หญิงไทยในอดีตกับบทบาทผู้นำครอบครัว
สตรีถ่ายรูปในสตูดิโอ ภาพนี้ไม่เข้าใจว่าสตรีชาวสยามสมัยก่อนเหตุใดจึงเปลือยอก
หรือว่าเป็นสตรีมีสามีแล้ว
ลองค้นในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน เห็นมีดังนี้
จึงไขน้ำจากบัวตะกั่วทำ.................น้ำก็พร่ำพรายพรูดูกระเด็น
เจ้าพลายชักชายสไบห่ม................ฉันอายนมไฮ้หม่อมนะอย่าเล่น
ยังไม่เคยอาบน้ำตัวเปล่าเป็น...........เขาจะเห็นแล้วอย่ากวนฉันหน่อยเลย
อนิจจาอยู่แต่เจ้ากับตัวพี่................ไม่มีใครเห็นดอกเจ้าพิมเอ๋ย
อาบทั้งผ้าไม่น่าจะเย็นเลย..............พลางก็เผยผ้าน้องออกจากทรวง
บทบาทของสตรีไทย
สตรีไทยมีบทบาทสำคัญมาตั้งแต่อดีต ในทางการเมืองสตรีไทยในประวัติศาสตร์หลายคนได้มีบทบาทในการสร้างชาติไทย เช่น พระสุพรรณกัลยา พระพี่นางของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเสียสละพระองค์เป็นองค์ประกันที่เมืองหงสาวดี เพื่อแลกกับอิสรภาพของสมเด็จพระนเรศวรที่จะมากอบกู้เอกราชให้กับกรุงศรีอยุธยาในวันข้างหน้า
ในสมัยรัตนโกสินทร์ สตรีไทยหลายคนได้มีบทบาทในการต่อสู้ทำสงครามเพื่อปกป้องบ้านเมือง เช่น คุณหญิงจัน ภรรยาเจ้าเมืองถลาง (ภูเก็ต) และนางมุกน้องสาว ได้นำชาวบ้านเมืองถลางต่อสู้ต้านทานกองทัพพม่าเมื่อครั้งสงครามเก้าทัพในสมัยรัชกาลที่ 1 มีความดีความชอบจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทรตามลำดับ
ในสมัยรัชกาลที่ 3 คุณหญิงโม ภรรยาของปลัดเมืองนครราชสีมา ได้ใช้อุบายโดยให้หญิงชาวบ้านเลี้ยงสุราอาหารแก่ทหารลาว ทำให้กองทัพของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ตายใจและปล่อยปละละเลยความปลอดภัยของค่ายทัพ เมื่อได้โอกาสก็นำอาวุธเข้าต่อสู้กับทหารฝ่ายลาวจนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากและแตกทัพหนีไป ทำให้ฝ่ายไทยสามารถเอาชนะได้ ต่อมาคุณหญิงโมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นท้าวสุรนารี นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้นในความเก่งของสตรีไทย
และนี่เป็นอีกหนึ่งภาพที่ทำให้เราได้เห็นว่า ผู้หญิงในอดีตออกไร่ออกนาด้วยความลำบาก
“ผู้หญิงนั้นแบกฟ้าไว้ครึ่งหนึ่ง”
เป็นวาทะอันทรงอำนาจยิ่งเกี่ยวกับสตรีของเหมาเจ๋อตุง[1] หลังจากที่โลกถูกครอบงำด้วยบทบาทของผู้ชายและแนวความคิดแบบปิตาธิปไตยมาเป็นเวลายาวนาน แม้สตรีจะมีบทบาทอำนาจก็เป็นอำนาจแบบอ่อนอยู่เบื้องหลังวังใน ในศตวรรษที่ 21 ผู้หญิงได้ฟื้นกลับมามีบทบาทสำคัญต่อโลกในเบื้องหน้าอีกครั้ง
สตรีไทยเคยมีอำนาจและบทบาทสูงยิ่งในอดีตกาล หากเรามองย้อนไปยังจดหมายเหตุของชาวต่างชาติที่มองดูประเทศไทย อาจจะพอได้ภาพคร่าวๆ
พงศาวดารจีนหงเฉียวบุ๋นเ...่ยนทง ยุคราชวงศ์หมิง ตรงกับยุคกรุงศรีอยุธยาตอนต้น กล่าวถึงสตรีในเสียมหลอก๊ก หรือสยามไว้ว่า “การใช้จ่ายเงินทองนั้นสุดแต่ผู้หญิง ด้วยผู้หญิงมีสติปัญญา ชายผู้เป็นสามีต้องเชื่อฟัง”[2]
จดหมายเหตุลาลูแบร์ ในสมัยพระนารายณ์ กล่าวไว้ว่า “ฝ่ายชายนั้นต้องไปเข้าเดือนรับราชการของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 6 เดือนในปีหนึ่ง ทุกๆ ปีนั้น ก็เป็นหน้าที่ของภรรยามารดาและลูกเต้าจะเลี้ยงตัวเอง หนำซ้ำยังต้องส่งเสบียงเลี้ยงคนที่ไปเข้าเดือนอีกด้วย และเมื่อรับราชการกลับมาบ้านแล้ว ก็เป็นธรรมดามักมิใคร่รู้จักจะทำการงานอย่างไรผู้หญิงดอกเป็นตัวถากไร่ไถนา ซื้อขายสินค้าในเมือง”[3]
ส่วนสิทธิของสตรีในการเลือกแต่งงานกับผู้ชายนั้นถือว่าไม่น้อยเลย อีกทั้งจะหย่าเมื่อไรก็หย่าได้ ดังปรากฎในพระธรรมนูญกฎหมายว่า “ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านว่าเป็นหญิงหย่าชาย หย่าได้”[4]
ในยุคเดียวกันของฝั่งชาวตะวันตก ตะวันออกกลาง และตะวันออกไกลนั้น ภรรยาเป็นสิทธิ์ขาดของสามี จะยกให้ใครหรือขายใครก็ได้ มิพักพูดถึงการหย่าร้างเลย
สิทธิและบทบาทของสตรีไทยเริ่มลดลงหลังจากการชำระกฎหมายตราสามดวงในรัฃกาลที่ 1 และการปรับเปลี่ยนประเทศให้เข้าสู่แบบตะวันตกและรับจารีตนิยมแบบวิคตอเรียน-เอ็ดเวิร์ดเดียนมาหลังรัชกาลที่ 4 จนกระทั่งการอภิวัตน์ 2475 ที่คณะราษฎรได้ให้สิทธิเลือกตั้งแก่สตรีเทียบเท่าบุรุษ
เรื่องราวที่อ่าน อาจจะไม่มีอะไรให้น่าสนใจสักเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าผู้ที่ได้อ่านคงได้หันกลับมามองผู้หญิงที่อยู่รอบๆ ข้าง และนึกได้บ้างว่า หญิงไทยมีความสามารถและน่าภาคภูมิใจไม่น้อยเลยทีเดียวเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ ผมเองก็ภูมิใจในบรรพบุรุษสตรีไทยของเราอย่างที่สุดเช่นกัน แล้วพบกันใหม่ครับ....mata
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
อ้างอิง
[1] Mao Ze Dong.The Little Red Book. 1964
[2] ขุนเจนจีนอักษร, จดหมายเหตุเรื่องพระราชไมตรีระหว่างกรุงสยามกับกรุงจีน. ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพมหาอำมาตย์ตรี พระยาโชฎึกราชเศรษฐี(ผ่อง โชติกพุกกณะ). โรงพิมพ์โสภณพิพัฒนากร. 2476
[3] กรมศิลปากร, จดหมายเหตุลาลูแบร์ เล่ม 2. ปรีดาลัย. ไม่ระบุปีพิมพ์
[4] พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ฉบับ 1. กรมศิลปากร. 2549
ขอบคุณข้อมูลจาก
หญิงไทยอยู่ตรงไหนในโลก และ วิถีชีวิตแบบไทยๆ...ริมสายน้ำ