ผลวิจัยชี้ “อาหารเช้าซีเรียล” มีรสหวานมากขึ้น และมีคุณค่าทางโภชณาการลดลงจากเมื่อก่อน
หากพูดถึงมื้อเช้าคุณจะนึกถึงเมนูอะไรเป็นสิ่งแรก? ถ้าให้นึกบางทีก็อาจจะนึกไม่ออกเพราะคนไทยเรามีมื้ออาหารเช้าที่มากมายหลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียวหมูปิ้ง อาหารตามสั่ง โจ๊กหมู ฯลฯ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอาหารเช้าที่หลาย ๆ คนรับประทานหนึ่งในนั้นมี “ซีเรียล” อยู่ด้วย หากใครที่ยังรับประทานซีเรียลเป็นอาหารเช้าอยู่ คุณสังเกตหรือไม่ว่าซีเรียลที่คุณรับประทานเริ่มมีรสชาติที่หวานขึ้นกว่าเมื่อก่อน บทความนี้จะมาพูดถึงผลวิจัยใหม่ล่าสุดที่ค้นพบว่าในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาซีเรียลที่เรารับประทานนั้นมีรสชาติที่หวานขึ้น และมีคุณค่าทางโภชนาการลดลง
นักวิจัยจากสถาบันหลายแห่งทั่วสหรัฐอเมริกาได้ศึกษาส่วนผสมของซีเรียลพร้อมทาน (RTE) ที่วางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาเมื่อช่วงปี 2010 ถึง 2023 และทำการตลาดสำหรับเด็กอายุระหว่าง 5 ถึง 12 ปี ซึ่งทำให้มีซีเรียลมากกว่าที่คาดไว้ถึง 1,200 แบรนด์ แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์ใหม่ก็ตาม จากนั้นจึงวิเคราะห์ คุณค่าทางโภชนาการของซีเรียลแต่ละหน่วยบริโภคผ่านข้อมูลฐานข้อมูล และติดตามผลเป็นระยะ ๆ การวิเคราะห์ซีเรียลพร้อมทานสำหรับเด็กที่เพิ่งออกสู่ตลาดระหว่างปี 2010 ถึง 2023 เผยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางโภชนาการที่น่ากังวล ได้แก่ การเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของไขมัน โซเดียม และน้ำตาล ควบคู่ไปกับการลดลงของโปรตีนและไฟเบอร์ ตัวอย่างเช่น ปริมาณไขมันรวมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคเพิ่มขึ้นจาก 1.13 กรัมเป็น 1.51 กรัมในช่วงเวลาการศึกษา ซึ่งเพิ่มขึ้น 33.6 เปอร์เซ็นต์ ในขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำตาล โดยเฉลี่ย เพิ่มขึ้นจาก 10.28 กรัมในปี 2010 เป็น 11.40 กรัมในปี 2023 ซึ่งเพิ่มขึ้น 10.9 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ โซเดียมก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จาก 156 มิลลิกรัม เป็น 206.1 มิลลิกรัมโดยเฉลี่ย (เพิ่มขึ้น 32.1 เปอร์เซ็นต์) แม้ว่าปริมาณโซเดียมจะเพิ่มขึ้น แต่สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพในธัญพืชกลับมีแนวโน้มลดลง โดยระดับโปรตีนและไฟเบอร์ลดลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าซีเรียลจะกลายเป็นของขบเคี้ยวที่มีรสเค็มและน้ำตาลมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉลี่ยแล้ว ซีเรียล 1 มื้อที่รวมอยู่ในผลการวิเคราะห์จะให้ปริมาณน้ำตาลมากกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำตาลที่แนะนำให้บริโภค ต่อวัน สำหรับเด็ก
กราฟแสดงถึงปริมาณของน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นในซีเรียลตามช่วงเวลา
จากผลวิจัยดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับรสชาติมากกว่าคุณค่าทางโภชนาการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และนั่นอาจจะส่งผลทำให้เกิดโรคอ้วนในเด็ก ซึ่งปัจจุบันโรคอ้วนในเด็กในสหรัฐอเมริกาส่งผลกระทบต่อเด็ก 1 ใน 5 คนและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของหลอดเลือดและหัวใจในระยะยาวอีกด้วย
แม้ผลวิจัยนี้จะถูกศึกษาเพียงแค่ในสหรัฐอเมริกา แต่การศึกษาครั้งนี้อาจจะช่วยสร้างความตระหนักถึงการบริโภคอาหารของเราได้ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ประเทศอะไร นอกจากนี้การอ่านส่วนประกอบข้างกล่องก่อนรับประทานก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยเซฟสุขภาพของเราไปได้ไม่มากก็น้อย






