วังหน้า วังหลัง เรื่องราวที่กำลังถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา
พระราชวังบวรสถานมงคล (วังจันทร์เกษม)
สวัสดีครับเพื่อนๆ มีใครได้อ่านเรื่อง“ในหลวง อย่าทิ้งประชาชนนะ” ใครกันที่ตะโกนทูลพระองค์จากบทความที่แล้วบ้างหรือเปล่าครับ เป็นเรื่องราวที่น่าประทับใจสำหรับคนไทยหลายๆ คน รวมทั้งตัวผมด้วย อย่างที่เคยบอกไว้ต่อไปนานๆ เราจะได้เจอกันสักครั้ง สำหรับวันนี้เรามาเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของวังหน้า วังหลัง ที่กำลังจะถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา แบบสั้นๆ พอเข้าใจได้กันดีกว่าครับ
วังหน้า วังหลังหลายคนคงได้ยินกันมานาน และผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ยังไม่เข้าใจถึงเรื่องราวความเป็นมาของวังหน้า และวังหลัง ที่ ณ ปัจจุบันไม่มีอีกแล้ว จบสิ้นไปในสมัยรัชกาลที่ 5
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้า
วังหน้า นั้นเรียกวังของพระมหาอุปราชกรมพระราชวัง หรือเป็นที่รู้จักในสมัยรัตนโกสินทร์คือตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้สืบราชบัลลัีงค์ต่อจากกษัตริย์ กรณีที่กษัตริย์ทรงสวรรคต หรือสละราชสมบัติ และเพื่อเป็นที่ปลอบขวัญกรณีที่ไม่ได้ขึ้นครองราชเป็นกษัตริย์ แรกเริ่มมีขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
วังหน้า พระองค์แรกคือพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระนามว่า พระอินทราชา ต่อมาเมื่อ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สวรรคต ‘วังหน้า’ ก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระอินทราชาที่ ๒ รัชกาลที่ ๙ พระบรมราชวงศ์เชียงราย
วังหน้า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ได้ตั้งทุกรัชกาล บางรัชกาลก็ไม่ได้ตั้ง หรือไม่ทันตั้ง เพราะมีเหตุให้เปลี่ยนราชวงศ์อยู่บ่อยๆ พระเจ้าแผ่นดิน ๓๓ พระองค์ ราชวงศ์ ๕ ราชวงศ์ มี ๑๒ แผ่นดินเท่านั้นที่ตั้ง พระมหาอุปราชวังหน้า ๑๒ พระองค์
ผู้ดำรงค์ตำแหน่งวังหน้า หรือกรมพระราชวังบวรสถานมงคล องค์สุดท้ายคือ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ หรือ พระองค์เจ้ายอดยิ่งประยุรยศบวรราโชรสรัตนราชกุมาร เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 คู่กับ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาเอม
จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จทิวงคต พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่เหมาะสมกับกาลสมัยและอาจทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจสับสน และทรงมีพระราชดำริว่า พระราชอิสริยยศ "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช" ซึ่งเรียกว่า สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า ที่ได้ตั้งขึ้นไว้ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เป็นตำแหน่งที่สอดคล้องตามแบบอย่างการสืบสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศ ที่มีราชประเพณีแต่งตั้งพระราชโอรสองค์ใหญ่เป็นมกุฎราชกุมารดำรงตำแหน่งรัชทายาท[2] จึงมีพระบรมราชโองการประกาศยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2428 และโปรดให้มีตำแหน่ง "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร" ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะทรงเป็นรัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์สืบไป
ส่วน วังหลัง หรือกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขเพิ่งจะมีขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (รัชกาลที่ ๑๗ ของกรุงศรีอยุธยา และที่ ๑ แห่งบรมราชวงศ์เชียงราย-สุโขทัย เป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และ สมเด็จพระเอกาทศรถ
ในรัชกาลนี้โปรดให้ สมเด็จพระนเรศวร ประทับวังด้านหน้าพระราชวัง และทรงสร้างวังทางด้านหลังพระราชวัง พระราชทานสมเด็จพระเอกาทศรถ จึงเรียกกันว่า ‘วังหลัง’ คู่กันกับ ‘วังหน้า’
ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (รัชกาลที่ ๒๗ กรุงศรีอยุธยา ที่ ๔ แห่งบรมราชวงศ์ปราสาททอง) ไม่ได้ทรงตั้งมหาอุปราชวังหน้า แต่โปรดให้พระราชอนุชาพระองค์หนึ่ง คือ พระไตรภูวนาถทิตยวงศ์ ประทับอยู่วังหลัง
วังหลัง ในสองรัชกาลนี้ เป็นแต่ที่ประทับยังมิได้เป็น ‘กรมพระราชวังหลัง’
ถึงรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา (รัชกาลที่ ๒๘ กรุงศรีอยุธยา เป็นกษัตริย์พระองค์เดียวแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ถึงรัชกาลที่ ๒๙ พระเจ้าเสือ หรือขุนหลวงเสือ ขุนหลวงสรศักดิ์ ย้อนกลับเข้าราชวงศ์ปราสาททองอีกครั้งหนึ่ง เพราะถือว่าขุนหลวงเสือเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเป็นราชวงศ์ปราสาททองต่อกันมาอีก ๔ พระองค์จนเสียกรุง)
ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชานี้เอง ที่มีทั้ง วังหน้า และ วังหลัง วังหน้า เรียกว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ วังหลัง เรียกว่า กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข
สมเด็จกรมพระราชวังหลังในรัชกาลที่ 1 พระรูปวาดจากเค้าพระพักตร์พระปฐมวงศ์ผสมผสานจินตนาการ
เมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนาให้พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ซึ่งทรงมีความดีความชอบรบทัพจับศึกมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี ขึ้นดำรงตำแหน่ง กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) พระองค์แรกและพระองค์เดียวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ภายหลังการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขแล้ว ถือเป็นการสิ้นสุดของตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เนื่องจากไม่มีการสถาปนากรมพระราชวังหลังขึ้นอีกเลย
ก็หวังว่าเพื่อนๆ ที่ไม่เคยทราบเรื่องราวที่สำคัญทางประวัติศาสตร์นี้คงได้ประโยชน์กันบ้าง กับเนื้อหาที่ไม่มากนัก หากเพื่อนๆ สนใจเรื่องราวที่ละเอียดและเรื่องราวที่น่าสนใจในหลายแง่มุมกว่านี้ ก็อ่านได้ตามที่มาของข้อมุลด้านล่างนี้ แล้วพบกันใหม่ครับ...mata
ขอบพระคุณข้อมูล