ภูมิแพ้อาหารแฝง คืออะไร? แตกต่างกับ การแพ้อาหารแบบทั่วไป อย่างไร?
ภูมิแพ้อาหารแฝง กับ แพ้อาหาร แตกต่างกันอย่างไร
การแพ้อาหารแบบทั่วไป ส่วนใหญ่จะมีอาการแบบเฉียบพลัน หรือภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารบางอย่างเข้าไป เมื่อร่างกายรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไปเพียงเล็กน้อย จะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานเกินกว่าปกติ โดยร่างกายจะเข้าใจผิดว่าสิ่งที่รับประทานเข้าไปเป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงเกิดปฏิกิริยาแบบเฉียบพลัน อาการอาจเกิดขึ้นเพียงระบบเดียว หรือหลายระบบได้ และค่อนข้างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่างเช่น เกิดผื่นคันตามร่างกาย ปากบวม ตาบวม อาเจียน หากมีอาการรุนแรงอาจเกิดภาวะช็อก หายใจติดขัด จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
ภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง เมื่อร่างกายได้รับอาหารที่แพ้เข้าไปจะมาก หรือเล็กน้อยมักจะไม่แสดงอาการในทันที และมีอาการหลากหลาย เกิดอาการเมื่อผู้ป่วยรับประทานอาหารชนิดนั้นซ้ำ ๆ ทำให้มีอาการเรื้อรังโดยที่ไม่รู้ตัว ภาวะนี้ไม่สามารถกินยาแก้แพ้เพื่อลดอาการได้ ทำให้ไม่มียารักษาโดยตรงนอกจากรักษาตามอาการ และเลี่ยงอาหารที่แพ้จะสามารถดีขึ้น และกลับมารับประทานได้ หากเราเลี่ยงอาหารนั้นเป็นเวลาช่วงหนึ่ง โดยเฉลี่ยประมาณ 6 เดือน
อาการของภูมิแพ้อาหารแฝง อย่างเช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง ปวดไมเกรน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และปวดตามข้อต่าง ๆ อ่อนเพลีย ท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง ท้องผูกสลับกับท้องเสีย เป็นสิวอักเสบตามร่างกาย เช่น ใบหน้า ตามตัว บริเวณหลัง และแขนขา
รู้ได้อย่างไรว่า เป็นภูมิแพ้อาหารแฝง
หากสำรวจตัวเองแล้วเป็นไปตามอาการในข้างต้น ลองหลีกเลี่ยงอาหารที่ต้องสงสัยแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรมาปรึกษาแพทย์ตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง เพื่อให้ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
ปัจจุบันทราบได้โดยเข้ารับการตรวจเลือด การทดสอบเลือดสำหรับสารก่อภูมิแพ้อาหาร IgG การตรวจเลือดช่วยให้เรารู้ว่า การแพ้อาหารที่แอบแฝงอยู่นั้นเป็นอาหารชนิดใด วิธีการ คือ ส่งเลือดเข้าไปตรวจ วิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะรายงานผลการตรวจออกมาเป็นระดับการแพ้อาหารแต่ละรายการ เพื่อให้เราได้ป้องกันและหลีกเลี่ยงจากภัยแฝงต่างๆ ของโรคที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้
อ้างอิงจาก: https://www.phyathai.com/th /article/3969-ภูมิแพ้อาหารแฝง__กับ_อ?srsltid=AfmBOopjkHYjMVIPK_laM4e5oNLS9gc2si5T4qQEK_guMajaoRuqh9gs
https://www.nakornthon.com/article/detail/ภูมิแพ้อาหารแฝง-ภาวะต้องสงสัยของอาการผิดปกติหลายอย่าง




















