ตำนานนางเงือกตนแรกของโลก อาทาร์การ์ติส เทพีแห่งเมโสโปเตเมีย
ตำนานนางเงือกตนแรกของโลกมีต้นกำเนิดจากอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ไม่ใช่กรีกหรือโรมันอย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้ นางเงือกตนแรกนี้มีชื่อว่า อาทาร์การ์ติส (Atargatis) เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ผืนดิน และผืนน้ำของชาวอัสซีเรีย ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของซีเรียในปัจจุบัน ชื่อของนางมีความหมายว่า "เทพี" หรือ "สตรีแห่งท้องทะเล" ในภาษาเซมิติก
ตำนานเล่าว่าอาทาร์การ์ติสถือกำเนิดจากไข่ที่ตกลงในแม่น้ำยูเฟรทีส โดยมีปลาช่วยดันไข่ขึ้นฝั่งและนกพิราบช่วยฟักจนนางถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับใบหน้าสวยงามและผมยาวสยาย ว่ากันว่านางได้ตกหลุมรักกับคนเลี้ยงแกะจนตั้งครรภ์ ด้วยความรู้สึกผิดที่ผิดศีลในฐานะนักบวช นางจึงฆ่าสามีของตน (บางตำนานว่าสามีทนพลังเทพของนางไม่ไหวจนเสียชีวิต) ด้วยความเสียใจ นางจึงหนีลงน้ำและกลายร่างเป็นครึ่งคนครึ่งปลา
เรื่องราวของนางยังคงดำเนินต่อไปในตำนานของชาวโรมัน ซึ่งเรียกนางว่า เดซูร่า (Dea Sura) เล่าว่าหลังจากฆ่าสามี อาทาร์การ์ติสได้ให้กำเนิดลูกสาวชื่อ เซมิรามิส (Semiramis) ด้วยความรู้สึกผิด นางตั้งใจจะกระโดดน้ำตาย แต่เทพองค์หนึ่งเสียดายความงามของนาง จึงเสกให้นางกลายเป็นนางเงือกและยกสถานะเป็นเทพี ส่วนเซมิรามิสได้รับการเลี้ยงดูจากนกพิราบและคนเลี้ยงแกะ จนเติบโตเป็นราชินีแห่งบาบิโลน
สัญลักษณ์ประจำตัวของอาทาร์การ์ติสคือปลาและนกพิราบ ปลาเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และผืนน้ำ ส่วนนกพิราบเป็นตัวแทนของความงามและความรัก นอกจากนี้ยังมีข้าวบาร์เลย์ ดอกไม้ และฝักข้าวโพดที่เป็นสัญลักษณ์เกี่ยวข้องกับนาง ในการบูชาเทพีองค์นี้ ชาวอัสซีเรียสร้างวิหารที่มีบ่อเลี้ยงปลา และผู้ที่ต้องการขอพรจะต้องลงไปในน้ำอธิษฐาน หากพรสำเร็จก็จะแก้บนด้วยการให้อาหารปลา
แม้ว่าอาทาร์การ์ติสจะเป็นเทพีที่ได้รับการบูชาอย่างกว้างขวางในแถบเมดิเตอร์เรเนียน แต่เมื่อเทพเจ้ากรีก-โรมันรุ่นใหม่ได้รับความนิยมมากขึ้น ชื่อของนางก็ค่อย ๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน เรื่องราวของนางจึงไม่ได้มีรายละเอียดความดราม่าเหมือนเทพองค์อื่น ๆ แต่ความน่าเศร้าคือการที่นางเป็นเทพีที่ถูกลืมเลือนไปในที่สุด อย่างไรก็ตาม ตำนานของอาทาร์การ์ติสถือเป็นรากฐานความเชื่อแรกเริ่มเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตครึ่งคนครึ่งปลา หรือนางเงือกที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน
นอกจากอาทาร์การ์ติสแล้ว ยังมีตำนานนายเงือกตนแรกของโลกที่เก่าแก่กว่า คือ เออา (Ea) เทพแห่งท้องทะเลของชาวบาบิโลเนียน แต่เนื่องจากมีเรื่องราวน้อยกว่า จึงเลือกนำเสนอเรื่องราวของอาทาร์การ์ติสให้ทุกคนได้ฟังกัน

















