ทุ่งไหหิน (ທົ່ງໄຫຫິນ)
ทุ่งไหหิน (ลาว: ທົ່ງໄຫຫິນ) คือ ภูมิประเทศทางโบราณคดี ซึ่งเป็นที่ตั้งของหินใหญ่ (megalith) ที่กระจัดกระจายไปทั่วที่ราบสูงเชียงขวาง แขวงเชียงขวาง ทางเหนือของประเทศลาว ประกอบด้วยหินใหญ่รูปทรงไหนับพัน ปรากฏเป็นกลุ่ม ๆ ตลอดแนวเขาและอยู่ล้อมรอบหุบเขาสูง
ที่ราบสูงเชียงขวาง ตั้งอยู่บริเวณเหนือสุดของเทือกเขาอันนัม อันเป็นเทือกเขาหลักในอินโดจีน โดยมีการค้นพบทุ่งไหหินเบื้องต้น ในช่วง ค.ศ. 1930 ซึ่งกล่าวถึงไหหิน ที่สัมพันธ์กับพิธีกรรมเกี่ยวกับงานศพ ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากนั้นได้มีการขุดค้น โดยนักโบราณคดีชาวลาวและชาวญี่ปุ่น และมีการค้นพบวัตถุเกี่ยวกับงานศพและเครื่องเคลือบรอบ ๆ ไหหิน วัตถุเหล่านั้นถูกกำหนดให้อยู่ในช่วงสมัยยุคเหล็ก (Iron Age) และกลายเป็นหนึ่งในแหล่งโบราณคดีทางประวัติศาสตร์ ที่น่าสนใจและสำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง ในการศึกษายุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แหล่งโบราณคดีทุ่งไหหิน บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ ระหว่างสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น และโครงสร้างหินใหญ่ ที่อยู่ในชุมชนยุคเหล็ก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รัฐบาลลาว กำลังผลักดันให้องค์การยูเนสโก จดทะเบียนทุ่งไหหินในแขวงเชียงขวาง เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งหนึ่ง เคียงคู่กับเมืองหลวงพระบาง แขวงเชียงขวาง เป็นพื้นที่ทางโบราณคดีสำคัญของลาว เพราะมีพื้นที่ราบหลายแห่ง เต็มไปด้วยไหหิน อายุระหว่าง 2,500–3,000 ปี จำนวนหลายพันชิ้น ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ และมีขนาดใหญ่โต
เรื่องราวและตำนานของลาว ได้เล่าสืบกันมาว่า ครั้งหนึ่ง มีการต่อสู้ของยักษ์ ซึ่งอาศัยในดินแดนแห่งนี้ ในตำนานท้องถิ่น บอกเล่าถึงกษัตริย์โบราณนามว่า "ขุนเจือง" ซึ่งเข้าปราบปรามยักษ์ และต่อสู้กันอย่างยาวนาน ในที่สุดก็สามารถพิชิตศัตรูของเขาได้
กษัตริย์สั่งให้สร้างไห เพื่อชงเหล้าลาว และเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะ ไหถูกหล่อแบบขึ้นมา โดยใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ดินเหนียว ทราย น้ำตาล และซากพืชซากสัตว์ในรูปแบบหินผสม โดยสันนิษฐานว่า ถ้ำที่ 1 ในบริเวณทุ่งไหหินคือเตาเผา และไหหินยักษ์ถูกเผาที่นี่ ซึ่งจริง ๆ แล้ว อาจจะไม่ได้ทำมาจากหิน ข้ออธิบายอื่น ๆ กล่าวไว้ว่า ไห สร้างขึ้นเพื่อเก็บน้ำฝนในฤดูมรสุม โดยใช้สำหรับกองคาราวาน ซึ่งอาจไม่สามารถหาน้ำได้ระหว่างการเดินทาง
ปัจจุบันมีข้อสันนิษฐานกำเนิดทุ่งไหหิน 3 ประการ คือ
1.ตัดมาจากหินก้อนใหญ่จำนวนหนึ่ง ซึ่งทำไว้เพื่อบรรจุคนตายในสมัยก่อน เมื่อพันปีมาแล้ว (ก่อนประวัติศาสตร์ยุคเหล็ก 3,000–4,000 ปี) ตามความเชื่อของคนในสมัยนั้นที่ว่า สถานที่ฝังศพคนตายต้องรักษาไว้ในที่สูง เพื่อหลีกเว้นการเซาะพังทลายจากน้ำต่าง ๆ ดังนั้นจึงเห็นไหหินอยู่ในสถานที่เป็นเนินสูง
2.เป็นไหเหล้าของนักรบโบราณ คือตามตำนานกล่าวไว้ว่าระหว่างศตวรรษที่ 8 นักรบผู้กล้าหาญของลาวผู้หนึ่ง ชื่อว่าท้าวขุนเจืองได้ยกกำลังพลไปทำสงครามแล้วก็ได้ชัยชนะอยู่ที่เชียงขวาง หลังจากได้รับชัยชนะแล้ว ก็ได้ทำการฉลองชัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 7 เดือน ไหที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นไหเหล้าสำหรับเลี้ยงไพร่พลในการฉลองชัยชนะของท้าวขุนเจือง ในคราวนั้น ดังนั้นคนลาวทั่วไปมักเรียกว่า “ไหเหล้าเจือง”
3.เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่นเดียวกับสโตนเฮนจ์ ประเทศอังกฤษ ที่คล้ายคลึงกัน คือเป็นหินตั้งกลางแจ้ง เช่นเดียวกับทุ่งไหหินที่เชียงขวางนี้ แต่มีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่ม
วัฒนธรรมหินตั้ง ที่มีลักษณะแบบทุ่งไหหินมีอยู่ทั่วโลก แต่ทุ่งไหหินที่ประเทศลาวมีจำนวนมาก และแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่หนึ่ง เป็นทุ่งไหหินที่ใหญ่และมีมากที่สุด อยู่ห่างจากเมืองโพนสวรรค์ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 7.5 กิโลเมตร ไปทางเมืองคูน เมืองหลวงเก่า มีจำนวนไหประมาณ 200 ไห และมีขนาดใหญ่กว่าในกลุ่มอื่น ๆ
ถัดมาทางด้านซ้ายมือของทุ่งไหหิน จะพบถ้ำแห่งหนึ่ง มีแสงแดดสาดส่องลงมา ภายในถ้ำ มีลักษณะเป็นปล่อง มีความสูงประมาณ 60 เมตร ลักษณะภายในถ้ำไม่ลึกมากนัก สามารถบรรจุคนได้ 50 - 60 คน ถ้ำแห่งนี้ เคยใช้เป็นที่หลบภัยสงคราม ของชาวเมืองเชียงขวาง ยามเมื่อเครื่องบินมาทิ้งระเบิด พร้อมกับใช้เป็นคลังเก็บอาวุธและเชื้อเพลิง เมื่อสงครามอินโดจีนที่ผ่านมา บริเวณโดยรอบทุ่งไหหิน บนจุดชมวิว จะพบร่องรอยการขุดสนามเพลาะเป็นแนวยาว เพื่อป้องกันการโจมตีทางอากาศ และหลุมระเบิดขนาดใหญ่หลายหลุม ตลอดจนร่องรอยที่ไหหินแตกกระจาย อันเป็นผลมาจากฝูงเครื่องบิน บี 52 ของอเมริกา
กลุ่มที่สอง อยู่ห่างจากเมืองไปทางใต้ 25 กิโลเมตร มีไหหินที่นี่เพียง 90 ไห ไหหิน
กลุ่มที่สาม อยู่ห่างจากกลุ่มที่สองไปทางใต้ 10 กิโลเมตร (35 กิโลเมตร จากโพนสวรรค์) กลุ่มนี้มีหินทั้งสิ้น 150 ไห
อ้างอิงจาก:
https://www.facebook.com/photo/?fbid=881322014034050&set=pcb.881323250700593
วิกิพีเดีย