ภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำแข็งใต้ดินในทุ่งอาร์กติกละลาย เสี่ยงต่อการปลดปล่อยคาร์บอน 1.7 ล้านล้านตันออกมา
เป็นที่รู้กันดีว่าภาวะโลกร้อนกำลังทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายและหนุนน้ำทะเลสูง ถึงขั้นอาจทำให้หลายเมืองจมทะเล ทว่าความโหดร้ายของน้ำแข็งละลายไม่ได้มีเพียงเท่านั้น เพราะใต้พื้นดินแถบอาร์กติกมีชั้นน้ำแข็งหมื่นปีที่กักเก็บก๊าซคาร์บอนไว้นับล้านล้านตันและมันกำลังจะถูกปล่อยออกมา อาร์กติก เหนือสุดของโลก มีประชากรอาศัยอยู่ราว 4 ล้านคน กระจายไป 8 ประเทศ ภูมิประเทศหลากหลายทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา แม่น้ำกว้างใหญ่ ทะเล แต่ที่กำลังมีปัญหาคือทุ่งทุนดรา (Tundra) (ที่ราบไม่มีต้นไม้) ที่เกิดไฟไหม้ขึ้นเป็นระยะ จนเปลี่ยนมันจากแหล่งกักเก็บคาร์บอนสู่ตัวการสร้างคาร์บอน และทำให้อุณหภูมิบริเวณอาร์กติกสูงขึ้นด้วย ข้อมูลของโนอา (NOAA) องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) เผยว่าอุณหภูมิอากาศแถบอาร์กติกปีนี้ร้อนเป็นอันดับ 2 ตั้งแต่เริ่มบันทึกเมื่อปี1900 นอกจากนี้ยังมีรายงานของศูนย์วิจัยสภาพภูมิอากาศวู้ดเวลล์ของรัฐแมสซาชูเซตส์ที่พบว่าอุณหภูมิของอาร์กติกเพิ่มขึ้นไวกว่าค่าเฉลี่ยโลก 11 ปีติดต่อกันแล้ว และปัจจุบันมันสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 4 เท่า ชั้นดินเยือกแข็ง (Permafrost) ชื่อนี้อาจไม่คุ้นหูคนเมืองร้อนอย่างเรา มันคือพื้นดินที่มีน้ำแข็งอยู่ข้างใต้ เกิดจากการทับถมขึ้นมาหลายพันปี ซึ่งมันกักเก็บคาร์บอนไว้กว่า 1.7 ล้านล้านตัน แน่แท้ว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นย่อมทำให้ถังคาร์บอนยักษ์นี้ค่อยๆ ละลายปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาลออกมา อีกประการคือแม้ไฟป่าจะเกิดขึ้นบนพื้นดินแต่ความร้อนของมันยังทะลวงถึงชั้นน้ำแข็ง ทำให้มันละลายออกทีละนิดทีละนิด และเมื่อถึงจุดหนึ่งระบบนิเวศทุ่งทุนดราก็ไม่อาจจะกลับมาสวยงามได้เหมือนเก่า เพราะพื้นน้ำแข็งข้างล่างได้ละลายหายไปหมดแล้ว การสังเกตการณ์ของเราพบว่าทุนดราอาร์กติกกำลังเผชิญความร้อนและไฟป่า และกำลังปล่อยก๊าซคาร์บอนมากกว่าที่มันสามารถกักเก็บได้ ซึ่งจะทำให้สถาการณ์โลกร้อนแย่ลงไปอีก”ริค สปินราด ผู้ดูแลระบบโนอากล่าว