นักวิจัยของสหรัฐและจีน ผุดโครงการติดโซลาร์เซลล์ 5 หมื่นล้านแผ่น บนทางหลวงทั่วโลก เพื่อลดคาร์บอนโดยใช้พลังงานสะอาด
โดยเป็นงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือจากนักวิจัยจากจีนและสหรัฐฯ ที่ได้รับการเผยแพร่ใน Earth's Future เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2024 ได้นำเสนอแนวทางที่อาจนำไปสู่โครงการที่ยิ่งใหญ่ ด้วยแนวคิดการใช้แผงโซลาร์เซลล์ (PV) มามุงหลังคาให้กับทางหลวงทั่วโลก เป็นจำนวนราว 5 หมื่นล้านแผ่น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าสีเขียว พวกเขาวิเคราะห์ว่า หากติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนทางหลวงทั่วโลก จะมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าได้ 17,578 เทราวัตต์-ชั่วโมง ต่อปี เทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้ามากกว่า 60% ของโลกในปี 2023 ซึ่งจะช่วยชดเชยการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกได้เกือบ 28% และสร้างกำไรกว่า 14 ล้านล้านดอลลาร์ตลอดอายุการใช้งาน 25 ปี โดยปัจจุบัน มีโครงการนำร่องที่มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทางหลวงและประสบความสำเร็จแล้ว ทั้งในสหรัฐอเมริกา จีน เยอรมนี ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งนักวิจัยเน้นย้ำว่าภูมิภาคที่มีสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย ได้แก่ ชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา จีนตะวันออก และยุโรปตะวันตก เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะรับพลังงานแสงอาทิตย์ได้สูงสุด โดยเชื่อว่า ประโยชน์ของการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทางหลวง ยังรวมถึงการช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับแปดของโลก คร่าชีวิตผู้คนราว 1.35 ล้านคนและบาดเจ็บ 50 ล้านคนต่อปี โดยหลังคาแผงโซลาร์เซลล์จะทำหน้าที่ปกป้องรถยนต์จากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ฝน หิมะ และน้ำแข็ง จึงช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุทางถนนและการเสียชีวิตที่ตามมา ถึงกระนั้น การวิจัยชิ้นนี้ยังคงเป็นแนวคิดเบื้องต้นที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ซึ่งนักวิจัยยอมรับว่าผลลัพท์ที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างออกไปตามปัจจัยอื่นๆ เช่น สภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันไปทั่วโลกที่จะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของแผงโซลาร์เซลล์ รวมถึงความท้าทายด้านต้นทุนในการก่อสร้างด้วย