รีวิวหนังสือ เก่งด้วยศาสตร์ ชนะขาดด้วยศิลป์
ในการทำงานแต่เดิมเราเน้นไปที่ศาสตร์ สิ่งที่เราเรียนรู้อัดเข้าไปในสมองเพื่อที่เราจะได้เอาข้อมูลทั้งหมดมาเชื่อมโยงกัน แล้วประยุกต์แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น สิ่งนี้ถือเป็นตรรกะ เป็นเหตุเป็นผลที่ AI สามารถคาดเดาและคิดคำนวณแทนได้ เพราะเป็นรูปแบบการทำงานเรื่องเดิมๆ
แต่การจะมีศิลป์ หรือคิดอย่างสร้างสรรค์จนนำไปสู่สิ่งใหม่ๆยังเป็นสิ่งที่บางคนทำไม่ได้และรู้สึกขัดแย้งในตัวเองเสียด้วยซ้ำ การอยู่รอดในยุคนี้คือคนที่สามารถนำศาสตร์และศิลป์มาผนึกรวมกันกับการทำงานได้อย่างลงตัว
ยามางุจิ ชู ที่ปรึกษาธุรกิจชาวญี่ปุ่นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้จะมาให้ความเข้าใจในเรื่องของศาสตร์และศิลป์จะเข้ามารวมกันในการทำงานของเราได้อย่างไรบ้าง แปลโดย ฉัตรขวัญ อดิศัย
ความรู้ความประทับใจในมุมมองของครีเอเตอร์
- ได้เรียนรู้ว่าเวลาเราต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง”เราจะมีวิธี ตัดสินใจ 2 แบบ ได้แก่ตรรกะ และเหตุผล” กับ ใช้ “อารมณ์ และสัญชาตญาณ
- ได้เรียนรู้ว่าเวลาตัดสินใจเรื่องธุรกิจ คนญี่ปุ่นชอบใช้ตรรกะ และเหตุผล” มากกว่า “สัญชาตญาณ และอารมณ์ แต่จริงๆ แล้วใช้ตรรกะ และเหตุผลไม่ได้แปลว่าเราเฉลียวฉลาดกว่าแต่อย่างใด แต่สะท้อนให้เห็นว่าคนญี่ปุ่นชอบไหลไปตามบรรยากาศที่ผู้มีอำนาจสร้างขึ้นแล้วก็ตัดสินใจกันแบบงงๆ
- ได้เรียนรู้ว่าหลายครั้งเราต้องเจอกับปัญหาที่ซับซ้อนและยังคาดการณ์อะไรไม่ได้ แต่เราก็ต้องตัดสินใจอะไรสักอย่างอยู่ดี ถ้าเราตัดสินใจโดยนิ่ง ตรรกะเหตุผลแล้วเจอทางตัน ให้เราลองสลัด ตรรกะและเหตุผลออกไปแล้วลองหันมาใช้สัญชาตญาณกับอารมณ์แทน
- ได้เรียนรู้ว่าศิลป์ : จะช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้เราได้มองสิ่งต่างๆโดยใช้สัญชาตญาณ ซึ่งคนที่ได้เห็นจะรู้สึกตื่นเต้นตามไปด้วย
- ศาสตร์ : จะช่วยวิเคราะห์และประเมินอย่างเป็นระบบเพื่อสนับสนุนสิ่งที่เกิดจาก “ศิลป์”
- คราฟต์ (ความเชี่ยวชาญ) : จะช่วยเพิ่มความสามารถในการลงมือทำ เพื่อช่วยให้ “ศิลป์” ที่คิดไว้เป็นจริงขึ้นมาด้วยประสบการณ์และความรู้
- ได้เรียนรู้ว่าถ้าเราอยากตัดสินใจได้ดี เราต้องใช้ตรรกะและสัญชาตญาณให้สมดุลกัน แต่ปัจจุบันคนเราให้น้ำหนักกับตรรกะและเหตุผลมากจนเกินไป
- ได้เรียนรู้ว่าอารมณ์สำคัญกว่าเหตุผล เพราะต่อให้เราจะมีวิสัยทัศน์ที่สมเหตุสมผลเพียงใด แต่ถ้าไร้แรงบันดาลใจที่ทำให้คนฟังรู้สึกตื่นเต้นและอยากมีส่วนร่วมก็เรียกว่าวิสัยทัศน์ไม่ได้
- ได้เรียนรู้ว่าทักษะสำคัญที่จะช่วยให้เรารับมือกับปัญหายากๆในอนาคตได้ คือ การรู้จักความต้องการทางอารมณ์ของตัวเอง
- ได้เรียนรู้ว่าถ้าอยากมีชีวิตที่สมบูรณ์มีความสุข เราต้องมีอารมณ์ศิลป์ร่วมด้วย เพื่อให้เราสามารถประเมินตัวเองในแง่มุมต่างๆที่ไม่ใช่แค่การปั่นฟันเฟืองในการทำงาน
- ได้เรียนรู้ว่าเราต้องยืนหยัดในแนวทางของเราไปพร้อมกับการปรับตัวให้เข้ากับข้อเรียกร้องของระบบ เพราะมีแค่คนที่ปรับตัวให้เข้ากับระบบได้จึงจะเปลี่ยนแปลงระบบได้
- ได้เรียนรู้ว่าแทนที่เราจะทำงานตามคำสั่งโดยไร้ความรู้สึก เราควรมี Sense ความดีงามในการใช้ชีวิตและยึดมั่นในหลักการของตัวเอง ไม่ไหลไปตามระบบทุกอย่าง แต่คิดและทำตามสิ่งที่เราเชื่อด้วย
- ได้เรียนรู้ว่าบริษัทที่จะอยู่รอดและเติบโตในอนาคตต้องสร้างสรรค์สินค้าได้เอง ไม่ใช่คอยถามตลาดและเดินช้าตามหลังคู่แข่งไปก้าวหนึ่งเสมอ จุดนี้เองที่ความสามารถด้านศิลป์จะสำคัญขึ้นมา
- ได้เรียนรู้ว่าผู้นำที่ใช้ Sense ในการตัดสินใจจะต้องแบกรับความรับผิดชอบที่สูงกว่าและต้องมั่นใจว่า Sense ของตนนั้นดีพอ
- ได้เรียนรู้ว่าถ้าเรามัวแต่ตัดสินความงามจากการสำรวจตลาดก็คงไม่ทันคู่แข่ง เราจะเจอคู่แข่งที่นำเสนอของใหม่กว่า ลูกเล่นเยอะกว่า สวยกว่า น่าตื่นเต้นกว่าอยู่เสมอ
- ได้เรียนรู้ว่าสมัยนี้ลูกค้ากำลังมองหาและบริการที่ตอบสนองความต้องการด้านอารมณ์ของพวกเขามากกว่าประโยชน์ด้านการใช้งานและราคา ศิลป์จะกลายเป็นจุดแข็งสำคัญให้กับบริษัทต่างๆเพื่อแข่งขันกันในตลาดนี้
- ได้เรียนรู้ว่าศาสตร์กับศิลป์ อาจไม่ใช่ขั้วตรงข้ามอย่างที่เราคิด ต่อให้มีอยู่ในตัวคนเดียวกัน ทั้งสองสิ่งอาจส่งเสริมกันและกัน และช่วยให้คนนั้นมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดขึ้น
อารมณ์ ถือเป็นศิลป์อย่างหนึ่ง ส่วนตรรกะและการคำนวณตัวเลขเป็นศาสตร์ที่ใครๆก็เรียนตามทันกันได้ ถ้าได้รับการสอนด้วยความเข้าใจที่มากพอ แต่การที่ AI มาแก้ปัญหาตรงนี้ให้แล้ว ศิลป์ที่เราควรมีจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องฝึกฝนพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ จะได้ไม่ด้อยไปกว่า AI
เป็นการปรับตัวอย่างหนึ่งของการศึกษาหาความรู้เลยก็ว่าได้ จริงอยู่ ศาสตร์ต่างๆถือว่ายังมีความจำเป็นอยู่ มิฉะนั้นเราจะไม่เข้าใจอะไรเลย แล้วจะตัดสินใจแก้ปัญหาแต่ละครั้งไม่ได้ AI เป็นเพียงผู้ช่วยให้เราทำงานง่ายขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าเราไม่มีศิลป์อยู่ในใจบ้างเลย เราจะแพ้ AI เพราะไม่มีความโดดเด่นในการทำงานนั่นเอง
















