25 ม.ค.2485 ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2
สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในยุโรปตั้งแต่ พ.ศ. 2482 เมื่ออังกฤษ และฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนี แล้วเลยลุกลามเป็นสงครามโลก ทางด้านเอเชีย ญี่ปุ่นประกาศสงครามสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ต่อมาวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทหารญี่ปุ่นก็เข้าเมืองไทยทางสงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ และสมุทรปราการ ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็เข้าโจมตีเกาะ ฮาวาย ฟิลิปปินส์ และส่งทหารขึ้นบกที่มลายู และโจมตีสิงคโปร์ทางเครื่องบิน เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นได้ของร้องรัฐบาลไทยให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยเพื่อไปโจมตีพม่า และมลายูของอังกฤษ และขอให้ระงับการ ต่อต้านของคนไทยเสีย คณะรัฐมนตรีโดยมี จอมพลแปลกพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็อนุโลมตามความต้องการของญี่ปุ่น เพื่อรักษาชีวิตและเลือดเนื้อของคนไทย ไทยได้ทำกติกาสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 สงครามที่เกิดขึ้นในเอเชียนี้เรียกกันว่าสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นมีวัตถุประสงค์จะสร้างวงศ์ไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา (The Greater East Asia Co-prosperity Sphere) ทั้งใน ทางวัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย โดยมีญี่ปุ่นเป็นผู้นำ
ภาพการลงนามเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม กับ ทูตญี่ปุ่น
ในระยะเริ่มแรกของสงคราม กองทัพญี่ปุ่นมีชัยชนะทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ทำให้รัฐมนตรีบางคนเห็นควรให้ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ด้วยคิดว่าญี่ปุ่นจะชนะสงครามไทยจึงได้ประกาศ สงครามเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ระหว่างสงครามนั้นญี่ปุ่นได้โอนดินแดนบางแห่งที่ยึดได้จากอังกฤษคืนให้แก่ไทย คือ รัฐไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ปะลิส และสองรัฐในแคว้นไทยใหญ่ คือ เชียงตุง และเมืองพาน
การสร้างเส้นทางจากกาญจนบุรีไปพม่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ญี่ปุ่นแพ้สงครามเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 รัฐบาลไทยประกาศว่า การประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญและความประสงค์ของประชาชนชาวไทย ไทยต้องปรับความเข้าใจกับ สัมพันธมิตร สหรัฐอเมริกามิได้ถือไทยเป็นศัตรู ตามประกาศของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดย นาย เจมส์ เบิรนส์ (James Byrnes) รัฐมนตรีต่างประเทศเป็นผู้ลงนาม แต่รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ นาย เออร์เนสต์ เบวิน (Ernest Bevin) ไม่ยอมรับทราบการโมฆะของการประกาศสงครามง่าย ๆ ลงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 (เวลานั้น ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้ารัฐบาล) ผู้แทนไทยได้ลงนามกับผู้ แทนอังกฤษที่สิงคโปร์ ความตกลงนี้เรียกว่า "ความตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อสถานะสงครามระหว่างประเทศไทยกับบริเตนใหญ่และอินเดีย" ที่สำคัญ คือไทยต้องคืนดินแดนของอังกฤษที่ได้มาระหว่างสงคราม ให้ข้าวสารโดยไม่ คิดเงินถึง 1.5 ล้านตัน และต้องชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ แต่ต่อมาไทยเจรจาขอแก้ไขโดยฝ่ายอังกฤษสัญญาจะจ่ายเงินค่าข้าวสารให้บ้าง
ไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ และได้เข้าเป็นสมาชิกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2489 โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขบางประการ เช่น ทำสัญญาทางไมตรีกับจีน (หลังสงคราม จีนเป็นมหาอำนาจเพราะเป็นฝ่ายชนะ สงครามด้วย สัญญานี้เป็นสัญญาฉบับแรกระหว่างไทยกับจีน ทั้ง ๆ ที่ได้มีไมตรีกันมานานนับร้อย ๆ ปี) ไทยยอมรับรองสหภาพสาธารณรัฐโซเวียต โซเซียลิสต์ และไทยยอมคืนดินแดนที่เราได้มาจากอนุสัญญากรุงโตเกียว หลังสงครามอินโดจีนให้แก่ฝรั่งเศส
การที่ไทยเอาตัวรอดได้ทั้ง ๆ ที่อยู่ในฝ่ายประเทศแพ้สงครามนี้ ขบวนการเสรีไทยมีส่วนช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ทำให้ประเทศสัมพันธมิตรโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเห็นใจเมืองไทย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูต ไทยประจำสหรัฐอเมริกาได้ประท้วงการประกาศสงครามของรัฐบาลไทย และได้รวบรวมคนไทยในสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น ในอังกฤษก็มีขบวนการเสรีไทยเช่นเดียวกันติดต่อกับหน่วยพลพรรคใต้ดินประเทศ ซึ่งมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นหัวหน้าเสรีไทยทั้งหลายเตรียมที่จะจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับญี่ปุ่นตามวันเวลาที่นัดหมาย พร้อม ๆ กันกำลังของสัมพันธมิตรที่จะรุกเข้ามาทางพม่า แต่ญี่ปุ่น ได้ยอมแพ้เสียก่อน
ญี่ปุ่นลงนามยอมแพ้ต่อสงคราม
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยได้ร่วมมือกับฝ่ายโลกเสรี อันมีสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นหัวหน้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2493 รัฐบาลไทยยอมรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทางทหารจากสหรัฐอเมริกา และใน พ.ศ. 2498 ก็ได้ ร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ รวม 8 ประเทศ จัดตั้งองค์การป้องกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกโดยย่อว่าองค์การซีโต หรือสปอ. (SEATO-South East Asia Treaty Organization) นอกจากนั้นไทยยังเป็น ภาคีสมาชิกของแผนการโคลัมโบ (Columbo Plan) ของประเทศในเครือจักรภพอีกด้วย (แผนการโคลัมโบ เป็นโครงการเพื่อการช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางด้านเทคนิคและด้านเศรษฐกิจของประเทศในเครือจักรภพ เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2493 นอกจากประเทศในเครือจักรภพซึ่งมีอังกฤษ แคนนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นตัวตั้งตัวตีที่จะช่วยเหลือประเทศที่เพิ่มได้รับเอกราช ได้แก่อินเดีย ปากีสถาน และลังกาแล้ว ต่อมาได้มีประเทศต่าง ๆ เข้ามาสมทบ อีก คือ เขมร ลาว เวียดนาม พม่า เนปาล อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลี ภูฏาน อัฟกานิสถาน หมู่เกาะมัลดีฟและสหรัฐอเมริกา)
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์