รู้หรือไม่ ? เหล่าสัตว์โลกทั้งหลายใช้เวลา "ฉี่" กันประมาณกี่วินาที ?
เพื่อนๆเคยสังเกตกันไหมเด้อ ว่า ไม่ว่าจะเป็นคน หมา แมว ม้า หรือแม้แต่เจ้าช้างตัวมหึมา เวลาพวกมันปลดปล่อยน้ำหนักออกจากกระเพาะปัสสาวะก็ดูจะใช้เวลาพอ ๆ กัน? นักวิจัยเขาพบว่า สัตว์ที่ตัวใหญ่ ๆ ทั้งหลายใช้เวลา “ฉี่” เฉลี่ยอยู่ที่ 21 วินาที แบบเป๊ะ ๆ! ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหมาแสนรู้ แรดเขาโต หรือแม้แต่ช้างตัวเบ้อเร่อ ทุกตัวปลดปล่อยของเหลวออกจากร่างด้วยความยาวของเวลาที่แทบไม่ต่างกัน ส่วนพวกสัตว์ตัวเล็ก ๆ อย่างหนูหรือค้างคาวน่ะเหรอ? พวกนี้ไม่มีหรอกการยืนฉี่เป็นสายยาว ๆ มีแต่มาแบบ “ติ๊ด ๆ ตอด ๆ” กะปริดกะปรอย
แล้วทำไมกันล่ะ? ทำไมช้างตัวใหญ่เท่ารถบัสถึงใช้เวลาฉี่พอ ๆ กับคน ทั้ง ๆ ที่กระเพาะปัสสาวะของมันใหญ่กว่าหลายสิบเท่า? หลายคนอาจคิดว่า “อ๋อ! คงเป็นเพราะขนาดของท่อปัสสาวะที่ต่างกัน” ใช่ไหม? แต่เปล่าเลย! ขนาดท่อปัสสาวะไม่ได้ช่วยให้สัตว์ตัวใหญ่ฉี่เร็วขึ้น เพราะหากท่อมันใหญ่เกินไป จะกลายเป็นรูเปิดที่สิ่งแปลกปลอมสามารถเล็ดลอดเข้าไปได้ ซึ่งร่างกายของสัตว์ทั้งหลายออกแบบมาให้เลี่ยงปัญหานี้โดยสิ้นเชิง
ความลับที่แท้จริงอยู่ที่ “ความยาว” ของท่อปัสสาวะ! ยิ่งสัตว์ตัวใหญ่เท่าไร ท่อปัสสาวะก็ยิ่งยาวขึ้น ซึ่งตามหลักฟิสิกส์แล้ว ท่อนำของเหลวยิ่งยาว ก็ยิ่งเพิ่มแรงดันของของไหล หรือพูดให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ สัตว์ที่ตัวใหญ่กว่าก็ “ฉี่แรงกว่า” นั่นเอง! ด้วยแรงดันที่สูงขึ้น น้ำปัสสาวะจึงพุ่งออกมาด้วยความเร็วที่มากขึ้น จนทำให้เวลาที่ใช้ในการฉี่ของเจ้าช้างใหญ่ตัวเท่าบ้าน กับเจ้าหมาน้อยตัวจิ๋ว กลายเป็นเวลาใกล้เคียงกันอย่างไม่น่าเชื่อ
ดังนั้น ครั้งหน้าถ้าคุณได้ยินเสียงน้ำกระทบพื้นอย่างต่อเนื่อง ลองนับดูสิ… 21 วินาที นี่อาจเป็นกฎลับของธรรมชาติที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวใหญ่ทุกตัวต้องปฏิบัติตามโดยไม่รู้ตัวก็ได้เด้อครับเด้อ...






















