เคล็ดลับจำแม่นจากจิตแพทย์ญี่ปุ่น นักเขียนและทุกคนควรรู้เป็นอย่างยิ่ง!
เคล็ดลับจำแม่นจากจิตแพทย์ญี่ปุ่น นักเขียนและทุกคนควรรู้เป็นอย่างยิ่ง!
10 เทคนิคที่จะทำให้
การอ่านของคุณมีประสิทธิภาพ
จากหนังสือ
1. "ส่งออกข้อมูล" สัปดาห์ละ 3 ครั้ง
การที่จะจำเนื้อหาที่อ่านไปแล้วให้ได้นั้นคำตอบอยู่ที่ เทคนิคการจำคำศัพท์ หลายคนอาจจะมีวิธีการจำคำศัพท์ที่ไม่เหมือนกัน แต่หนังสือสอนเทคนิคการท่องจำส่วนใหญ่ มักจะแนะนำว่า เมื่อเราจำคำศัพได้แล้ว ให้เรากลับมาทบทวนคำศัพท์นั้น ในวันรุ่งขึ้น ในวันที่ 3 และวันที่ 7 หลังจากวันที่จำคำศัพท์นั้นได้ เมื่อทำแบบนี้จะทำให้เราจำคำศัพท์นั้นได้นานมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญการวิจัยทางประสาทวิทยายังได้ข้อสรุปมาแล้วว่า เทคนิคการจำคำศัพท์ที่ได้ประสิทธิผลมากที่สุดนั้น เราต้องนำข้อมูลที่ได้รับไว้ออกมาใช้ให้ได้ 3 - 7 ครั้งภายใน 7 วัน
2. อ่านในเวลา "ว่าง" ช่วงสั้น ๆ
เวลาที่บอกว่า "ผมอ่านหนังสือเดือนละ 30 เล่ม" หลายคนอาจจะบอกว่า "สุดยอดไปเลย หาเวลาไหนมาอ่านได้มากขนาดนั้น" ที่จริงแล้ว เขาเรานั้นไม่ว่าจะยุ่งขนาดไหนก็ตาม มักจะมีเวลา "ขณะว่าง" อยู่เสมอ คนที่บอกว่าไม่มีเวลาว่างที่จะอ่านหนังสือนั้น ส่วนใหญ่เป็นคำแก้ตัวของคนที่ไม่รู้เทคนิคการใช้เวลาว่างเพื่ออ่านหนังสือต่างหาก สำหรับผมแล้ว เวลาว่างส่วนใหญ่จะเป็นในช่วงของการเดินทาง ซึ่งจะมีเวลารวมกันแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง คุณอาจจะเอาไปปรับใช้ โดยการใช้เวลาว่างในการรอรถไฟ การรอนัดพบ หรือ เปลี่ยนสถานที่ ในการอ่านหนังสือก็ได้ ถ้าเราทำแบบนี้ เราก็จะมีเวลา "ขณะว่าง" ในแต่ละเดือนกว่า 90 ชั่วโมง ถ้าเราเอาเวลานั้นมาอ่านหนังสือ เราก็จะสามารถอ่านหนังสือได้เดือนละ 10 - 30 เล่มกันเลยทีเดียว
3. ปากกาเน้นข้อความมหัศจรรย์!
เวลาอ่านหนังสือ ผมมักจะเน้นข้อความที่สำคัญ และไม่ใช่แต่เฉพาะในหนังสือเรียนเท่านั้น หนังสือนิยายเองผมก็ทำ หากตรงส่วนไหนของหนังสือ มีความสำคัญ สร้างแรงบันดานใจ หรือ ให้ไอเดียอะไรขึ้นมา ผมจะจดสิ่งนั้นลงไปบนหนังสือ สิ่งที่ผมให้ความสำคัญไม่ใช่การอ่านหนังสือให้จบเล่ม แต่เป็น "สิ่งที่มีความสำคัญ" และ "ความคิดที่เปลี่ยนไป" หลังจากได้อ่านหนังสือ เมื่อมีสิ่งไหนที่ทำให้ผม "ฉุกคิด" อะไรขึ้นมาได้ ผมจะจดสิ่งนั้นลงไปทันที ซึ่งอาจจะทำให้หนังสือนั้นเต็มไปด้วยข้อความต่าง ๆ มากมาย ทำให้หนังสือไม่สวยงามนัก แต่มันก็ทำให้เราสามารถจำในสิ่งที่หนังสือนั้นบอกได้มากขึ้นตามไปด้วย
4. ฝึกอ่านให้เก่งด้วยการสกัดข้อมูล
การ "รับเข้าข้อมูล" จากหนังสือใส่สมองก็เหมือนกับการบีบน้ำเกรปฟรุตใส่เหล้าในแก้ว หรือก็คือ การ "สกัดข้อมูล" ยิ่งเราสกัดข้อมูลจากหนังสือที่อ่านมามากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น ยิ่งเราสกัดข้อมูล เราก็ยิ่งจำในสิ่งที่เราได้อ่านมาได้แม่นยำมากขึ้น สิ่งที่สำคัญไม่ใช่การอ่านหนังสือให้ได้มาก ๆ ในแต่ละวัน สิ่งที่สำคัญคือ เราสามารถจำสิ่งที่เราได้อ่านมามากน้อยแค่ไหน สำหรับการอ่านหนังสือแล้ว "คุณภาพ" สำคัญกว่า "ปริมาณ" วิธีการสกัดข้อมูลก็ไม่ยาก แค่ให้คุณตั้งใจอ่านและจับประเด็นให้ได้ อะไรที่ทำให้ฉุกคิดก็ให้จดไว้ และเอาไปเขียนเป็นบทความ แบบนี้จะทำให้เราจำสิ่งที่ได้อ่านมามากยิ่งขึ้น
5. การจำกัดเวลาช่วยให้จำได้ดีขึ้น
เมื่อเวลามีจำกัดเราจะมีสมาธิมากขึ้น เพราะการมีเวลาจำกัด จะช่วยกระตุ้นให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าคุณเป็นคนที่ต้องนั่งรถไฟไปทำงานเป็นประจำ ซึ่งอาจจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที กว่าจะถึงสถานีต่อไป ให้คุณลองหาหนังสือมาอ่านในระหว่างที่รอ จะช่วยให้คุณจำเนื้อหาได้ดีขึ้นมากกว่าตอนที่อ่านแบบไม่เร่งรีบ เพราะในสถานการณ์ที่ท้าทายเร่งด่วน โดปามีนจะทำหน้าที่ช่วยให้เรามีสมาธิที่มากขึ้น มีใจจดจ่ออยู่กับหนังสือมากขึ้น ทำให้จำเนื้อหาของหนังสือได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้นนั่นเอง
6. อ่านครั้งละ 15 นาทีเท่านั้น
การอ่านหนังสือรวดเดียว 60 นาที กับการอ่านหนังสือครั้งละ 15 นาที 4 ครั้ง แบบไหนจะช่วยให้เราจำได้ดียิ่งขึ้น เรื่องนี้ได้มีการทดลองโดยให้นักศึกษากลุ่มหนึ่งทำการจดจำแผ่นคำศัพท์ที่ผู้ทดสอบคอยส่งให้ไปเรื่อย ๆ เสร็จแล้วก็ให้ทำการเขียนคำศัพท์ที่ตนเองจำได้ลงไปในข้อสอบ ปรากฎว่าผู้เข้าทดสอบส่วนใหญ่จะจำคำศัพท์ในช่วงแรกกับช่วงท้ายได้ดี ส่วนคำศัพท์ที่ได้รับในช่วงกลาง ๆ มักจะจำกันไม่ค่อยได้ ทั้งนี้ก็เพราะสมองของเรามักจะมีความมุ่งมั่นและมีแรงจูงใจที่จะทำให้ช่วงต้นมากที่สุด แล้วจะแผ่วลงในช่วงกลาง ๆ และเมื่อใกล้จะจบแล้ว ก็จะมีความรู้สึกว่าอีกนิดเดียวก็๋จะเสร็จแล้ว แรงใจที่มุ่งมั่นก็จะกลับคืนมาอีกครั้ง ทำให้เราสามารถจำสิ่งต่าง ๆ ในช่วงต้นและช่วงท้ายได้ดี ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ถ้าเราแบ่งอ่านหนังสือเป็นครั้งละ 15 นาที 4 รอบ มีแนวโน้มที่จะช่วยให้เราจดจำเนื้อหาได้ดีกว่าการอ่านรวดเดียว 60 นาที
7. การนอนเป็นสิ่งสำคัญ
การอ่านหนังสือก่อนนอนจะช่วยให้จำเนื้อหาได้ดี นอกจากการอ่านหนังสือในช่วงเวลาว่างแล้ว การอ่านหนังสือก่อนนอนเองก็สำคัญเช่นกัน เพราะในระหว่างที่เรานอนนั้น สมองของเราไม่ได้รับข้อมูลเข้ามาเพิ่ม ทำให้สมองมีเวลาในการพักผ่อนและจัดเรียงข้อมูลให้เป็นระเบียบ ทำให้สิ่งที่เราสามารถจดจำสิ่งที่เราอ่านก่อนนอนได้ดี จนถึงขนาดคู่มือเตรียมสอบหลายที่ก็ได้แนะนำว่า "ถ้าอยากจะจำเรื่องยาก ๆ ก็ให้อ่านเรื่องนั้นก่อนนอน" นอกจากนี้ถ้าก่อนนอนเรากำลังคิดแก้ปัญหาเรื่องอะไรอยู่ หลายครั้งด้วยกันที่เราสามารถคิดวิธีแก้ปัญหาได้หลังจากตื่นนอน การอ่านหนังสือก่อนนอนจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยครับ
8. สแกนหาเป้าหมายในการอ่าน
มองภาพรวมของหนังสือให้ออกแล้วกำหนดเป้าหมายในการอ่าน หลายคนอาจจะเริ่มอ่านตั้งแต่ตัวอักษรแรกไปจนจบเล่มเลย แต่วิธีนั้นออกจะช้าเกินไปหน่อย ถ้าเราอยากจะอ่านหนังสือให้ได้สิ่งที่เราต้องการ เราควรที่จะสแกนดูก่อนว่าหนังสือเล่มนั้นมีขอบเขตเนื้อหาเท่าไหร่ เพื่อที่เราจะสามารถกำหนดเป้าหมายในการอ่านหนังสือของเราได้ และ ช่วยให้เรารู้ด้วยว่าเราควรที่จะอ่านหนังสือแบบผ่าน ๆ หรือ อ่านอย่างละเอียด ก่อนอื่นก็ให้เราอ่านสารบัญ แล้วดูเนื้อหาทั้งเล่มแบบผ่าน ๆ เพื่อให้เห็นภาพรวม จะได้รู้ว่าเราควรที่จะให้ความสำคัญกับส่วนไหน จากนั้นค่อยลงมืออ่านจริง ๆ การสแกนหนังสือก่อนที่เราจะอ่านแบบนี้ นอกจากจะช่วยให้เราอ่านหนังสือได้เร็วแล้ว จะช่วยให้เราเข้าใจเนื้อหาได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
9. อ่านหนังสือที่รู้สึกว่ายาก
หนังสือที่ยากกำลังดี จะช่วยให้การเรียนรู้ของเราดีขึ้น ถ้าเราต้องการที่จะอ่านหนังสือให้จำได้ดี แล้วเราไปอ่านหนังสือแบบค่อย ๆ ไปเรื่อย ๆ แบบนั้นจะทำให้เราจำอะไรไม่ค่อยได้ เพราะสมองของเราจะได้รับการกระตุ้นมากที่สุดก็ต่อเมื่อพบกับ "ปัญหาที่รู้สึกว่ายาก" ในช่วงนั้นสารสื่อประสาทโดปามีนจะหลั่งออกมามาก ทำให้เรามีสมาธิและใจจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นได้นานขึ้น ทำให้เห็นว่าถ้าเราอ่านหนังสือที่ยากในระดับที่พอดีจะช่วยกระตุ้นให้เราอ่านหนังสือนั้น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเราอ่านหนังสือพวกนิยายหรือแนวบรรเทิงก็ให้เราอ่านไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องไปเครียดอะไร แต่ถ้าเป็นหนังสือแนวธุรกิจหรือแนวความรู้ต่าง ๆ การสร้างความท้าทายในระดับที่เกือบทำไม่ได้จะช่วยให้เราจดจำเนื้อนั้นได้เป็นอย่างดี
10. เลือกหนังสือที่เหมาะกับตนเอง
คนส่วนใหญ่แล้วมักจะอยากข้ามขั้นไปเรียนในสิ่งที่เป็นขั้นสูงเลย ตัวอย่างเช่น เวลาผมจัดสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องการใช้งานเฟซบุ๊คและยูทูบะดับมืออาชีพ ผู้คนจะมาสมัครกันประมาณ 70 - 80 คน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องนั้นเลยหรือรู้น้อยมากแต่อยากจะเรียนขั้นสูงไปเลย แต่ถ้าบอกว่าเป็นการจัดสัมมนาเฟซบุ๊คและยูทูบสำหรับผู้เริ่มต้น คนที่มาสมัครจะมีน้อยกว่าแบบแรกประมาณครึ่งหนึ่ง ทำให้เห็นว่าคนเราชอบเรียนทางลัด แต่ความจริงแล้วมันแทบจะไม่ได้ประโยชน์เลย วิธีที่ดีที่สุดให้เราเลือกหนังสือที่เหมาะกับความรู้ของเราในช่วงนั้นจะดีที่สุด ถ้าไม่รู้ว่าจะทำยังไง ก็ขอแนะนำว่าคุณควรที่จะไปดูสารบัญและดูว่าเนื้อหาโดยรวมนั้นมีสิ่งที่คุณต้องการอยากรู้หรือไม่ ถ้ามีสิ่งที่คุณต้องการ คุณก็สามารถซื้อมาอ่านได้เลย เพราะจะมีประโยชน์ต่อตัวคุณแน่นอนครับ
อ้างอิงจาก: stampchan