ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ คืออะไร การตรวจนี้บอกอะไรเราได้บ้าง
ตรวจคลื่นไฟฟ้า เป็นหนึ่งในการโปรแกรมตรวจสุขภาพที่มีหลายอย่าง เป็นการตรวจที่จะวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งการตรวจนี้สามารถบอกอะไรได้บ้าง ติดตามได้จากบทความนี้
ปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่เป็นสาเหตุต้น ๆ ของการเสียชีวิตทั่วโลกมากที่สุด และส่วนใหญ่ก็จะเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น พฤติกรรมการบริโภคที่มีไขมันเลว โรคความดันโลหิตสูง ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ มีน้ำหนักมากเกินไป และอาจมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมก็เป็นได้ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อตรวจหาโรคจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก
วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคร้ายนี้ก็คือการดูแลสุขภาพพร้อมเข้าโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีที่มีการรวมตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเข้าไปด้วย การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นอีกหนึ่งวิธีในการตรวจหัวใจซึ่ง
เป็นวิธีที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือมีผลข้างเคียงใด ๆ แก่ร่างกาย ใช้เวลาสั้น ๆ ไม่เจ็บตัว และไม่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ สามารถตรวจได้ตลอดเวลา
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) คืออะไร?
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography - EKG) คือ วิธีการตรวจวัดคลื่นหัวใจตามจังหวะการบีบและคลายตัวในทุก ๆ จังหวะการเต้นของหัวใจ มีการตรวจจับความผิดปกติในสัญญาณไฟฟ้าของหัวใจที่ถูกปล่อยออกมาเพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ เพราะปกติแล้วหัวใจจะเต้นประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที
แต่เมื่อใดที่ร่างกายมีการทำกิจกรรม เช่น การเดินหัวใจจะเต้นเร็วประมาณ 100-120 ครั้งต่อนาที ขณะที่การวิ่งหัวใจเต้นเร็วมากกว่า 120 ครั้งต่อนาที
ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการตรวจคัดกรองเกี่ยวกับโรคหัวใจเบื้องต้นเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจสามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าได้โดยเริ่มจากหัวใจห้องขวาบนส่งพลังผลักดันไปกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจจนเกิดการหดตัวและสูบฉีด เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อช่วยตรวจหาความเสี่ยงของโรคที่ส่งผลต่อระบบหัวใจ
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG สามารถบอกถึงจังหวะการเต้นของหัวใจ บ่งบอกโรค เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด วัดขนาดกล้ามเนื้อหัวใจ วัดคลื่นหัวใจ ทั้งยังช่วยบอกให้รู้ว่าหัวใจยังทำงานเป็นปกติหรือไม่
และเมื่อใดที่ตรวจพบความผิดปกติขณะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แพทย์จะได้เริ่มทำการรักษาและป้องกันไม่ให้ความเสียหายแผ่ขยายออกไป
ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่าวิธีตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจสามารถบอกให้รู้ถึงระบบการทำงานหัวใจของคนไข้ดังนี้
- จังหวะการเต้นของหัวใจ
- อัตราการเต้นของหัวใจ
- ตรวจวัดขนาดของกล้ามเนื้อหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนา กล้ามเนื้อหัวใจโต ห้องหัวใจโต ฯลฯ
- ช่วยวัดคลื่นหัวใจเพื่อแสดงถึงสถานะของเส้นเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจว่าปกติหรือตีบตัน
- ตรวจหารอยโรคที่เคยเป็น เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น
- แสดงการนำกระแสไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
- สำหรับคนที่ใช้อุปกรณ์เครื่องกระตุ้นหัวใจ การตรวจคลื่นหัวใจสามารถบอกให้รู้ถึงสถานะการทำงานของเครื่องว่ายังปกติดีหรือไม่
- บ่งบอกถึงโครงสร้างหรือขนาดของห้องหัวใจแต่ละห้อง
ใครบ้างที่ควรได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
สำหรับคนที่ควรได้รับการแนะนำให้เข้ารับตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ควรเป็นกลุ่มคนประเภทดังต่อไปนี้
- คนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- คนที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจ เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน มีไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- คนที่มีอาการผิดปกติ เช่น ใจสั่น เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย มีอาการวูบหน้ามืด
- คนที่มีความดันโลหิตสูง
- คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เช่น มีอาการลิ้นหัวใจรั่ว
- คนที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ
- คนที่ไม่ชอบออกกำลังกาย
ขั้นตอนในการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
ขั้นตอนการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นกระบวนการง่าย ๆ โดยที่คนไข้ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวล่วงหน้า แต่ควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับโรคประจำตัวหรือยาประจำที่กินอยู่เพื่อให้มั่นใจในผลการตรวจคลื่นหัวใจที่ออกมา
- คนไข้นอนหงายนิ่ง ๆ บนเตียง ทำตัวผ่อนคลาย ไม่เครียด
- เปิดเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- เตรียมผู้ป่วยให้พร้อมด้วยการติดเซนเซอร์ (อิเล็กโทรด - Electorde) บนผิวหนังทั้งหมด 10 จุดตรงบริเวณหน้าอก (6 จุด) แขน ขาทั้งสองข้างอย่างละจุด (4 จุด) เพื่อทำการตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าที่มาจากการเต้นของหัวใจแต่ละครั้ง
- ระหว่างการตรวจวัดคลื่นหัวใจ คนไข้ควรนอนนิ่ง ไม่เคลื่อนไหวหรือขยับตัว เพราะใช้เวลาตรวจแค่ 5-10 นาทีเท่านั้น
- เครื่อง EKG จะบันทึกผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจถึงการเต้นและกิจกรรมทางไฟฟ้าของหัวใจตลอดช่วงระยะเวลาหนึ่งบนหน้าจอ หรือบนกระดาษเพื่อแสดงผลลัพธ์กราฟไฟฟ้าหัวใจ
- แพทย์จะทำการตีความสัญญาณของปัญหาที่แสดงออกมาเพื่อทำการวินิจฉัยโรค และประเมินโรค
- คนไข้พบแพทย์ตามนัดเพื่อฟังผลการตรวจคลื่นหัวใจ
การแปรผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ บอกอะไรได้บ้าง
ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG เพื่อดูกระแสไฟฟ้าที่ผลิตโดยหัวใจในขณะที่กำลังหดตัวและคลายตัว และแสดงออกในรูปแบบของกระดาษกราฟแสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หากรูปแบบเป็นคลื่นไฟฟ้าที่สม่ำเสมอก็แสดงว่าหัวใจทำงานปกติ แต่ก็มีอีกหลาย ๆ กรณีที่ผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่สามารถยืนยันได้ 100% ว่าไม่เป็นโรคหัวใจเสมอไป
ปกติแล้วตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ สามารถใช้เพื่อบอกสิ่งที่ต้องการรู้ดังนี้
- ค้นหาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute Myocardial Infarction)
- ค้นหาว่าสิ่งใดผิดปกติได้เกิดขึ้น เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม เป็นต้น
- ค้นหาความผิดปกติของระดับเกลือแร่ในร่างกาย เช่น ระดับแคลเซียม ระดับโพแทสเซียมสูงหรือต่ำ
- วินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะไม่ว่าจะเป็นแบบเต้นช้าผิดจังหวะ (Bradyarrhythmias) หรือ เต้นเร็วผิดจังหวะ (Tachyarrhythmias)
- ค้นหาโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis)
- ค้นหาโรคลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดปอด (Pulmonary embolism - PE) หรือโรคหัวใจเพราะปอด
การตรวจคลื่นหัวใจควบคู่กับการใช้เทคนิคการตรวจอื่น
ถึงแม้โรคหัวใจจะเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนสูงเป็นอันดับต้นก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการแสดงอาการที่เป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้า เช่น เจ็บหน้าอกขณะออกแรง หายใจลำบาก หรือ เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกาย บ้างก็ไม่แสดงอาการใด ๆ หลังตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเลยแต่นั่นไม่ได้หมายความว่าปลอดภัย 100% จนแพทย์อาจมีวินิจฉัยให้มีการตรวจเพิ่มด้วยเทคนิคอื่น เช่น
การตรวจด้วยการวิ่งสายพาน
เป็นอีกวิธีในการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test - EST) หรือที่เรียกว่า วิ่งสายพานนั่นเอง ช่วงขณะที่ร่างกายออกแรงวิ่งนั้น กล้ามเนื้อหัวใจมีอาการขาดเลือดจากภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ จนถึงมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก เป็นต้น
รูปแบบการตรวจจะคล้ายคลึงวิธีตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จะมีแผ่นขั้วสัญญาณไฟฟ้าหนึ่งชุดแปะบริเวณทรวงอกเพื่อบันทึกผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะเดิน/วิ่งบนสายพาน ส่วนมากจะใช้วิธีนี้เมื่ออาการทางหัวใจแสดงออกมาเมื่อมีกิจกรรมทางร่างกาย (มีการออกแรง) เท่านั้น
การตรวจด้วยวิธีนี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเพราะถ้าหากมีอาการผิดปกติแพทย์จะรู้ได้ทันที
การตรวจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง
เป็นวิธีการทำอัลตราซาวด์หัวใจโดยใช้วิธีตรวจวัดคลื่นหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram - Echo) หรือก็คือการตรวจเอคโค่หัวใจ เป็นวิธีที่ช่วยดูการเคลื่อนไหวของหัวใจ การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ รูปร่างและความหนาของหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจว่าตีบหรือรั่ว หัวใจโต หัวใจพิการแต่กำเนิด รวมถึงภาวะน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ มีการติดเชื้อหรือเกิดเนื้องอกในหัวใจหรือไม่
หลักการทำงานคือมีการส่งคลื่นความถี่สูงไปที่หัวใจ แล้วจึงส่งสัญญาณกลับเพื่อแสดงผลภาพเป็นเงาตามความหนาบางของเนื้อเยื่อหัวใจที่สัญญาณได้ตกกระทบ วิธีนี้แม่นยำ ปลอดภัย ไม่เจ็บปวด ใช้เวลาแค่ 30-45 นาที และยังไม่มีผลข้างเคียงด้วย
สรุป การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ สมการสู่หนทางแห่งการป้องกัน
วิธีตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจสามารถป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกทาง ทั้งยังช่วยในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม และตรงจุด พร้อมป้องกันการลุกลามจนไปกระทบคุณภาพชีวิต
อย่างไรก็ดีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติไม่จำเป็นว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติของหัวใจจริง เพราะแพทย์อาจจะต้องส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการตรวจหัวใจแบบอื่น เช่น ตรวจเอคโค่หัวใจ เป็นต้น เมื่อทราบผลการตรวจคลื่นหัวใจที่แน่ชัด ก็สามารถรักษาได้ทันท่วงที เพื่อลดความรุนแรงของโรค และภาวะแทรกซ้อน
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG เป็นอีกทางเลือกของคนในยุคปัจจุบันที่ใช้ตรวจคัดกรองโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของระบบหัวใจที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูง ไม่ต้องวุ่นวายในการเตรียมตัวเพื่อตรวจ ใช้เวลาสั้น ไม่มีผลข้างเคียง ไม่เจ็บตัว และยังปลอดภัยที่สุด และยังได้รับคำแนะนำจากแพทย์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ