถนนต้องไม่ต่ำกว่า 40 เซนติเมตร และไฟตัดหมอกต้องไม่ต่ำกว่า 25 เซนติเมตร จากพื้นถนน
แต่ถ้าไฟหน้า หรือไฟตัดหมอกสูงกว่า แต่รถใส่สปอยเลอร์จนเตี้ยต่ำแทบจะลากพื้น เช่นต่ำมากจนต้องตะแคงรถเพื่อข้ามลูกระนาด หรือคอสะพาน แบบนี้จะใช้ดุลพินิจ จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือนายช่างตรวจสภาพกรมขนส่ง ว่าเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง และผู้อื่นหรือไม่ ถ้าพินิจว่าผิด ก็ถือว่าผิด (การพินิจคือ การพิจารณาในแต่ละบุคล)
ยกสูง สูงแค่ไหนถึงเรียกว่าผิด
ในพระราชบัญญัติรถยนตร์ก็ระบุไว้อย่างชัดเจนเช่นกันว่า
ระดับกึ่งกลางไฟหน้ากับพื้นถนนต้องไม่สูงกว่า 135 เซนติเมตร
แต่ถ้าไฟหน้าสูงไม่เกิน แต่รถสูงมาก มีการดัดแปลงสภาพมาก เช่นดัดแปลงเพลา ยกสูงมาก หรือล้อยืนออกมานอกตัวถังมาก ต้องมีวิศวกรรองรับการดัดแปลงสภาพ และต้องแจ้งกับกรมขนส่งทางบกให้เป็นที่เรียบร้อยก่อนถึงใช้งานได้
(ปัจจุบันกฎข้อนี้อยู่ในระหว่างการพิจรณา ในการเปลี่ยนความสูงให้ต่ำลงมา เนื่องจากรถจำำพวก 4WD ที่มีการติดตั้งไฟหน้าแบบซีนอน และดัดแปลงสภาพให้สูงขึ้นจนสร้างอาจสร้างความเดือดร้อน แก่ผู้ใช้ถนนร่วม )
การใส่ล้อยางใหญ่
ในกฎหมายไม่มีการระบุขนาดของล้อ
ดังนั้นจะใส่ล้อใหญ่ขอบ 18 -19-20 หรือจะ 22 ก็ไม่ผิด
แต่ถ้าใส่แล้วยางเกินออกมานอกบังโคลนล้อมากๆข้างละหลายๆนิ้ว เจ้าหน้าที่บอกว่าเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ อาจสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ก็ถือว่าผิดไ้ด้เช่นกัน
ตีโป่งขยายซุ้มล้อ ใส่สปอยเลอร์
การตีโป่งซุ้มล้อหรือที่เรียกกันว่า Wide Body ข้อนี้ในกฎระบุไว้ว่า ส่วนที่ตียื่นต้องมีลักษณะเป็นชิ้นเดียวกับตัวรถ หรือถ้าเป็นวัสดุคนละชนิดกัน ต้องมีการยึดติดอย่างแน่นหนา ถ้าไม่แน่นหนาหรือยื่นออกนอกตัวถังมาก ต้องใช้วิศวกรรับรองการดัดแปลงสภาพ และต้องแจ้งกับกรมขนส่งทางบก โดยระบุความกว้างไวว่า รถยนต์นั่งส่วนบุคล ต้องมีความกว้างของตัวรถไม่เกิน 2.30 เมตร
ฝากระโปรงหน้าสีไม่ตรงกับตัวรถ
สีฝากระโปรงเป็นสีอื่น เพียงชิ้นเดียว ที่ไม่ตรงกับสีตัวรถที่เคยแจ้งจดทะเบียนไ้ว้ ถือว่าผิด ไม่ว่าจะทำสี ติดสติกเกอร์ หรือเปลี่ยนเป็นไฟเบอร์ ต้องเป็นสีเดียวกับรถ (update 2555)
เจ้าหน้าจะพิจารณาตามกฎที่ว่า รถยนต์ที่จดทะเบียนจะมีการระบุสีตัวรถไว้อย่างชัดเจนไม่รวมสีของกันชนรถ โดยสีอื่นต้องมีไม่เกินกึ่งหนึ่งของสีหลักที่จดทะเบียนไว้ ซึ่งเจ้าของรถต้องนำรถเข้าไปแจ้งเปลี่ยนสี ว่าเป็นรถสองสี กับนายทะเบียนกรมขนส่งทางบกเสียก่อน ถ้าไม่แจ้ง ผิดพรบ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 13,มาตรา 60 ต้องโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
กฎข้อนี้ปัจจุบันขนส่ง อนุญาติให้นำรถ ที่มีฝากระโปรงหน้าต่างสี กับตัวรถ เข้าแจ้งเปลี่ยนสีฝากระโปรงหน้า ให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยสามารถใช้สำเนาสมุดคู่มือจดทะ้เบียน หรือสำเนาทะเบียนรถ ไปแจ้งขอแก้ไขรายการ ได้ที่สำนักงานขนส่งทุกสาขา
เปลี่ยนท่อไอเสียใหญ่ เสียงดังแค่ไหนถึงเรียกว่าผิด
ท่อไอเสียจะใหญ่แค่ไหน จะมีกี่ท่อก็ได้ แต่ห้่ามออกข้างตัวรถ ใต้ท้องรถ หรือหน้าเพลาท้าย ต้องออกทางด้านท้ายรถเท่านั้น ฉะนั้นท่อใหญ่จึงไ่ม่ผิด ยกเว้นใหญ่มากแบบน่าเกลียด
ตามกฎหมายจะระบุไว้แค่การวัดเสียงดังที่ปล่อยออกจากปลายท่อตามพระราชบัญญัติรถยนต์ระบุว่า ระดับเสียง ที่ปลายท่อไอเสียด้วยเครื่อง Sound level Meter ผลที่ได้ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล สำหรับรถยนต์ และไม่เกิน 95 เดซิเบล สำหรับรถจักรยานยนต์ (ในการตรวจวัดแบบ O.5 เมตร) สำหรับเครื่องยนต์เบนซิลวัดที่ ¾รอบที่ให้แรงม้าสูงสุด และรอบสูงสุดสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล
ไฟหน้าซีนอน และสีไฟสัญญาณต่างๆ
ปัจจุบันไฟหน้าแบบซีนอน (ปี 2555) ทางกรมขนส่งทางบก ได้ประกาศแล้วว่า เจ้าของรถที่ดัดแปลงโคมไฟหน้ารถเป็น ไฟซีนอน" ที่สว่างจ้าเกินไป นอกจากมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงแล้ว ยังอาจมีความผิดตามกฏหมายต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
แต่ถ้าแสงไม่สว่างมาก แต่ติดตั้งแล้วเมื่อเข้าเครื่องมือทดสอบโคมไฟ ลำแสงต้องมีองศาตกลงจากแนวระนาบ ไม่น้อยกว่า 2 องศาและต้องไม่เบนไปทางขวา
สีของโคมไฟหน้าทางกรมกำหนดไว้เพียง2 สี เท่านั้นคือ สีเหลืองอ่อน และสีขาว ถ้าเป็นสีอื่น เช่นสีฟ้า สีม่วง สีเหลืองเข้มหรือสีเขียว มีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. 2522 มาตรา12 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ส่วนไฟหยุด (ไฟเบรก) ต้องเป็นสีแดง ไฟเลี้ยวต้องเป็นกระพริบ สีเหลืองอำพัน หรือสีแดง ไฟถอยอย่างน้อย 1 ดวง แต่ไม่เกิน 2 ดวงในระนาบเดียวกัน ไฟส่องป้ายต้องเป็นสีขาวมองเห็นป้ายทะเบียนได้ไกลไม่น้อยกว่า 20 เมตร
การเปลี่ยนโคมไฟเป็นสีขาว หรือพ่นโคมเป็นสีดำ จะพิจารณาขณะเปิดไฟเลี้ยว ไฟเบรก ไฟที่แสดงออกมาต้องชัดเจนและเป็นสีที่กำหนด และต้องยังมองเห็นแผ่นสะท้อนแสงจำนวน 2 แผ่น ในระนาบเดียวกัน
แตรหรือสัญญาณเสียง และแตรลม
ตามพรบ.รถยนต์ระบุไว้ว่า รถยนต์ต้องมีแตรสัญญาณ โดยกำหนดให้เป็นเสียงเีดียว ดังพอสมควรจะใส่แตรกี่ตัวก็ได้แต่ต้องเป็นเสียงเดียว เป็นสองเสียงหรือเสีัยงอื่นไม่ได้ (เช่นเสียงอี๊..อ่อ)
ส่วนแตรลม ผิดพรบ.รถยนต์ ห้ามติดตั้งเด็จขาด โทษปรับ 1000-2000 บาท
ไฟสปอร์ทไลท์และโคมไฟตัดหมอก
โคมไฟสปอร์ทไลท์หมายถึงโคมไฟแสงพุ่งไกล แบบกระจายวงกว้าง แบบนี้ห้ามติดโดยเด็จขาดแม้จะมีฝาครอบปิด ผิดพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ส่วนไฟตัดหมอกมีลักษณะเป็นไฟแสงพุ่งต่ำล่าสุดปี พ.ร.บ. 2536 อนุญาตให้รถยนต์ติดไฟสปอร์ตไลท์หรือ ไฟตัดหมอกเพิ่มได้ ข้างละ 1 ดวง (เท่ากับ 2 ดวง)ในระดับแนวเดียวกัน ความสูงจากพื้นถนนไม่ต่ำกว่า 25 เซนติเมตร และไม่สูงกว่า 135 เซนติเมตร ต้องเป็นแสงสีเหลือง หรือสีขาว กำลังไฟไม่เกิน55 วัตต์ ไม่เกินกว่าระดับโคมไฟแสงพุ่งไกลและโคมไฟแสงพุ่งต่ำ ศูนย์รวมแสงต้องต่ำกว่าแนวขนานกับพื้นราบไม่น้อยกว่า 2 องศา หรือ 0.20 เมตร ในระยะ 7.50 เมตร และไม่เฉไปทางขวา
ส่วนการเปิดไฟตัดหมอกนั้นทำได้เมื่อมีอุปสรรค์ในการขับขี่ เช่นมีหมอกควัน หรือฝนตกหนัก มองเห็นสิ่งกีดขวางหรือรถที่สวนทางมาในระยะไม่เกิน 150 เมตร ถ้าติดไม่ถูกต้อง หรือเปิดไฟพร่ำเพื่อมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
รวมถึงการติดไฟนีออนใต้ท้อง หรือกรอบป้ายทะเบียน ก็เป็นสิ่งต้องห้าม ผิดอีกเช่นเดียวกันโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ดัดแปลงเป็นขับเคลื่อน4 ล้อ
ตามสมุดคู่มือการจดทะเบียนจะระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นรถยนต์ประเภทใด ซึ่งจะมีการระบุจำนวนเพลาไว้ด้วย รถยนต์ที่ขับเคลื่อน 2 ล้อ (2เพลา) ถ้ามีการดัดแปลงเป็นระบบขับสี่ล้อต้องแจ้งกับกรมการขนส่งเสียก่อน
ใส่เซพตี้เบลผิดหรือไม่
ตามประกาศกรมขนส่งทางบก พ.ศ. 2540 กำหนดให้ใช้เข็มขัดนิภัยได้ 2 แบบคือ
1.แบบรัดหน้าตักและรั้งพาดไหล่ สำหรับผู้ขับรถ และผู้ที่นั่งตอนหน้าแถวเดียวกับผู้ขับรถที่อยู่ด้านริมสุด
2.แบบรัดหน้าตัก สำหรับผู้ที่นั่งตอนกลางระหว่างผู้ขับรถและผู้นั่งตอนหน้าแถวเดียวกับผู้ขับรถที่อยู่ริมสุดเท่านั้น (เบาะแถวกลาง)
จำนวนติดตั้งทุกเบาะ
เบาะซิ่งเบาะแต่งผิดหรือไม่
เบาะรถยนต์จริงแล้วตามกฎหมาย ได้ระบุลักษณะ ขนาดเอาไว้ว่า ต้องมีความสูงจากพื้นของรถถึงส่วนบนสุดของเบาะนั่งไม่น้อยกว่า 25 ซม. และมีความสูงจากส่วนต่ำสุดของเบาะนั่งถึหลังคาไม่น้อยกว่า 85 ซม. ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับลักษณะรถยนต์ตามที่จดทะเบียน และต้องมั่นคงแข็งแรง แต่ถ้าติดตั้งไม่ได้สัดส่วน ก็ถือว่าผิด
และถ้าไปใส่เบาะที่ไม่ได้ใช้สำหรับรถยนต์ ขนาดของเบาะเล็ก หรือใหญ่กว่าก็ที่กฎหมายกำหนด หรือติดตั้งแล้วดูไม่เหมาะสม ไม่แข็งแรงอาจก่อให้เกิดอันตรายก็ถือว่าผิดได้
ใส่กระจกมองข้างแบบเล็กๆ หรือกระจกซิ่ง
ตามกฎหมายอีกเช่นกันระบุไว้ว่า รถยนต์ต้องมีเครื่องมองหลัง ซึ่งเป็นกระจกเงา จำนวน 2 ชุด ติดอยู่ในระดับเดียวกันที่ด้านซ้ายและด้านขวา และห่างจากแนวกึ่งกลางหน้ารถเท่ากันทั้งสองด้าน
ซึ่งไม่ได้ระบุถึงขนาดและรูปแบบ ถ้าเปลี่ยนเป็นกระจกมองข้างแบบไฟเบอร์ หรือแบบกระจกซิ่งทรงแข่ง ก็ถือว่าถูกกฎหมาย ยกเว้นกระจกอาจเล็กมากแบบจงใจ หรือชำรุด หรือติดในตำแหน่งที่ผู้ขับขี่ไม่อาจมองเห็นผิวจารจร ซึ่งถือว่าผิด
ดัดแปลงเครื่องยนต์ขยายซีซี เปลี่ยนเทอร์โบ โมกล่อง ซัก 1000 ม้า จะผิดหรือไม่
การขยายซีซี หรือความจุกระบอกสูบ อาจไม่สามารถวัดได้ อาศัยการตรวจดูหมายเลขเครื่องยนต์ และชนิดเครื่องยนต์ ว่าถูกต้องตามทะเบียนที่แจ้งไว้หรือไม่ และเครื่องยนต์ต้องไม่มีการกำกับเลขเอง (ตีเลขเครื่อง) นอกจากทางกรมขนส่ง และโรงงานผู้ผลิต
ไม่ว่าจะเปลี่ยนเทอร์โบใหญ่ ใส่กรองเปลือย ตีเฮดเดอร์ เปลี่ยนหัวฉีด
โมกล่องจนได้ 500 ม้า 1000 ม้า ก็ไม่ผิด เพียงแต่อุปกรณ์ภายในห้องเครื่องต้องดูแล้วแน่นหนาและมีความปรอดภัย ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ตนเอง และผู้อื่นอีกเช่นกัน
เรื่องของค่ามลพิษทางอากาศ
โดยตามพระราชบัญญัติรถยนต์ กล่าวว่า
รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน ต้องวัดค่า Co (คาร์บอนไดออกไซต์)ไม่เกิน 4.5 มิลิกรัมเปอร์เซนต์ และค่า Hc (ไฮโดรคาบอนด์) ไม่เกิน 600 PPM (update 2555)
รถยนต์ที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ต้อง วัดค่า Co (คาร์บอนไดออกไซต์)ไม่เกิน 2.0 มิลิกรัมเปอร์เซนต์ และค่า Hc (ไฮโดรคาบอนด์) ไม่เกิน 600 PPM (update 2555)
ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ก๊าซไอเสีย
สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล
มาตรฐานการวัดควันดำ ต้องไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเครื่องวัดแบบกระดาษกรอง และ 45 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเครื่องวัดแบบหาความทึบแสง
ดังนั้นจะโมเครื่องแค่ไหนแต่งเครื่องแค่ไหน ได้ 100 ม้า 1000 ม้า ถ้าการเผาไหม้หมดจด ควันไม่ดำ ค่า Co และ Hc ผ่านก็ถือว่าถูกกฎหมาย
ติดทองคำเปลวที่ทะเบียนรถ ผิดกฎหมาย
ด้วยความเชื่อ ความศรัทธา ส่วนบุคคล มีในประเทศไทยประเทศเดียว แต่ขอความกรุณาอย่านำวัสดุใด ๆ มาปิดบังที่ตัวอักษรและตัวเลขของแผ่นป้ายทะเบียนรถ เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถ และการแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถ และเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี พ.ศ. 2554 ได้ระบุไว้ชัด ในข้อ 5 ว่า แผ่นป้ายทะเบียนรถให้ติดตรึงไว้ในที่ที่เห็นได้ง่ายที่หน้ารถหนึ่งแผ่น และที่ท้ายรถหนึ่งแผ่น เว้นแต่รถจักรยานยนต์หรือรถพ่วงให้ติดตรึงที่ท้ายรถหนึ่งแผ่น
การติดตรึงแผ่นป้ายนั้น ต้องไม่กระทําในลักษณะที่วัสดุที่ยึดแผ่นป้ายนั้น อาจปิดบังทั้งหมด หรือแต่บางส่วนของตัวเลขนําหน้าตัวอักษรประจําหมวด ตัวอักษรประจําหมวด หมายเลขทะเบียน ตัวอักษรแสดงชื่อกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดที่จดทะเบียน โดยต้องไม่นําวัสดุหรือสิ่งอื่นใดไม่ว่า จะก่อให้เกิดแสงสว่างหรือเรืองแสงหรือไม่ก็ตาม มาปิดบัง หรือติดไว้ในบริเวณใกล้เคียงกับแผ่นป้ายทะเบียนรถจนไม่สามารถมองเห็นทั้งหมด หรือแต่บางส่วนของตัวเลขหรือตัวอักษรนั้น