baby ที่ไม่ใช่แค่ที่รัก
ตั้งแต่การบัญญัติภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลนั้น ฉันเข้าใจได้ดีว่าการเรียนภาษาอังฤษของเด็กไทยในทุกระดับชั้นจะมีความสำคัญมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ประมาณสามสิบกว่าปีที่แล้ว สมัยที่ฉันยังเป็นเด็กน้อย ฉันมีโอกาสได้เรียนภาษาอังกฤษครั้งแรกเมื่อเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ประมาณว่าเป็นวิชาหนึ่งที่ต้องเรียนไปเพื่อสอบ ไม่มีใครมานั่งแนะแนวว่าภาษาอังกฤษเรียนไปแล้วมันดียังไง มีประโยชน์อย่างอื่นอีกหรือไม่ ตอนนั้นฉันคิดแค่ว่าอยากเลื่อนชั้นเหมือนเพื่อนๆ ก็ต้องสอบให้ผ่านทุกวิชา แค่นั้นเอง เวลาคุณครูสอนภาษาอังกฤษก็จะเน้นให้จำไวยากรณ์ แล้วก็รูปประโยคพื้นฐานของภาษาอังกฤษ ซึ่งบางหัวข้อฉันไม่เข้าใจ แต่ก็ไม่กล้าถามคุณครู กลัวดูโง่ในสายตาเพื่อน เพราะสมัยนั้น ถ้าอยากจะเรียนให้เก่ง ก็แค่สอบให้ได้คะแนนดีๆ จนอยู่ในลำดับต้นๆ ยิ่งสอบให้ได้ที่ 1 ชื่นชมกันตั้งแต่หัวซอยยันท้ายซอย แต่ไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ ความเข้าใจในหัวแทบไม่มีเลย เวลาผ่านไป เมื่อฉันเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ฉันเพิ่งรู้ว่าเพื่อนบางคนที่มาจากโรงเรียนรัฐบาลบางแห่ง ได้เรียนภาษาอังกฤษเมื่อตอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 แต่ฉันแอบทึ่งว่าทักษะภาษาอังกฤษของเพื่อนกลุ่มนั้นดีมากเลย เอาแล้ว การที่ฉันเรียนภาษาอังกฤษนานกว่า มันไม่ได้การันตีอะไรเลย เวลาล่วงเลยจนมาถึงวันที่สอบเข้ามหาวิทยาลัย คุณพระคุณเจ้า อยากจะเขกหัวตัวเอง ทำไมไม่ตั้งใจเรียนให้มากกว่านี้นะ เพราะข้อสอบในส่วนที่วัดความเข้าใจ ฉันแทบจะทำไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่ฉันเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ ป.1 และได้รับคำชมมาตลอดว่าเป็นผู้มีทักษะทางภาษาอังกฤษ ซึ่งจริงๆ แล้ว ทักษะเรื่องนี้ของฉันอยู่ในระดับพอใช้เท่านั้น ชีวิตในมหาวิทยาลัยของฉันในตอนนั้น ก็ยังวนเวียนอยู่กับการเรียนภาษาอังกฤษอยู่ และมีโอกาสได้เรียนกับอาจารย์ชาวต่างชาติ ฉันเรียนภาษาอังกฤษมาเกือบทั้งชีวิต แต่กลับสื่อสารหรือสนทนาในภาษาอังกฤษแทบไม่มีประสิทธิภาพเลย ฉันเข้าใจว่าเป็นเพราะพื้นฐานไวยากรณ์บางเรื่อง ฉันไม่มีความเข้าใจกับมันจริงๆ อยากจะสื่อสารอีกอย่าง แต่ก็พูดออกมาเป็นอีกอย่าง ประมาณว่าพูดภาษาอังกฤษเป็นต่อยหอยเลย แต่ชาวต่างชาติทำหน้างงๆ พอเรียนจบในระดับอุดมศึกษา เพื่อนบางคนก็ย้ำนักหนาว่าฉันควรไปทำงานกับบริษัทต่างชาติ เพราะฉันมีพื้นฐานในการใช้ภาษาอังกฤษ จะว่าไป ก็เหมือนน้ำท่วมปาก จะบอกเพื่อนยังไงดีว่าฉันไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษขนาดนั้น ฉันรู้ถึงปัญหานี้ดี แล้วก็ไม่ได้ขวนขวายที่จะมีบอสเป็นฝรั่งแต่อย่างใด ครั้งหนึ่งฉันนัดเจอเพื่อนสาวที่เคยทำงานด้วยกัน ได้ข่าวว่านางมีแฟนเป็นชาวอังกฤษ หลังจากปาร์ตี้อยู่ด้วยกันหลายชั่วโมง จังหวะที่จะแยกย้ายกลับ ก็กอดลากันฉันเพื่อน ฉันก็ได้ยินแฟนเพื่อนเรียกฉันว่า baby ที่ไม่ได้แปลว่า ทารก แน่ๆ ในใจฉันแอบกังวล ทำไมแฟนเพื่อนใช้คำนี้กับฉันนะ แฟนเพื่อนจะมาเรียกฉันว่า ที่รัก ได้ยังไง ซึ่งท่าทางของพ่อหนุ่มอังกฤษคนนั้นก็ไม่ได้ดูพิศวาสฉันเกินเพื่อนแม้แต่น้อย ฉันได้แต่เก็บความสงสัยเรื่องนี้ไว้คนเดียว จนเวลาผ่านไป ฉันได้มาเจอช่องของคุณคริสปี้ใน Tiktok (@crispyfroid) ซึ่งได้อธิบายสิ่งที่ฉันสงสัยไว้ว่าวัฒนธรรมของชาวอังกฤษจะถือเรื่องมารยาทและความสุภาพ การที่หนุ่มชาวอังกฤษจะเรียกหญิงสาวที่เพิ่งรู้จักกันว่า my dear หรือ darling หรือแม้แต่ baby !!! นั้น ไม่ได้แปลว่าหนุ่มคนนั้นมีเจตนาเรียกเราว่า ที่รัก แต่อย่างใด ในที่สุด ฉันก็เข้าใจเรื่องนี้ได้แจ่มชัดและคลายกังวลกับปมในใจนี้ซะที เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าภาษาอังกฤษในห้องเรียน กับภาษาอังกฤษในชีวิตจริง มันต่างกันเหลือเกิน ไม่ว่าจะอายุกี่ขวบปีกันแล้ว อย่าหยุดเรียนรู้กันนะ ยิ่งปัจจุบันความรู้ในภาษาอังกฤษไม่ได้มีแค่ตำราเรียนหรือว่าดิกชันนารี่ แต่ยังมีช่องทางเรียนรู้ตามสื่อโซเชียลต่างๆ มากมาย มีความรู้ในภาษาสากลติดตัวไว้ ยังไงวันหนึ่งก็ต้องได้ใช้ประโยชน์แน่นอน
https://vt.tiktok.com/ZSYruqbu6/
https://vt.tiktok.com/ZSYruaRqT/