ความเชื่อโบราณ "ผีบ้านผีเรือน ผีบันได ผีประตู ผีเตาไฟ ผีตะล่อมข้าว"
คนโบราณเชื่อว่าวิญญาณคือผี มีทั้งผีดีผีร้าย วิญญาณใดที่ดีเข้าขั้นวิเศษสุด คือเมื่อยังมีสังขารอันสมบูรณ์สิงสู่อยู่ได้พากเพียรสร้างแต่ความดี ใจบุญสุญทานกอปรด้วยเมตตาธรรม มีความละอายต่อบาป เทพผู้อยู่เบื้องบนซึ่งอาจจะเป็นพระพรหม พระศิวะ หรือพระผู้เป็นเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งก็จะให้เทพยดาผู้เป็นบริวารเชิญวิญญาณนั้นสู่สรวงสวรรค์ ส่วนวิญญาณชั้นดีแต่ไม่ถึงขั้นพิเศษสุดก็คงวนเวียนอยู่ในเมืองมนุษย์ แต่เพราะปราศจากสังขารจึงไม่อาจมองเห็นตัวได้ วิญญาณดีเหล่านี้วนเวียนอยู่เพื่อรอการอุทิศหรือเกิดใหม่ คือมีสังขารใหม่ได้สิงสู่ต่อไป เกณฑ์ดังกล่าวนี้ใครเป็นผู้กำหนดไม่ทราบได้ คงยอมรับรู้และเชื่อกันก็แต่ว่าวิญญาณหรือผีตามที่ว่ามานั่นเป็นผีที่ดี ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใคร ถ้ารู้จักกราบไหว้เซ่นสรวงด้วยความคาราวะ ผีดีทั้งหลายเหล่านี้ก็มีแต่จะให้คุณ ความเชื่อดังกล่าวมานี้เอง คือที่มาแห่งการเคารพนับถือของคนโบราณ ซึ่งผีที่รอการอุทิศบุญกุศลนี้ในเรื่องอบายภูมิถือว่าอยู่ในนรกสุดท้าย เรียกว่า นรกปรทัตตูปชีวี
เนื้อหาดังต่อไปนี้จะขอกล่าวถึงผีที่อยู่ในบ้านซึ่งจัดว่าเป็นผีที่อยู่ใกล้ชิดคนมากที่สุด มีหน้าที่คอยคุ้มครองปกปักรักษาและควบคุมกิจการภายในบ้านเรือน ได้แก่ ผีบ้านผีเรือน ผีบันได ผีแม่พระธรณีหรือผีธรณีประตู ผีแม่เตาไฟ และผีตะล่อมข้าว ตามลำดับค่ะ
1.ผีบ้านผีเรือน
เป็นผีที่คอยคุ้มครองคนในบ้านให้อยู่ดีมีสุข ปราศจากภัยอันตรายใดๆ มาเบียดเบียน หากมีผีต่างถิ่นจะเข้ามาอาศัยหรือทำร้ายคนในบ้าน ผีบ้านผีเรือนจะต่อสู้และขจัดผีที่ไม่พึงประสงค์ออกไป แต่ในบางครั้งผีบ้านผีเรือนมีฤทธิ์เดชน้อยสู้ผีที่มาจากภายนอกไม่ได้ก็ต้องหนีเหมือนกัน เมื่อมีผีภายนอกเข้ามาทำลายผีบ้านผีเรือนได้แล้ว ก็จะเริ่มเข้าสิงหรือทำร้ายคนในบ้านที่เรียกกันว่า “ผีเข้า” หรือทำให้คนในบ้านเกิดเจ็บป่วยและเกิดความไม่เป็นมงคลต่างๆ ต้องเชิญพ่อมดหมอผีมาปัดรังควานหรือขับไล่ผีที่มาเข้าสิงหรือทำร้ายคนในบ้านออกไป ส่วนใหญ่ผีบ้านผีเรือนคือผีบรรพบุรุษของเจ้าของบ้าน จึงเป็นผีปู่ย่าตายายคอยดูแลให้ความช่วยเหลือลูกหลานี่ยังมีชีวิตอยู่ ผีบ้านผีเรือนมีได้หลายคน แต่มีข้อห้ามว่า ห้ามเชิญวิญญาณผีตายโหงมาเป็นผีบ้านผีเรือน
ผีบ้านผีเรือน นอกจากจะคุ้มครองป้องกันภัยให้กับลูกหลานแล้ว ยังคอยดูแลควบคุมความประพฤติของคนในบ้านด้วย ถ้าลูกหลานประพฤติตนไม่สมควร ไม่ปฏิบัติตามจารีตประเพณีของบ้านแล้ว ถือว่า “ผิดผี”จะถูกผีลงโทษ เช่น
(1) ถ้าชายหญิงล่วงเกินกันมากกว่าการจับมือถือแขน ถือว่าผิดผี ต้องขอขมาผีเรือน มิฉะนั้นจะเกิดเจ็บป่วยหรือมีเหตุอันเป็นไป
(2) ถ้าชายหญิงหนีตามกันไปโดยไม่ได้จัดผู้ใหญ่มาสู่ขอตบแต่ง เมื่อฝ่ายชายส่งข่าวและผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงยินยอมแล้วต้องรีบขอขมาผีเรือน จึงจะยอมรับให้เข้ามาเป็นสมาชิกของบ้านได้ เรียกว่า “รับเข้าผี”
(3) ถ้ามีคนมาค้างแรมที่บ้านหรือมีคนหรือสัตว์มาผิดเรือน เจ้าเรือนหรือผู้อาวุโสในบ้านจะต้องบอกผีเรือน มิฉะนั้นจะทำให้เกิดเจ็บไข้
(4) ห้ามนอนใต้ขื่อ ถ้าไม่เชื่อยังขืนนอนผีจะอำ
(5) ห้ามไหวเปลเปล่าๆ แม่ซื้อจะตกใจ เด็กจะกวน
(6) ถ้าจิ้งจกทักขณะลงจากเรือนห้ามเดินทาง ถ้าไม่เชื่อและยังขืนเดินทางไปจะเกิดภัยพิบัติหรือความไม่ดีงามต่างๆ เรียกว่า เกิดอุบาทว์
(7) บ้านใดมีงานศพ เมื่อเสร็จพิธีแล้วให้รีบทำความสะอาดที่นอนหมอนมุ้ง ปัดกวาดขัดถูบ้านเรือน ล้างถ้วยชาม โอ่งไหคว่ำไว้ และให้หมอผี (หมอธรรม) มาปัดรังควานบ้านเรือน เพื่อให้เรือนร้ายกลายเป็นเรือนดี
2.ผีบันได
บ้านคนไทยสมัยก่อนเป็นใต้ถุนสูงทุกบ้าน จึงมีบันไดจากพื้นดินถึงบ้าน ข้างบันไดบ้านจะมีกระถางล้างเท้าหรือที่ล้างเท้าไว้ให้ ทุกคนจึงต้องล้างเท้าก่อนขึ้นเรือน ที่บันไดบ้านนี้เองจะมีผีคอยเฝ้ารักษาอยู่ ฉะนั้นจึงห้ามเล่นแม่บันได จะขึ้นก็ขึ้น จะลงก็ลง ไม่เช่นนั้นจะถูกผีบันไดผลักทำให้พลัดตกหกล้มได้ นอกจากนี้ยังห้ามใช้มีดฟันบันได เพราะจะทำให้เกิดอันตายแก่ผู้กระทำ ถ้าเผลอไปทำเข้าต้องจัดการขอขมาลาโทษ
3.ผีประตู
ในแต่ละบ้านจะมีผีตนหนึ่งคอยเฝ้าประตูบ้าน ไม่ว่าจะเป็นประตูทางขึ้นบันได หรือประตูบนเรือน ทุกประตูที่มีธรณีประตู ถ้าเหยียบธรณีประตูจะต้องทำพิธีขอขมาผีแม่พระธรณี
4.ผีเตาไฟ
ที่เตาไฟในครัวจะมีผีตนหนึ่งคอยปกปักรักษา เรียกว่า “ผีเตาไฟ” จึงห้ามเดินหรือกระโดดข้ามเตาไฟ ถ้าทำผีไฟจะโกรธ ถ้าจำเป็นต้องเดินผ่านให้เดินอ้อมไป
5.ผีตะล่อมข้าว
คนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ทำไร่ ทำนา ในแต่ละบ้านจึงมียุ้งฉางสำหรับใส่ข้าวเปลือกเก็บไว้ เรียกว่า “ตะล่อมข้าว” เวลาขนข้าวจากลานนวดเอามาใส่ตะล่อมข้าว ต้องทำการโห่ร้องเชิญแม่โพสพขึ้นตะล่อม ที่ตะล่อมข้าวจึงมีผีคอยเฝ้ารักษา และห้ามไม่ให้ใครไปนอนหน้าตะล่อมข้าวเพราะเป็นทางเดินเข้าออกของแม่โพสพ ถ้านอนขวางทางเข้าออก ผีจะบันดาลให้เจ็บไข้ได้ป่วย ต้องรีบจัดการขอขมาผีตะล่อมข้าว แต่จะเป็นผีตนเดียวกับแม่โพสพหรือไม่ ไม่ทราบ
ภาพ : Pixabay













