พ.ศ.2494 รัฐบาลไทยทำรัฐประหารตัวเอง
ประเทศไทยมีการปฏิวัติ รัฐประหารกันมาอยู่เป็นระยะตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน เราประชาชนคนไทยก็ยังได้สัมผัสกลิ่นอายของการปฏิวัติ รัฐประหารกันรุ่นสู่รุ่น แต่ไม่มีครั้งใดที่จะแปลกเท่ากับการทำรัฐประหารโดยรัฐบาลของตัวเอง
รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2494 หรือ รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เป็นการรัฐประหารอีกครั้งที่เกิดในประเทศไทย แต่เป็นรัฐประหารครั้งแรกที่เรียกได้ว่า เป็นการ รัฐประหารตัวเอง (ยึดอำนาจตัวเอง)
เหตุเนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี อ้างว่าไม่ได้รับความสะดวกในการบริหารราชการแผ่นดิน เหตุสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2492 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ขณะนั้น ไม่เอื้อให้เกิดอำนาจ คือให้ผู้ที่เป็น สมาชิกวุฒิสภาจะเป็นข้าราชการประจำไม่ได้
การยึดอำนาจกระทำโดยไม่ใช้การเคลื่อนกำลังใด ๆ เพียงแต่มีความเคลื่อนไหวโดยมีตำรวจและทหาร รวมทั้งรถถังเฝ้าประจำการในเขตยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มาตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน จนกระทั่งในเวลาหัวค่ำของวันที่ 29 พฤศจิกายน ก็ได้มีการประกาศออกวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ว่า บัดนี้คณะนายทหารส่วนใหญ่จากคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 อาทิ เช่น พลเอกผิน ชุณหะวัณ, พลอากาศเอกฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี, พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้น ได้กระทำการยึดอำนาจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อผดุงไว้ซึ่งความมั่นคงของประเทศชาติ จากภัยคอมมิวนิสต์ที่กำลังคุกคามอย่างรุนแรง โดยเรียกตัวเองว่า "คณะบริหารประเทศชั่วคราว" และได้ความร่วมมือจากทั้ง 3 กองทัพ และตำรวจ ซึ่งมีคำปรารภในการรัฐประหารครั้งนี้ว่า
เนื่องจากสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันตกอยู่ในความคับขันทั่วไป
ภัยแห่งคอมมิวนิสต์ได้ถูกคุกคามเข้ามาอย่างรุนแรง ในคณะรัฐมนตรีปัจจุบัน
นี้ก็ยังดี ในรัฐสภาก็ดี มีอิทธิพลของคอมมิวนิสต์เข้าแทรกซึมอยู่เป็นมาก
แม้ว่ารัฐบาลจะทำความพยายามสักเพียงใด ก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหา
เรื่องคอมมิวนิสต์ได้ ทั้งไม่สามารถปราบการทุจริตที่เรียกว่า คอร์รับชั่น
ดังที่มุ่งหมายว่าจะปราบนั้นด้วย ความเสื่อมโทรมมีมากขึ้น จนเป็นทีวิตก
กันทั่วไปว่า ประเทศชาติจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในสถานการณ์การเมืองอย่างนี้
จึงคณะทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ ผู้ก่อการ
เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490
พร้อมด้วยประชาชนผู้รักชาติ มุ่งความมั่นคงดำรงอยู่แห่งชาติ ศาสนา
พระมหากษัตริย์บรมราชจักรีวงศ์ และระบอบรัฐธรรมนูญ ได้พร้อมกัน
เป็นเอกฉันท์ กระทำการเพื่อนำเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 กลับมาใช้ให้เป็นความ
รุ่งเรืองสถาพรแก่ประเทศชาติสืบไป
จากนั้นคณะบริหารประเทศชั่วคราวได้สั่งยกเลิกรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2492 หันกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกมาใช้แทน ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นการกระทำที่ประหลาดที่สุดในโลก และเป็นเหตุให้พรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ประกาศคว่ำบาตรรัฐบาลทุกประการ เช่น ไม่ร่วมเลือกตั้งในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2495 เป็นต้น
อนึ่ง การรัฐประหารครั้งนี้ได้เกิดขึ้นก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นได้ประทับอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ จะเสด็จนิวัติพระนครเพียง 2 วันเท่านั้น โดยที่คณะบริหารประเทศชั่วคราว ได้ขอให้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ลงพระนามในประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ แต่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัตฯ มิได้ทรงลง โดยทรงให้เหตุผลว่า ควรจะยกให้เป็นพระราชวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม ในวันต่อมา ก็ได้มีประกาศว่า คณะรัฐมนตรีชั่วคราว ถืออำนาจแทนพระเจ้าแผ่นดิน ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้ว