บทพาหุง สำคัญอย่างไร ทำไมจึงนิยมใส่บาตร ขณะพระสวดถึงบทนี้ ?
พิธีทำบุญตักบาตรในตอนเช้า ที่มีพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ เป็นที่สังเกตว่า พอพระสงฆ์สวดถึงบทพาหุง พิธีกรจะเชิญเจ้าภาพใส่บาตรทันที เพราะเหตุใด ใส่ช่วงอื่นได้ไหม
ผู้ที่ทำบุญตักบาตร ทุกคนก็ต้องการบุญกุศล และมีความเชื่อว่า ตักบาตรถูกเวลา ก็จะได้บุญกุศลเพิ่มมากขึ้น มีความเชื่อมาตั้งแต่โบราณว่า ตักบาตรขณะที่พระสงฆ์สวดมาถึงบทพาหุง ซึ่งเป็นบทชัยมงคลคาถา ก็จะเพิ่มบุญบารมีมากขึ้น คนโบราญให้เหตุผลว่า บทพาหุง ซึ่งมี 8 บท หรือ 8 คาถา แต่ละบทแต่ละคาถา ล้วนพรรณนาพระบารมีของพระพุทธเจ้า ที่ทรงเอาชนะมาร ชนะศัตรูผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ โดยไม่ต้องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ใด ๆ ชนะแล้วชนะเลย ผู้ที่เป็นมาร เป็นศัตรู ก็กลับมาเป็นมิตรเกือบะทั้งหมด
บทพาหุงในแต่ละบท จะลงท้ายด้วยคำว่า ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ซึ่งแปลว่า " ด้วยเดชแห่งชัยชนะของพระพุทธองค์นั้น ขอชัยมงคลทั้งหลาย จงบังเกิดแก่ท่าน " เสมือนเป็นการให้พรแก่ทุกคนที่กำลังตักบาตรอยู่นั้น การสวดพาหุงจึงเรียกอีกอย่างว่า สวดถวายพรพระ คือสวดยกย่องเชิดชูพระบารมีของพระพุทธเจ้า การยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง เชิดชูผู้ที่ควรเชิดชู ถือว่าเป็นมงคลสุดประเสริฐ ตักบาตร หรือใส่บาตร ในตอนที่พระสวดถึงบทพาหุงนั้น จึงเป็นการเพิ่มพูนบุญบารมีให้มากยิ่งขึ้น ตามความเชื่อมาตั้งแต่โบราณกาล
มารู้จักเนื้อหาบทพาหุง บทที่ 1 พอสังเขปครับ ในบทที่ 1 เป็นเหตุการณ์ช่วงผจญมาร ซึ่งมีเรื่องว่า ในวันตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระยามารยกพลเสนามารใหญ่หลวงมา พระยามารผู้นิรมิตแขนได้ตั้ง 1000 ถืออาวุธครบมือ ขี่ช้างชื่อ ครีเมข พร้อมด้วยเสนามารโห่ร้องมา แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สามารถเอาชนะมารได้ด้วยการระลึกถึงบารมีทั้ง 30 ทัศ ที่ทรงเคยบำเพ็ญมาในอดีต แล้วก็สามารถเอาชนะพระยามารเหล่านั้นได้










