นกอัลบาทรอส (Albatross) มหัศจรรย์แห่งท้องฟ้าและมหาสมุทร
สวัสดีครับเพื่อนๆ วันนี้ผมมีเรื่องนกอัลบาทรอสมาฝาก ความสามารถในการบินที่เหนือกว่านกทุกสายพันธุ์บนโลกใบนี้ ความรักที่สุดแสนโรแมนติกรักเดียวจนวันตาย และความน่ารักของมัน ทำให้ผมต้องตั้งชื่อเรื่องว่า อัลบาทรอสมหัศจรรย์แห่งท้องฟ้าและมหาสมุทร เรามาติดตามเรื่องราวของเจ้านกสายพันธุ์นี้กันดีกว่าครับ
นกอัลบาทรอส (Albatross) มีอยู่ด้วยกันราว 20 ชนิด นับตั้งแต่พันธุ์ ชูตี อัลบาทรอส (Sooty Albatross ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Phoebetria fusca) ที่มีขนาดเท่ากับนกนางนวล ไปจนถึงพันธุ์ยักษ์อย่างวอนเดอริ่ง อัลบาทรอส (Wondering Albatross ชื่อทางวิทยาศาสตร์ก็คือ Diomedes exulans) ที่มีปีกยาวเป็นสถิติถึง 3.35 เมตร นกอัลบาทรอสบินได้ไกลและนานกว่าสัตว์อื่นๆ ในตระกูลนก การติดตามโดยใช้ดาวเทียมเผยให้เห็นว่า นกอัลบาทรอสบางตัวใช้เวลาบินรอบโลกไม่ถึง 2 เดือน และสามารถลอยตัวอยู่บนอากาศได้นานถึง 6 วัน โดยไม่ต้องกระพือปีกเลย (ระยะทางรอบโลกประมาณ 40,000 กม.) มันไม่ได้บินอยู่บนท้องฟ้าเหมือนนกนักล่าชนิดอื่นๆ แต่กลับบินอยู่ใกล้ผิวทะเลโดยใช้ลมจากคลื่นมาช่วยในการพยุงการบิน ช่วงเวลาที่นกอัลบาทรอสต้องใช้พลังงานในการบินมากที่สุดคือ ตอนที่มันจะบินขึ้นสู่ท้องฟ้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวที่ต้องกระพือปีกอย่างสุดกำลัง
เมื่อลูกนกวอนเดอริง อัลบาทรอส สามารถบินขึ้นสู่ท้องฟ้าได้แล้ว มันจะไม่กลับเข้าฝั่งเลยจนกว่าจะพร้อมทำการผสมพันธุ์ ซึ่งนั่นต้องใช้เวลาอีก ราวๆ 10 ปี มันจับปลา ปลาหมึก และกุ้งฝอยเป็นอาหาร ด้วยการดำดิ่งลงไปในท้องทะเลหรือคีบขึ้นจากผิวน้ำ มันหลับขณะบินอยู่ โดยสมองแต่ละข้างจะทำงานสลับกันไป ผมเชื่อว่าเวลาพักผ่อนร่างกายส่วนหนึ่งน่าจะอยู่ที่ท้องทะเล เพราะมันสามารถลอยคออยู่ในมหาสมุทรได้
นกอัลบาทรอสวัยรุ่นจะใช้เวลาหลายปีในการเผ้ามองเหล่านกรุ่นพี่เพื่อเรียนรู้รายละเอียดของการเต้นระบำหาคู่ที่ใช้จะงอยปากกระทบกัน เมื่อนกอัลบาทรอสพบคู่ของมันแล้ว พวกมันจะเป็นคู่กันไปตลอดชีวิต โดยจะพัฒนาภาษากายเฉพาะคู่ขึ้นเพื่อใช้ทักทายเวลาพบกันอีกครั้งหลังจากแยกกันไปนาน เพื่อนลองนึกภาพตามดูนะครับ ต้องจากกันไปเพื่อหาอาหารหรือท่องเที่ยวผมก็ไม่แน่ใจ หรือมันจะกลับมาพบกันอีกครั้งในช่วงฤดูผสมพันธุ์ก็เป็นได้นกอัลบาทรอสวางไข่แค่ครั้งละ 1 ฟองทุกๆ สองปี โดยพ่อแม่จะสลับกันทำหน้าที่กกไข่ในรังและบินออกไปหาอาหาร โดยปกติแล้ว นกอัลบาทรอสจะบินได้ไกลถึง 1,600 กิโลเมตร เพื่อสะสมอาหารไว้จนเต็มปากสำหรับลูกของมัน อาหารแข็งจะถูกขย้อนออกมา แต่ถ้าเป็นการเดินทางที่ยาวนาน อาหารนี้สามารถเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำมันที่อุดมไปด้วยโปรตีนเข้มข้นที่เก็บไว้ในกระเพาะน้ำมันนี้สามารถใช้แทนน้ำได้ในเวลาที่มันกระหายน้ำ หรือขย้อนออกมาเป็นสมูตตี้ปลาที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารสำหรับลูกนกก็ได้
นกอัลบาทรอส สามารถมีชีวิตอยู้ได้นานถึง 60 ปีแต่ขยายพันธุ์ช้ามากจนเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ภายในศตวรรษหน้า ภัยคุกคามสำคัญของมันคือการทำประมงเบ็ดราว ในแต่ละปี มีนกอัลบาทรอสกว่า 100,000 ตัวที่ตายเพราะติดสายเบ็ดที่วางไว้เป็นล้านๆ เพื่อจับปลาทูน่า อีกเรื่องที่สำคัญคือมันเป็นนกที่เชื่องกับคนมาก
“บทกวีของกะลาสีชรา (The Rime of the Ancient Mariner)” ซึ่งเป็นบทกวีที่ซามูเอล เทย์เลอร์ โคเลอดริดจ์ เขียนขึ้นในปี 1798 ได้สร้างความเชื่อที่ว่า การฆ่านกอัลบาทรอสจะนำโชคร้ายมาให้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กะลาสีเรือชาวอังกฤษฆ่าและกินพวกมันอยู่ประจำ แถมยังเอากระดูกมาทำกล้องยาสูบและเอาเท้ามาทำกระเป๋าเงินอีกด้วย ความเชื่ออีกอย่างที่แพร่หลายคือ นกอัลบาทรอสคือจิตวิญญาณของกะลาสีเรือที่จมน้ำตาย ซึ่งกลับมาเกิดใหม่ จนถึงทุกวันนี้ นักประมงชาวสก็อตส่วนหนึ่งยังกลัวที่จะใช้ไม้ขีดไฟยี่ห้อ สวอน เวสต้า เพราะรูปนกที่อยู่บนกล่องดูคล้ายกับนกอัลบาทรอส
ชีวิตเสรีมีอิสระเหนือท้องฟ้าและมหาสมุทรกับความรักที่เป็นนิรันดร์...ช่างน่าอิจฉาจริงๆ เพื่อนๆ ว่าไงครับ ส่วนภาพด้านล่างก็เป็นภาพสวยๆ ของอัลบาทรอสให้ชมกันเพลินๆ แล้วพบกันใหม่นะครับ...mata
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
ของคุณภาพประกอบโดย http://www.ejphoto.com/, Google.co.th, http://simbania.wordpress.com/2011/02/14/animal-of-the-day-%E2%80%93-2142011-%E2%80%93-the-albatross/ youtube.com
ที่มา: http://bicycle2011.com, wikipedia.org,