Share Facebook LINE Twitter
หน้าแรก เว็บบอร์ด Chat ตรวจหวย ควิซ คำนวณ Pageแชร์ลิ้ง
หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ตำนานนิทานพื้นบ้าน ศรีธาตุพยานรัก วัดศรีธาตุประมัญชา (อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี)

โพสท์โดย น้องมิ่ง รัตนาภรณ์

นานมาแล้ว ยังมีนางแมวป่าตัวหนึ่งถือศีลและอาศัยอยู่ในป่าใหญ่ ได้เสาะหาผลไม้ในป่านำมาถวายท้าวเวสสุวัณ (เป็นเทพเจ้าผู้พิทักษ์โลกของชาวพุทธโบราณ เป็นเทพเจ้าแห่งยักษ์ภูตผีปีศาจและความมั่งคั่งไพบูลย์ เป็นเทวดาประจำทิศอุดร) อยู่เป็นประจำด้วยความศรัทธาและเคารพ ท้าวเวสสุวัณได้เล็งเห็นคุณงามความดีของนางแมวป่าที่ประกอบแต่กรรมดี พระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อนางมาก จึงได้พระราชทานพรให้นางหลุดพ้นจากร่างเดิมซึ่งเป็นแมว ให้กลับเป็นร่างมนุษย์ เป็นหญิงสาวที่กอปรไปด้วยความงามทั้งกาย วาจา และจิตใจ ยากที่จะหาสาวใดในโลกนี้ ที่จะมาเปรียบเทียบกับความงามของนางได้ พร้อมกับพระราชทานนามให้นางใหม่ว่า “ศรี” หมายถึงสิริมงคล ความรุ่งเรืองความงาม ความเจริญ และอวยพรให้นาง จงปฏิบัติแต่คุณงามความดี อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ชีวิตในวันข้างหน้าจะเจริญรุ่งเรืองสืบไป

ในชุมชนบ้านเดื่อ ยังมีชายหนุ่มรูปงามนามว่า “จำปี” เป็นกำพร้าพ่อแม่มาตั้งแต่เยาว์วัย แม้จะอยู่ในสภาพยากจน และตกระกำลำบากเพียงใด จำปีก็ไม่เคยท้อแท้ในชีวิต มุ่งมั่นประกอบแต่คุณงามความดีตลอดมา วันหนึ่ง วิญญาณของพ่อแม่ของจำปีได้มาเข้าฝัน เพื่อบอกลาไปเกิดใหม่ในสรวงสวรรค์ และบอกให้ลูกไปขุดใต้โคนมะเดื่อใหญ่ ที่อยู่ในสวนหลังบ้าน จะพบ “เรือทองคำกายสิทธิ์” ขนาดเล็กมาก ซุกซ่อนอยู่ในใต้โคนต้นมะเดื่อ เรือทองคำกายสิทธิ์ดังกล่าว เป็นของคู่บุญบารมีของผู้มีบุญเท่านั้น เรือลำนี้ สามารถขยายให้เป็นเรือลำใหญ่ หรือให้เล็กลงได้ ตามคำอธิษฐานของผู้เป็นเจ้าของ และสามารถเหาะเหินบนท้องฟ้าได้อีกด้วย

เมื่อตื่นขึ้น จึงได้ไปขุดตามที่ฝัน ก็พบเรือทองคำดังกล่าวตามความฝันทุกอย่าง ทำให้จำปีดีใจเป็นอย่างยิ่ง จึงนำเรือทองคำดังกล่าว เก็บไว้ในย่ามอย่างมิดชิด คงเป็นบุบเพสันนิวาสของจำปีและศรี ที่เคยทำบุญร่วมกันมาแต่ปางก่อน จึงดลบันดาลให้หนุ่มสาวทั้งสองได้พบกัน วันหนึ่งจำปีได้ออกไปหาฟืน และเก็บผลไม่ไว้เป็นอาหาร ก็ได้ยินเสียงผู้หญิงร้องขอความช่วยเหลือ จึงเข้าไปดู เห็นเสือโคร่งกำลังวิ่งไล่ศรีอยู่ จึงเข้าช่วยเหลือและต่อสู้กับเสือโคร่งจนสิ้นใจตาย ส่วนจำปีก็บาดเจ็บ จากการต่อสู้ จนแทบเอาชีวิตไม่รอดเหมือนกัน ศรีรู้สึกสำนึกในบุญคุณ ที่จำปีได้ช่วยเหลือชีวิตนางให้รอดตายในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง จึงช่วยจัดหายามาเพื่อทำการรักษาบาดแผลให้กับจำปี ในเวลาต่อมา คนทั้งสองก็สนิทสนมกัน จนกลายเป็นความรัก และตัดสินใจใช้ชีวิตคู่สามีภรรยากันอย่างมีความสุข

กล่าวถึงท้าวอุตตะราช ผู้ครองเมืองอุตตะ ได้เสด็จออกประพาสป่า ผ่านมาทางป่ามะเดื่อ ได้พบจำปี และศรี เกิดความพอใจ และหลงใหลในรูปโฉมของศรี ภรรยาจำปีเป็นอย่างยิ่ง จึงพยายามทุกวิถีทาง เพื่อให้ได้ศรีมาเป็นภรรยาของตัวเอง จนเกิดการต่อสู้เพื่อแย่งชิงนางศรีขึ้น จำปีต่อสู้กับกำลังทหารของท้าวอุตตะราชไม่ได้ จึงบอกให้ภรรยาขึ้นเรือทองคำกายสิทธิ์หนีไปก่อน และตัวเองก็ถูกจับไป เพื่อเป็นเหยื่อล่อให้นางศรีมาช่วยสามีต่อไป นางศรีได้ไปขอความช่วยเหลือจากท้าวเวสสุวัณ แต่ก็ไม่สามารถจะช่วยอะไรได้ ท้าวเวสสุวัณจึงได้แต่ปลอบใจนางว่า มันเป็นกรรมเก่าของคนทั้งสองที่ยังไม่หมดสิ้น ทุกอย่างย่อมดำเนินไปตามกฎแห่งกรรม ไม่มีใครสามารถหลีกเลี้ยงได้ จึงขอให้นางเอาธรรมะเข้าช่วย และอดทน แล้วทุกอย่างจะคลี่คลายไปเอง

นางศรีจึงได้ลาท้าวเวสสุวัณ ขึ้นเรือทองคำกายสิทธิ์ เพื่อกลับมาช่วยเหลือสามี โดยเสนอเงื่อนไขว่า ให้ปล่อยสามีของนาง แล้วนางจะยอมทำตามความต้องการ ของท้าวอุตตะราชทุกอย่าง จำปีเห็นว่า ภรรยาจะเสียท่าท้าวอุตตะราช เพราะไม่มีประโยชน์ ที่นางศรีจะมาช่วยเหลือเขา เนื่องจากเขาได้รับบาดเจ็บ จากการถูกทรมานอย่างแสนสาหัส และจำปีรู้ตัวดีว่า คงไม่รอดแน่ จึงตัดสินใจเอาศีรษะ พุ่งเข้าชนกำแพงอย่างแรง จนสิ้นใจตาย ทำให้นางศรีเสียใจอย่างมาก จึงค่อย ๆ ร่อนเรือทองคำกายสิทธิ์ ลงมาหาศพของสามีอย่างเหม่อลอย แล้วเสนอเงื่อนไขให้ท้าวอุตตะราชว่า ก่อนที่นางจะตกลงปลงใจกับท้าวอุตตะราชนั้น ขอให้จัดการพิธีศพสามีของนางให้เรียบร้อยก่อน โดยขอให้สร้างธาตุขึ้น เพื่อบรรจุอัฐิของสามีนางก่อน เพื่อความสบายใจของนาง และเป็นการขอขมาต่อสามีที่ตายไป

ท้าวอุตตะราชยอมทำตามที่นางขอ จึงได้ระดมช่างฝีมือดีเป็นจำนวนมาก มาก่อธาตุเป็นการใหญ่ จนแล้วเสร็จ นางศรี จึงแกล้งทำตามสัญญา ที่ให้ไว้กับท้าวอุตตะราช คือยอมแต่งงานด้วย และได้ชวนให้ท้าวอุตตะราช ขึ้นเรือทองคำกายสิทธิ์ พอได้โอกาส จึงผลักท้าวอุตตะราชให้ตกลงมา จนถึงแก่ความตาย ท่ามกลางความตกตะลึงของเหล่าเสนาอำมาตย์ และชาวเมืองอุตตะราช นางศรี จึงนำเรือเหาะทองคำกายสิทธิ์ลงสู่พื้นดินหน้าธาตุ ที่เก็บอัฐิของสามี อธิษฐานต่อท้าวเวสสุวัณและเทพยดาอินทร์พรหม ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ที่สิงสถิตอยู่บนพื้นพิภพ ขอยึดมั่นในรักเดียวใจเดียว และขอตายตามสามี เพื่อให้ความรักของนางเป็นอมตะ ตราบนานเท่านาน พออธิษฐานเสร็จ นางก็กลั้นใจตายตามสามี แล้วร่างของนางก็กลายเป็นแมวทองคำ เคียงข้างกับเรือทองคำกายสิทธิ์ อยู่ที่พระธาตุประมัญชาตั้งแต่นั้นมา

มีการสันนิษฐานว่า เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดี และมีใจซื้อสัตย์ต่อผู้เป็นภรรยา ชาวบ้านจึงได้นำชื่อของจำปี มาตั้งเป็นชื่อตำบล “จำปี” ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอศรีธาตุ และเพื่อแสดงถึงความรักที่เป็นอมตะของ “ศรี” จึงได้นำมารวมกับคำว่า “ธาตุ” ที่เก็บอัฐิของจำปี ผู้เป็นสามี ตั้งเป็นชื่ออำเภอว่า “ศรีธาตุ” มาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบัน องค์พระธาตุประมัญชา อยู่ที่วัดศรีธาตุประมัญชา (ป่าแมว) บ้านหนองแวง ตำบลจำปี อำเภอศรีธาตุ ห่างจากอำเภอศรีธาตุ ๖ กิโลเมตร เป็นศิลปะแบบล้านช้าง และกรมศิลากรได้บูรณะในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ตามแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่น

วัดธาตุ หรือ “วัดศรีธาตุประมัญชา” กล่าวกันว่า เสมา รวมทั้งจารึกสำคัญ “ที่บ้านจำปี ตำบลบ้านท่าไฮ อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี” แต่มีผู้เคลื่อนย้ายนำเสมาเหล่านั้น มาเก็บไว้ที่วัดศรีธาตุประมัญชา ซึ่งอยู่ห่างจากที่พบเดิมราว ๑ กิโลเมตร ได้รับการบูรณะเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๖๒ โดยพระอาจารย์ตี้ มีพระธาตุ เป็นศาสนสถานสำคัญของวัด สร้างสิมขึ้นครอบฐานอาคารเดิม โดยช่างญวน สร้างศาลาการเปรียญหลายหลัง รวมทั้งสะพานเชื่อมระว่างวัดกับหมู่บ้าน เนื่องจากมีสระน้ำขนาดใหญ่ เช่น  กุดยางทางทิศตะวันออก  สระบัวใหญ่ทางทิศตะวันตก จึงตั้งชื่อวัดนี้ใหม่ว่า  “วัดศรีธาตุประมัญชากุดสระยางคำ” เรียกสั้นๆ ว่า “วัดธาตุ” เมื่อมีการตั้งกิ่งอำเภอ จึงตั้งชื่อเป็นกิ่งอำเภอศรีธาตุ ในปี พ.ศ.  ๒๕๑๑ และอำเภอศรีธาตุในเวลาต่อมา

กล่าวกันว่า พื้นเพเดิม คนแถบนี้เป็นลาวเวียง มีเรื่องเล่าตำนานพระธาตุ ที่สัมพันธ์กับการสร้างพระธาตุพนม เช่นเดียวกับในท้องถิ่นอีกหลายแห่ง ที่กล่าวถึงการเดินทาง เพื่อนำข้าวของมีค่าไปร่วมสร้างพระธาตุพนมที่ภูกำพร้า แต่ไปไม่ทัน พระธาตุพนมสร้างเสร็จ แล้วบรรจุสิ่งของมีค่าที่พระธาตุ ที่สร้างไว้ด้านทิศเหนือวัดหนองแวงในปัจจุบัน

แต่ภายหลังวัดนี้รกร้างไป จน พ.ศ. ๒๕๑๑ วัดพระธาตุ ถูกประกาศว่า อยู่ในเขตน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ แต่ปรากฏว่า น้ำท่วมไม่ถึง เพราะเป็นปลายของแนวอ่างเก็บน้ำ จึงมีการขุดค้นและรื้อถอนขนสิ่งมีค่าต่างๆ รวมทั้งจารึกและเสมาต่างๆ ไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ขอนแก่น แต่สิ่งของที่นำไป และคำบอกเล่าจากคนในท้องถิ่น มีความขัดแย้งกัน วัดนี้ถูกบูรณะอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ และสร้างพระธาตุองค์ใหม่ขึ้นแทนพระธาตุ ที่ยังไม่ได้รับการบูรณะแต่เดิม

การสำรวจในคราวนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ อาจารย์มานิตบันทึกว่า พบหลักเสมาหินทรายปักรอบสิม ในสภาพชำรุด แตกหัก เป็นรูปสี่เหลี่ยมหนาด้านละ ๕๐ เซนติเมตร จำนวน ๔ หลัก รูปแบบแผ่นแบน กว้าง ๕๐ เซนติเมตร หนา ๓๐ เซนติเมตร จำนวน ๔ หลัก ฐานจำหลักเป็นกลีบบัว บนใบเสมาจำลักรูปสถูป เป็นลักษณะเสมาแบบทวารวดี พบเศียรพระพุทธรูปหินทราย หินบดยา

จารึกหลักนี้มีข้อความสำคัญที่ถูกอ้างอิงอยู่เสมอ เมื่อกล่าวถึงการกำหนดเขตสีมา ในทางพุทธศาสนา ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพราหมณ์ หรือนักบวชในศาสนาฮินดู และถูกอ้างอิง เมื่อกล่าวถึงการกำหนดเขตศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนาแบบเถรวาท ในยุคสมัยทวารวดีในเขตอีสาน

จารึกอักษรแบบหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต กำหนดอายุคร่าวๆ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ อ่านโดยอาจารย์ชะเอม แก้วคล้าย ความว่า

 

มาโยยติรฺวิปฺราทิปูชิตะ ศิลามิมามเสาไสมึ สฺถาปยามาส ภิกฺษุภิะ

ศุจิสํวตฺสเร ศกาทศเม ไจตฺรศุเกฺลภูตฺสีเมยํ สํฆสนฺมตา

 

คำแปล 

พระเถระรูปใด เป็นผู้อันพราหมณ์เป็นต้นบูชาแล้ว พระเถระรูปนั้น พร้อมด้วยพระภิกษุทั้งหลาย ได้สถาปนาศิลานี้ ให้เป็นสีมา

สีมานี้ อันสงฆ์สมมติดีแล้ว ได้สำเร็จ (ได้มี) ในวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ แห่งวิศิษฏกาล (เวลาอันเป็นมงคล) ในปีแห่งความสดใส

แต่เวบไซต์ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ของศูนย์มานุษยวิทยาสิริธรระบุแหล่งที่มาว่า จารึกที่พบนี้ชื่อ “ศิลาจารึกปราสาทหินพิมาย” เนื่องจากเก็บอยู่ในบริเวณปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. ๒๕๑๘ เจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติ สำรวจพบศิลาจารึก ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น ใช้ชื่อว่า “ศิลาจารึกขอนแก่น เลขที่ ขก. ๒” และเข้าใจว่า พบที่ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ แต่ย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ภายหลัง เมื่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น จึงนำมาตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ฯ 

“เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน”

 

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ หอสมุดแห่งชาติ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศิลาจารึกสถาปนาสีมา” จารึกที่พบนี้ เป็นหลักฐานสำคัญ ที่พบการกำหนดหลักเขตสีมา หรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ในทางพุทธศาสนา ในยุคทวารวดี และมีความสัมพันธ์กับความเชื่อที่มีอยู่ ในศาสนาฮินดู ตำแหน่งที่พบนั้นอยู่ที่อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี ไม่ใช่ในอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่อยู่ห่างออกไปกว่า ๑๐๐ กิโลเมตร และมีความต่าง ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น แต่ละแห่งอีกด้วย

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
มาเป็นคนแรกที่ VOTE ให้กระทู้นี้
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
อบรมเสร็จ ครูไม่ได้กลับมือเปล่า! ชาวเน็ตฮือฮาเห็นของเต็มสองมือรอยแยก "ลานหินแตก" ผาแต้ม – มหัศจรรย์ธรรมชาติแห่งอุบลราชธานีทึ่งทั่วไทย : คูเมืองเชียงใหม่ หนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของเมืองเชียงใหม่เรื่องกล้วย​ๆ ที่ไม่ใช่​แค่​กล้วย​ทึ่งทั่วไทย : "ไข่น้ำแร่แจ้ซ้อน" ไข่จาระเม็ดในตำนาน เสิร์ฟร้อนๆ พร้อมน้ำจิ้มแซ่บลืมโลก!ต้นหนุมานประสานกายแผ่นดินไหวล่าสุด อาฟเตอร์ช็อก 305 ครั้ง ไทยเจอ 11 ครั้งในรอบ 24 ชม.“คิงอับดุลลอห์สปอร์ตซิตี” แลนด์มาร์กกีฬาแห่งซาอุฯ ความยิ่งใหญ่กลางทะเลทรายประชากรแฝงในไทยพุ่ง! สธ.เผยต่างด้าวกว่า 5 ล้าน พบป่วย-ต้องเฝ้าระวัง 1.7 ล้านคน
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
แผ่นดินไหวล่าสุด อาฟเตอร์ช็อก 305 ครั้ง ไทยเจอ 11 ครั้งในรอบ 24 ชม.“คิงอับดุลลอห์สปอร์ตซิตี” แลนด์มาร์กกีฬาแห่งซาอุฯ ความยิ่งใหญ่กลางทะเลทราย
กระทู้อื่นๆในบอร์ด นิยาย เรื่องเล่า
รอยเลื่อนในประเทศไทยมีที่ไหนบ้าง อยากรู้ห้ามพลาดแผ่นดินไหวล่าสุด อาฟเตอร์ช็อก 305 ครั้ง ไทยเจอ 11 ครั้งในรอบ 24 ชม.นาคีลำโขงที่รักตอนที่12 ปรึกษาหารือพี่น้องนาคีลำโขงที่รักตอนที่11 ผู้ถูกเลือก
ตั้งกระทู้ใหม่
หน้าแรกเว็บบอร์ดหาเพื่อนChatหาเพื่อน Lineหาเพื่อน SkypePic PostตรวจหวยควิซคำนวณPageแชร์ลิ้ง
Postjung
เงื่อนไขการให้บริการ ติดต่อเว็บไซต์ แจ้งปัญหาการใช้งาน แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม ข่าวประชาสัมพันธ์ ลงโฆษณา
เว็บไซต์นี้ใช้ Cookie
เพื่อประสบการณ์ที่ดีและการใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดูข้อมูลเพิ่มเติม อ่านนโยบายการใช้งาน
ตกลง