9 พฤติกรรมเหล่านี้ที่ทำบ่อย ๆ อาจเสี่ยงทำร้าย ‘สุขภาพหัวใจ’ ควรหลีกเลี่ยงก่อนสายเกินแก้
แม้โรคหัวใจ จะพบมากในผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบันพบว่าคนที่อายุยังน้อย หรือ วัยรุ่น มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้มากเช่นกัน บางคนอายุ 30 - 35 ปี ก็อาจป่วยเป็นโรคหัวใจ ส่วนใหญ่มักเกิดจากความผิดปกติที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด รวมทั้งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การไม่ดูแลสุขภาพที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ
รวมพฤติกรรมทำร้ายสุขภาพหัวใจของคนวัยทำงาน
1.กินเค็ม ชอบกินอาหารแช่แข็ง การกินเค็ม และ การบริโภคโซเดียมมากกว่า 5 กรัมต่อวัน ที่มาจากเครื่องปรุงรส เช่น ซีอิ๊ว น้ำปลา ซอสมะเขือเทศ หรือ อาหารเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น ตลอดจนอาหารแช่แข็ง ที่มักรวมอยู่ในลิสต์เมนูยอดนิยมของวัยทำงาน
2.ดื่มชา กาแฟ ทุกวัน การบริโภคน้ำตาลที่เหมาะสม คือ ไม่ควรเกินวันละ 6 ช้อนชาต่อวัน แต่ในปัจจุบันเมนูยอดฮิตที่เสพติดกันทุกช่วงวัย โดยเฉพาะวัยทำงานที่ชอบดื่มชา กาแฟ ถ้าในหนึ่งวันคุณดื่มชา หรือ กาแฟในตอนเช้า 1 แก้ว และ ตอนบ่ายอีก 1 แก้ว ยังไม่นับปริมาณน้ำตาลในอาหารตามสั่งที่กิน แค่นี้ก็รับน้ำตาลเข้าร่างกายเกินกว่าที่องค์การอนามัยแนะนำ
3.การกินอาหารฟาสฟู้ดมากเกินไป วัยทำงานที่มีวิถีชีวิตเร่งรีบตลอดเวลา อาหารฟาสฟู้ด มักเป็นตัวเลือกอัน ดับต้น ๆ โดยปริมาณน้ำมันที่แนะนำในการกินต่อหนึ่งวัน ไม่ควรเกิน 6 ช้อนชา ซึ่งในน้ำมัน 1 ช้อนชา จะมีไขมันอยู่ประมาณ 5 กรัม เท่ากับว่าควรได้รับไขมันไม่เกิน 30 กรัมต่อวัน ส่วนในอาหารฟาสฟู้ด 1 จาน จะมีไขมันสูงเกินกว่านั้นมาก
4.กินอาหารที่มีไขมันสูง ไขมันทรานส์ อาหารคอเลสเตอรอลสูง เช่น เค้ก เบเกอรี่ เนื้อสัตว์ติดมัน ชีส ขาหมู หมูสามชั้น หนังสัตว์ทอด แกงกะทิ อาหารปิ้งย่าง เมื่อกินเข้าไปในปริมาณมาก ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง คอเลสเตอรอลสูงจนไปอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หลอดเลือดตีบ และ อุดตัน เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้
5.คลายเครียดกลับด้วยการสูบบุหรี่ ภาวะความเครียดสูงมีอีกหลายคนที่หันมา สูบบุหรี่ แก้เครียด ซึ่งจากรายงานการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 2.4 เท่า และ โดยเฉลี่ยการสูบบุหรี่ยังส่งผลให้หลอดเลือดเสื่อม เกิดการตีบตันเร็วกว่าปกติถึง 10-15 ปี
6.ชอบชนแก้วทุกวันหลังเลิกงาน หนุ่มสาววัยทำงานที่เสพติดการปาร์ตี้ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยด่วนเพราะ การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโอกาสเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ มากมาย โดยการดื่มแอลกอฮอล์เกินวันละ 3 แก้ว อาจทำให้เกิดภาวะอ้วน นำไปสู่โรคความดันโลหิตสูง ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง เสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดสมองตีบ แตก หรือ หัวใจล้มเหลว
7.นอนน้อย ทำงานโต้รุ่ง การทุ่มเททำงานหนักจนยอมอดหลับอดนอน อาจจะดีต่อความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ไม่ดีต่อสุขภาพร่างกาย และ หัวใจ การนอนหลับพักผ่อนนั้นเพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอ ปรับระบบฮอร์โมนต่าง ๆ ให้สมดุล รวมทั้งควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ และ ระดับความดันของเลือดให้เป็นปกติ การที่พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือ น้อยกว่า 6 ชั่วโมง/วัน เสี่ยงป่วยเป็นโรคหัวใจ เพราะจะทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งทำให้เสี่ยงเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น อาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน หรือ หัวใจวาย
8.น้ำหนักเกิน ภาวะอ้วน การปล่อยน้ำหนักเกินมาตรฐาน ซึ่งมีค่า BMI มากกว่า 30 มีอัตราเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง และ เป็นอันตรายต่อการทำงานของหัวใจอย่างมาก ตั้งแต่ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ มักจะเกิดจากการมีไขมันเกาะในหลอดเลือดมาก ส่งผลให้การไหลเวียนโลหิตติดขัด กระทั่งหัวใจขาดเลือด และ เสียชีวิตอย่างกะทันหัน นอกจากนี้ภาวการณ์อ้วนลงพุง โดยผู้หญิงที่มีรอบเอวมากกว่า 40 นิ้ว ผู้ชายที่มีรอบเอวมากกว่า 45 นิ้ว ควรระวังเป็นพิเศษ
9.ขาดการออกกำลังกาย คนที่ไม่เคยออกกำลัง มักทนต่อการทำงานหนักไม่ไหว เมื่อใดที่อยู่ในภาวะหัวใจต้องทำงานหนักแต่หัวใจรับไม่ไหว จะทำให้หัวใจล้มเหลวได้ ซึ่งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพียงวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน เป็นตัวช่วยให้หัวใจได้ออกกำลัง เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับหัวใจ พร้อมทำงานหนักได้มากขึ้น
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว การออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ ลดอาหารไขมันสูง รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เท่านี้ก็จะลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ แต่หากพบว่ามีอาการเหนื่อย หายใจติดขัด แน่น เจ็บหน้าอก ชีพจรเต้นอ่อน เต้นเร็ว มีเหงื่อออกมาก ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจทันที

















