นอนกรนอาจถึงตายได้
นอนกรนในเด็ก...เมื่อลูกรักอาจหยุดหายใจ เสียงกรนเป็นอาการที่บ่งบอกว่ากำลังมีการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก (Pediatric Obstructive Sleep Apnea;OSA) อาจทำให้มีความผิดปรกติทางพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายและสติปัญญา ทำให้เติบโตช้า มีพฤติกรรมก้าวร้าว ซุกซนมากผิดปกติ(Hyperactive)บางรายอาจปัสสาวะรดที่นอน และมีผลการเรียนแย่ลง หรือมีปัญหาสังคมตามมาได้ นอกจากนี้ถ้าเป็นรุนแรงมากอาจเป็นสาเหตุและความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจได้ด้วย ในเด็กไทยมีการทำวิจัยพบว่านอนกรนเป็นประจำราวร้อยละ 10 และในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 1 ของเด็กก่อนวัยเรียนและช่วงประถม อาการที่บ่งบอกว่าอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และควรไปพบแพทย์
ในกรณีที่บุตรหลานของท่านมีอาการนอนกรนดังเป็นประจำ หรือนอนกระสับกระส่าย หายใจลำบาก คัดจมูกเป็นประจำต้องอ้าปากหายใจ ปัสสาวะรดที่นอนเป็นประจำ หรือมีพฤติกรรมซุกซนก้าวร้าว ผลการเรียนแย่ลง เติบโตช้ากว่าวัย ท่านควรพาเด็กไปพบแพทย์
สาเหตุของอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ที่พบบ่อยและสำคัญที่สุดในเด็กคือ การมีต่อมทอนซิล และหรือต่อมอะดีนอยด์ ซึ่งอยู่ทางด้านหลังของจมูกโตผิดปกติ ซึ่งพบมากที่สุด ภาวะจมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ หรือภาวะอ้วนก็เช่นกัน ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น โครงหน้าผิดปกติ เช่น ตลอดจนโรคทางพันธุกรรม หรือโรคทางสมองและกล้ามเนื้อที่มีผลต่อการหายใจ เป็นต้น
ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย
การวินิจฉัยที่ต้องอาศัยทั้งประวัติ การตรวจร่างกายตั้งแต่บริเวณศีรษะ ใบหน้า หู คอ จมูก และช่องปาก การตรวจปอด และหัวใจ หรือระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้การตรวจเพิ่มเติม เช่น การ X-ray บริเวณศีรษะด้านข้างเพื่อดูความกว้างของทางเดินหายใจ เด็กที่นอนกรนควรได้รับการตรวจการนอนหลับ(sleep test)เพื่อตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด ระบบหายใจ รวมถึงคุณภาพการนอนหลับ ซึ่งสามารถทำในโรงพยาบาล หรือที่บ้านตามความเหมาะสม
แนวทางการรักษา อาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก
1.การดูแลปฏิบัติเบื้องต้น ได้แก่ การปรับสุขอนามัยการนอน เช่น ใช้เวลานอนพักผ่อนให้พอเพียง ในรายที่อ้วนหรือน้ำหนักเกิน ต้องลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
2.การรักษาด้วยยา เช่น การให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก หรือยารักษาอาการจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือยาแก้อักเสบเพื่อรักษาต่อมทอนซิล ซึ่งเลือกใช้ตามความเหมาะสมในแต่ละราย
3.การรักษาด้วยการผ่าตัด ปัจจุบันวิธีที่เป็นมาตรฐานและได้ผลดีมากที่สุด คือการผ่าตัดต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์(Adenotonsillectomy)เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง แต่มีความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนต่ำ และไม่มีผลต่อภูมิต้านทานหรือการติดเชื้อภายหลังน้อยมาก อย่างไรก็ตามท่านต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน หู คอ จมูก ที่มีประสบการณ์ในการผ่าตัดผู้ป่วยเด็ก
4.การรักษาอื่น ๆ เช่น การรักษาโรคร่วม การใช้เครื่อง CPAP ตลอดจนการจัดฟัน ซึ่งอาจเป็นทางเลือกกรณีรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล ซึ่งต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
นอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก เป็นโรคที่มีความสำคัญเนื่องจากมีผลเสียต่อพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาของเด็ก อย่างไรก็ตามภาวะดังกล่าวนี้สามารถรักษาและได้ผลดีมาก หากได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างชัดเจน และช่วยคลายความกังวลของผู้ปกครองได้ไม่มากก็น้อย ดังนั้นหากบุตรหลานของท่านมีอาการดังกล่าวจึงควรไปพบแพทย์ที่เชี่ยวชาญ เพื่อรักษาต่อไป