เมื่อคิดว่าตัวเองไม่เก่ง ด้อยประสิทธิภาพ คิดว่าตัวเองไร้ค่า อาจกำลังเป็น ภาวะ Impostor Syndrome
Impostor Syndrome ไม่ได้จัดเป็นโรค และ ความเจ็บป่วยทางจิตใจ แต่ เป็นภาวะที่บุคคลคิดว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง ทำให้เกิดความไม่สบายใจ เกิดความเครียด
มักจะตั้งคำถามกับตัวเองว่า เก่งด้านใดบ้าง? เชี่ยวชาญในสิ่งที่กำลังทำอยู่จริงหรือไม่? ความสำเร็จที่ได้รับเป็นเพราะความสามารถของตัวเองหรือเปล่า? จึงตั้งมาตรฐานไว้สูงมาก และ พยายามทำงานอย่างหนัก
หากคำถามเหล่านี้วนเวียนบ่อย ๆ นั่นไม่ใช่การถ่อมตัว แต่คือสัญญาณเตือนของภาวะ Impostor Syndrome ที่จะก่อให้เกิดความกดดันในการทำงานและการใช้ชีวิต จึงอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหลายด้าน ทั้งการทำงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
ลักษณะนิสัยของคนที่เป็น Impostor Syndrome
1.มีปัญหาในการรับรู้ความสามารถของตนเอง (Self-Efficacy) ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ ขาดความทะเยอะทะยาน ไม่สามารถทำสิ่งที่ต้องการตามแบบแผนที่ถูกกำหนดได้
2.รักในความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) ไม่ว่าจะทำอะไรจะต้องเป็นไปตามมาตราฐาน ซึ่งหากสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่ต้องการจะรู้สึกไม่พอใจ กล่าวโทษตัวเอง จิตใจรู้สึกลังเล ไม่เชื่อในความสามารถของตัวเอง
3.ชอบทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จด้วยตัวเอง ไม่พึ่งพาใครเพราะ กลัวถูกมองว่าเป็นคนไม่มีความสามารถ
4.ทุ่มเทอย่างหนักกับทุกหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งหากทำไม่สำเร็จจะโทษตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถมากพอ
5.คิดว่าตัวเองไม่ควรได้รับความสำเร็จ แม้จะได้รับคำชื่นชม มักคิดว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นผลจากความโชคดี และ ยกความดีความชอบให้กับคนที่ช่วยเหลือมากกว่าที่จะเห็นคุณค่าในตัวเอง
6.คิดว่าความสำเร็จไม่ใช่เรื่องสำคัญที่น่ายินดีเพราะ เป็นเรื่องที่ใครก็สามารถทำได้
7.บ่อยครั้งมักจะรู้สึกไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อเริ่มทำสิ่งนั้นใหม่ ๆ
8.กลัวคนอื่นจะรู้ว่าตัวเองไม่มีความสามารถ จึงพยายามปิดบังความรู้สึก ชดเชยด้วยการทำงานหนักมากขึ้น
9.แม้จะเกิดความผิดพลาดเล็กน้อย แต่ รู้สึกว่าตัวเองขาดความรู้ความสามารถ ด้อยค่าตัวเอง
10.มักมีความมั่นใจในตัวเองและเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานแย่ลง และ นำไปสู่อาการเจ็บป่วยทางกาย ทางจิตใจ จากความเครียดความวิตกกังวล
Impostor Syndrome เกิดจากอะไร?
-จากการเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมในวัยเด็ก เช่น ความกดดันในการเรียน การถูกเปรียบเทียบกับลูกพี่ลูกน้อง ครอบครัวที่ควบคุมการใช้ชีวิต หรือ ครอบครัวที่ปกป้องดูแลลูกมากเกินไป
-ปัญหาสุขภาพจิต อย่างโรควิตกกังวล และ โรคซึมเศร้า ซึ่งอาจทำให้สภาพจิตใจของบุคคลนั้นเปลี่ยนแปลงไป เช่น เกิดความสงสัยในตัวเอง ความมั่นใจในตัวเองลดลง กังวลว่าคนอื่นจะมองตัวเองไม่ดี
วิธีรับมือกับภาวะ Impostor Syndrome
-ต้องเปิดใจยอมรับให้ได้ว่า ภาวะนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะไม่มีใครที่จะประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง ความผิดพลาด ความล้มเหลวสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
-ประเมินข้อดีข้อด้อยของตัวเอง เพื่อการปรับปรุงพัฒนาความสามารถที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น
-ชื่นชมความสำเร็จของตัวเองเสมอ เช่น ชื่นชมตัวเองทุกครั้งที่ทำงานแต่ละงานจนเสร็จ และ น้อมรับคำชมเชยจากคนรอบตัว
-ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นเพราะ ทุกคนมีความสามารถ ความถนัดที่แตกต่างกัน การเปรียบเทียบจะยิ่งทำให้ความมั่นใจในตัวเองลดลง
-ปรับความคิดที่ว่าการขอความเชื่อเหลือจากคนอื่น จะเป็นคนไร้ความสามารถเพราะ คนเราสามารถพูดคุย แลกเปลี่ยน และ ให้ความช่วยเหลือแก่กันได้ ครั้งนี้คุณขอความเชื่อเหลือจากเขา ครั้งหน้าคุณช่วยเหลือเขากลับ ยิ่งจะช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อตัวเองกับคนรอบข้างให้มีมากขึ้น
-การปรึกษาคนใกล้ชิด เช่น คนในครอบครัว เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน จะช่วยให้รู้สึกสบายใจขึ้น และ อาจได้คำแนะนำในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้