หลาบเงิน หรือ พระราชลัญจกรในพระนางเจ้าวิสุทธิเทวี กษัตรีย์แห่งล้านนา
จากเอกสารโบราณล้านนากล่าวว่า หลังจากที่เชียงใหม่ตกเป็นเมืองประเทศราชของพม่าแล้ว ในระยะแรกกษัตริย์พม่ายังคงให้กษัตริย์เชียงใหม่ที่เสวยราชย์อยู่นั้น ครองเมืองสืบไปตามประเพณี และให้ขุนนางพม่าดูแลหัวเมืองต่างๆ ของล้านนาพร้อมๆ กันไป แต่ตลอดระยะเวลาที่พม่าปกครองล้านนานั้น ชาวล้านนาเองก็ได้พยายามที่จะ “ฟื้นม่าน” หรือกอบกู้อิสรภาพอยู่เสมอรวมทั้งในสมัยพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ หรือท้าวแม่กุ เป็นกษัตริย์ปกครองเชียงใหม่ด้วย (พ.ศ.2094-2107) กระทั่ง พ.ศ.2107 พม่าได้จับตัวพระเมกุฏิไปเมืองหงสาวดี แล้วแต่งตั้งให้พระนางวิสุทธิเทวี ซึ่งมีเชื้อสายของราชวงศ์มังราย มาปกครองเชียงใหม่แทน โดยอยู่ภายใต้อำนาจของกษัตริย์พม่าอีกชั้นหนึ่ง
สาเหตุที่พม่า แต่งตั้งให้พระนางวิสุทธิเทวีมาปกครองเชียงใหม่นั้น นักวิชาการบางท่านอ้างถึงเอกสารโบราณทั้งของไทยและของพม่าว่า เมื่อพระเจ้าบุเรงนองตีได้เชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2101 แล้ว ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางวิสุทธิเทวี ซึ่งเป็นพระธิดาของพระเมืองเกศเกล้า กษัตริย์เชียงใหม่ เมื่อสิ้นรัชกาลพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ ด้วยเหตุผลทางการเมือง พระเจ้าบุเรงนองจึงทรงสถาปนาพระนางให้เป็นกษัตริย์เชียงใหม่ต่อมา ตราบจนพระนางสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.2121 หลังจากนั้นพระเจ้าบุเรงนองก็ทรงแต่งตั้งให้สาวัตถีนรธามังคอย หรือมังทรานรธามังคุย ซึ่งคงจะเป็นพระโอรสของพระองค์กับพระนางวิสุทธิเทวี มาเป็นกษัตริย์เชียงใหม่สืบแทน
พระนางวิสุทธิเทวี เป็นกษัตริย์ลำดับที่ 18 และนับเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายในราชวงศ์มังราย หลังจากที่ปกครองเชียงใหม่ได้ 3 ปี ในปี พ.ศ.2110 พระนางได้พระราชทานตราหลวงหลาบเงิน แก่ชาวบ้านบ้านฮากฮาน บ้านกองกูน บ้านอมกูด บ้านแปะบก (ปัจจุบันเรียก บ้านแปะ) ซึ่งมีทั้งชาวลัวะและชาวไทยวนอาศัยอยู่ โดยให้อาญาสิทธิ์แก่เขาเหล่านี้เป็นผู้เฝ้าดูแลรักษาวัดราชวิสุทธาราม ซึ่งเป็นวัดที่พระนางทรงสร้างขึ้น และห้ามกำนันผู้ใหญ่บ้านเข้าไปรบกวนพวกเขา อย่าเกณฑ์แรงงานเขาไปทำงานอื่น เช่น เข้าเวรยาม เกี่ยวหญ้าให้ช้างม้า เป็นต้น โดยทรงหลั่งน้ำพระราชทานไว้ด้วย
สำหรับวัดราชวิสุทธาราม หรือวัดหลวงบ้านแปะ เป็นวัดโบราณ เดิมเคยมีคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมล้านนาเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเล่าว่า เมื่อครั้งที่พระนางทรงล่องเรือมาตามลำน้ำปิง จนถึงท่าทาน ชาวบ้านได้ปูลาดพระบาทด้วยผ้าขาวทอพื้นเมืองจำนวนหลายร้อยฮำ เพื่อให้พระนางเสด็จพระราชดำเนินจากท่าเรือมาจนถึงบ้านแปะบก โดยได้ปลูกพลับพลาที่ประทับไว้รับเสด็จ ณ บริเวณที่เป็นเนินเตี้ยๆ พระนางจึงทรงให้สร้างวัดขึ้น ณ ที่แห่งนั้นเพื่อเป็นที่ระลึก แล้วทรงตั้งชื่อว่า “วัดราชวิสุทธาราม” ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทกถวายดอกผลอันเกิดจากที่ดินที่พระราชทานนั้นไว้ให้เป็นค่าเช่านาคิดเป็นเงินตราราวปีละ 500 บาท แก่วัดด้วย วัดนี้เคยถูกพม่าเผาทำลายมาแล้วครั้งหนึ่ง และได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ.2149 ในสมัยกษัตริย์มังทรานรธามังคุย
โบราณสถานที่สร้างขึ้นในสมัยของพระนางอีกแห่งหนึ่ง คือ เวียงหิน อยู่ห่างจากวัดราช วิสุทธาราม ลงไปทางใต้ประมาณ 1.5 กม. เป็นป้อมรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยอิฐก้อนโต กำแพงกว้างยาวด้านละ 100 เมตร สูง 3 เมตร หนาราว 3 เมตร นอกกำแพงมีคูล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง มีประตู 3 ประตู คือ ทางด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศใต้ ชาวบ้านเล่าว่า พระนางวิสุทธิเทวีทรงสร้างเวียงแห่งนี้ขึ้นสำหรับใช้เป็นที่ประทับยามที่เสด็จประพาสหมู่บ้านแปะ
พระนางวิสุทธิเทวีสวรรคต เมื่อ พ.ศ.2121 รวมระยะเวลาที่ทรงปกครองเชียงใหม่ 14 ปี (พ.ศ.2107 - พ.ศ.2121)