โรคห่า คือโรคอะไรกันแน่
โรคห่า คือกาฬโรค ยุคพระเจ้าอู่ทอง กรุงศรีอยุธยา
โรคระบาดที่ทำให้คนล้มตายคราวละมากๆ คนแต่ก่อนเรียกโรคห่าทั้งนั้น ไม่ว่าจริงๆแล้วอาจล้มตายเพราะโรคมีชื่อต่างๆก็ได้ เช่น ฝีดาษ, อหิวาต์, กาฬโรค, ฯลฯ
ห่า เป็นคำเรียกผีที่เชื่อว่าทำให้คนในชุมชนตายพร้อมกันคราวละมากๆต่อมาใช้เป็นคำด่าทออย่างรุนแรง เช่น ห่ากิน, ห่าแดก, ห่าลง, ห่าเหว, ฯลฯ แต่ทั่วไปใช้ว่า ไอ้ห่า, อีห่า
ฝนตกคราวหนึ่งก็เรียกห่า ว่าห่าฝน ฝนตกมากเรียกห่าใหญ่ ถ้าฝนตกน้อยเรียกห่าน้อย
ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยครอบงำให้คนเชื่อผิดๆมาจนทุกวันนี้ ว่าพระเจ้าอู่ทองครองอยู่เมืองอู่ทอง (ที่ อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี) ต่อมามีโรคห่าระบาด คืออหิวาตกโรค ผู้คนล้มตายมาก เลยอพยพไพร่พลราษฎรทิ้งเมืองอู่ทองไปหาที่สร้างเมืองใหม่ ในที่สุดพระเจ้าอู่ทองก็สร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1893
ตรงนี้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนหมด แต่ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย ไม่แก้ไข ไม่เปลี่ยนยังคงดันทุรังครอบงำผิดๆต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ผมเคยเขียนบอกหลายครั้ง (ล่าสุด เมื่อวันพุธที่ 3 มิถุนายน 2552) ว่าเมื่อศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ. 2507 พบหลักฐานใหม่ยืนยันหนักแน่นว่าเรื่องพระเจ้าอู่ทองที่สุพรรณบุรี เป็นนิทานประจำถิ่นนั้น ไม่มีตัวตนจริง และไม่ใช่กษัตริย์สถาปนากรุงศรีอยุธยา
กษัตริย์สถาปนากรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1893 มีพระนามทางการว่า “สมเด็จพระรามาธิบดี” เชื้อสายละโว้-อโยธยาศรีรามเทพ หมายความว่ามีบรรพชนเป็น“ขอม”(คือเขมร) เมืองละโว้ที่จังหวัดลพบุรี
ส่วน“โรคห่า”ระบาดครั้งนั้น เป็นเรื่องจริง แต่ไม่ใช่อหิวาตกโรคอย่างที่เข้าใจ หากเป็นกาฬโรค ผมเขียนไว้ในหนังสืออยุธยายศยิ่งฟ้า (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2543) ความว่า
“ถ้าพิจารณาปรากฏการณ์ของโลกแล้ว จะพบว่าช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 (หรือหลัง พ.ศ. 1800) เกิดโรคระบาดที่ประเทศจีน แล้วกลายเป็นกาฬโรคระบาดไปทั่วโลก เพราะหนูเป็นพาหะอาศัยไปกับสำเภาบรรทุกสินค้า เอากาฬโรคไปแพร่ตามเมืองท่าต่างๆที่เรือแวะจอดด้วย
มีหลักฐานว่ากาฬโรคจากเมืองจีนระบาดไปถึงตะวันออกกลางและยุโรประหว่าง พ.ศ. 1890-1893 เป็นเหตุให้มีผู้คนล้มตายนับล้านๆคน จนยุโรปเกือบร้าง
จะเห็นว่าช่วงเวลาที่กาฬโรคระบาดจากเมืองจีนไปถึงยุโรป ตรงกับเวลาในตำนานและพงศาวดารเรื่องพระเจ้าอู่ทองหนีโรค ‘ห่า’ แล้วสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893”
โรคห่ากาฬโรคเมื่อหลัง พ.ศ. 1800 นี่เอง ทำให้คนชั้นสูงมีอำนาจที่อยู่หนาแน่นในเมืองต่างก็ล้มหายตายกว่า หลังจากนั้นคนกลุ่มใหม่มีอำนาจขึ้นแทน แล้วมีรัฐใหม่ๆเกิดขึ้น
กาฬโรคจากเมืองจีนยังแพร่กระจายในสมัยหลังอีก เช่น สมัยรัชกาลที่ 5 กรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง มีในเอกสารเก่า (สำเนาพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ขณะทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ร.ศ. 116 พิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 14 ร.ศ. 116) เรื่องห้ามเรือจากซัวเถาเข้ากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2440 ว่า “กาฬโรค (คือโรคห่า) ได้เกิดขึ้นที่เมืองซัวเถานั้น……กำปั่นลำหนึ่งลำใดออกจากเมืองซัวเถาและจะเข้ามาในกรุงนี้ ต้องหยุดทอดสมอที่เกาะไผ่ในกำหนดเก้าวันเต็มแล้ว และถ้าแพทย์ได้ตรวจแจ้งว่ากาฬโรค……ไม่ได้มีและได้เกิดในเรือนั้นแล้ว จึงจะยอมให้กำปั่นลำนั้นเดินต่อไปจนถึงที่จอดในกรุงนี้ได้”
วัดสระเกศที่นำศพคนตายจากห่ามาทิ้ง
ถึงตรงนี้ถ้าเพื่อนๆ ได้เคยอ่านเรื่อง รัชกาลที่ 5 กับการกำเนิดประปาไทย 100 ปีที่น่าอ่าน เมื่อสักสี่ห้าวันที่ผ่านมา
ก็พอจะทราบได้ว่าเพราะตอนนั้นมีโรคระบาดและในหลวงทรงห่วงใยประชาชน จึงได้ริเริ่มจัดทำประปาขึ้นในบ้านเรา
ขอบคุณเนื้อเรื่อง สุจิตต์ วงษ์เทศ