ดวงตากับการประกอบอาชีพ
ปัจจุบันจะพบว่าผู้คนในวัยทำงานมีปัญหาทางด้านสายตามากยิ่งขึ้น โดยปัญหาทางด้านสายตาที่เกิดขึ้นมักเกิดจากการใช้สายตาเป็นอย่างหนัก ดังนั้นเราจึงควรที่จะรู้ถึงวิธีการป้องกันและปฏิบัติตัว เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหากับดวงตาหรือถ้ามีปัญหาก็จะได้ทุเลากว่าเดิม
ปัญหาสายตาในการทำงาน
สาเหตุที่พบบ่อยในการทำให้เกิดอาการเมื่อยตาหรือปวดตาขณะทำงานคือการที่เราพยายามใช้ดวงตาในการมองภายใต้สภาวะที่เป็นอันตรายกับดวงตา เช่น การเพ่งมองแสงจ้า แสงที่สะท้อนเข้าสู่ดวงตา หรือการเพ่งชิ้นงานในที่ที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ ทำให้กล้ามเนื้อตาทำงานอย่างหนักเพื่อปรับสายตาในการมองสิ่งต่าง ๆ หรือเปลี่ยนโฟกัสในการมอง
อาการที่เกิดขึ้นจากการใช้ดวงตาอย่างหนัก
- การมองเห็นภาพซ้อน
การมองเห็นภาพซ้อนเกิดจากกล้ามเนื้อตาไม่สามารถควบคุมการรวมภาพของตาทั้งสองข้างได้ ทำให้เกิดเป็นภาพซ้อน ภาพที่เห็นซ้อน ๆ กันนี้บางครั้งก็ไม่รู้สึกหรือไม่เกิดขึ้นโดยตรง แต่จะรู้สึกปวดหัวหรือเกิดอาการล้านัยน์ตา
- ปัญหาจากโฟกัส
การเพ่งมองนาน ๆ หรือกวาดสายตาซ้ำไปซ้ำมาโดยไม่ได้พักสายตา ทำให้กล้ามเนื้อดวงตาที่ใช้ในการปรับความคมชัดของภาพ หรือกล้ามเนื้อที่ควบคุมการหรี่ของม่านตาเกิดอาการล้าหรือตึงเครียด ทำให้ไม่สามารถปรับความคมชัดของภาพนั้นได้อย่างสมบูรณ์ และอาจทำให้สายตาหรือกล้ามเนื้อส่วนนี้เสื่อมไปด้วย อาการที่เกิดขึ้นจากการใช้กล้ามเนื้อสายตาอย่างหนัก ได้แก่ อาการปวดหัวบริเวณขมับ
- ดวงตาแห้งไร้ความชุ่มชื้น
ดวงตาที่แห้งจะพบบ่อยกับผู้ที่ทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเหตุจากการขาดน้ำหล่อเลี้ยงดวงตา ทำให้ดวงตาล้าและปวดได้ง่าย และจะมีอาการมากขึ้นในผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์
- ความผิดปกติของสายตา
ภาวะตาพร่า เกิดจากความผิดปกติของเลนส์ตาที่มีส่วนโค้งผิดปกติ ซึ่งเมื่อมองแล้วจะทำให้เกิดอาการเบลอ ไม่เกี่ยวกับระยะของวัตถุ
ภาวะสายตายาว เกิดจากจุดโฟกัสของภาพที่มองตกเลยจอรับภาพ ผู้ที่มีปัญหาสายตายาวจะมองเห็นได้ดีในระยะไกลโดยไม่ต้องอาศัยแว่นตา แต่ถ้าเป็นการมองที่วัตถุใกล้ ๆ นัยน์ตาจะต้องพยายามจับโฟกัสของวัตถุนั้น จึงทำให้เกิดอาการเมื่อยกล้ามเนื้อตาหรือปวดตาได้
ภาวะสายตาสั้น เป็นภาวะที่ไม่สามารถมองเห็นวัตถุในระยะที่ตั้งไว้ไกลเกินจากโฟกัสของสายตา โดยที่จุดโฟกัสของภาพที่มองตกก่อนที่จะถึงจอรับภาพ ผู้ที่มีสายตาสั้นจะมองภาพในระยะไกลไม่ชัด
วิธีป้องกันไม่ให้สายตาเสื่อมจากการทำงาน
1. หยุดพักสายตา
The national Institute of Occupational Safety and Health (NIOSH) ได้มีการแนะนำให้มีการหยุดพักสายตา โดยจะหยุดพักสายตาครั้งละ 15 นาที ทุก ๆ 2 ชั่วโมง สำหรับการทำงานในสภาวะที่มีแสงจ้า เช่น งานที่ต้องเพ่งใช้สายตามาก หรืองานที่หน้าจอคอมพิวเตอร์
2. พักผ่อน
เพื่ีอเป็นการพักสายตา วิธีที่ดีที่สุดก็คงจะเป็นการล้มตัวลงนอนและหลับตา วางผ้าชุบน้ำหมาด ๆ ไว้บนเปลือกตา พักผ่อนและไม่ต้องกังวลกับสิ่งใด ๆ
3. ปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน
การควบคุมแสงสว่างภายในสภาพแวดล้อมการทำงาน จะช่วยบรรเทาอาการปวดหรือเมื่อยล้าตาได้ ลดการเพ่งมอง การสะท้อนของแสงต่าง ๆ ปรับแสงสว่างให้เพียงพอต่อการอ่านหรือเพ่งมองชิ้นงาน ปรับความสว่างที่จอคอมพิวเตอร์ให้พอดี ปรับระยะห่างระหว่างดวงตากับชิ้นงานหรือจอภาพให้เหมาะสมที่ผู้ปฏิบัติงานจะสามารถทำงานได้ด้วยความรู้สึกสบาย
4. อาการเตือนเมื่อจำเป็นต้องใช้แว่นตา มีดังต่อไปนี้
- อาการปวดศีรษะบ่อย ๆ
- อาการเบลอหรือเมื่อยล้าดวงตา ภาพพร่ามัว
- ความถี่ในการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น
- ทำการจอดรถได้ยาก เล่นกีฬาได้แย่ลง
- อ่านหนังสือพิมพ์หรือตัวอักษรเล็ก ๆ ได้ยาก
- ลดความสนใจในการทำงาน
เมื่อมีอาการเหล่้านี้เกิดขึ้น ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อรับการทดสอบสายตา และรับการแก้ไขตามความเหมาะสมต่อไป