ความฝัน ทำไมเราจึงฝัน ความฝันเป็นลางบอกเหตุ หรือบอกอะไรกับเรา ?
ในทางวิทยาศาสตร์ “ความฝัน” คือ ภาวะอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในขณะที่เราหลับ โดยสมองจะฉายภาพสิ่งต่าง ๆ ทั้งที่มีอยู่จริงหรือไม่มีอยู่จริงขึ้นมา เราไม่สามารถคาดเดาฝันของตัวเองได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้น หรือการบังคับให้ตัวเองฝันหรือไม่ฝัน หลาย ๆ ทฤษฎีเชื่อว่าความฝันมาจากจิตใต้สำนึกลึก ๆ ของคนเรา ที่อาจมีความกังวลหรือมีอะไรอยู่ภายในใจ ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปแบบของความฝันโดยไม่รู้ตัว
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความฝัน
- ถึงแม้เราจะจำความฝันไม่ได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างคิดว่าในคืน ๆ หนึ่ง เราจะฝันกัน3 ถึง 6 เรื่อง
- เชื่อกันว่าความฝันแต่ละเรื่องนั้น มีความยาวประมาณ5 ถึง 20 นาที
- เมื่อตื่นขึ้นมานั้น คนเราจะลืมความฝันถึงประมาณ95 เปอร์เซ็นต์
- ความฝันสามารถช่วยให้เราเรียนรู้ และพัฒนาความทรงจำในระยะยาวได้
- ผู้พิการทางสายตามักจะฝันเกี่ยวกับประสาทสัมผัสทางด้านอื่น ได้มากกว่าคนสายตาดี
ทำไมเราถึงต้องฝัน
- ความฝันเป็นตัวแทนของความปรารถนา และความต้องการจากจิตใต้สำนึก
- ความฝันเป็นการถอดความหมายของสัญญาณต่าง ๆ ที่ส่งจากสมองไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในขณะที่เรานอนหลับ
- ความฝันเป็นการรวบรวม และประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ ที่เราได้รับมาตลอดทั้งวัน สมองกำลังจัดการความจำของตัวเอง
- ความฝันทำหน้าที่เป็น ‘จิตบำบัด‘ อย่างหนึ่ง
- ผลกระทบจากความคิด ความเครียด อารมณ์
- ฝันเพราะสารเคมีและกระแสไฟฟ้าในสมองเปลี่ยนไป
- ฝันเพราะเป็นสัญญาณการเจ็บป่วยของร่างกาย
หลักฐานและวิธีการทำการศึกษาวิจัยแบบใหม่ ๆ นักวิจัยก็สันนิษฐานได้ว่า ความฝันเกิดขึ้นเพื่อช่วยในการทำงานดังต่อไปนี้
- กลั่นกรองความทรงจำในขณะนอนหลับ ซึ่งสมองได้ทำการรวบรวมการเรียนรู้ และภาระกิจทางด้านความทรงจำต่าง ๆ และบันทึกการรับรู้ในขณะที่ตื่นอยู่เอาไว้
- จัดเตรียมภาพจำลองจากประสบการณ์ในชีวิตจริงไว้ใช้ในอนาคต เนื่องจากความฝันเป็นระบบย่อยของเครือข่ายเริ่มต้นของการตื่น ซึ่งมีบางส่วนของจิตใจยังทำงานอยู่ในขณะที่ฝัน
- ช่วยพัฒนาความสามารถทางด้านสติปัญญา
- สะท้อนการทำงานของจิตใต้สำนึกในรูปแบบของจิตวิเคราะห์
- เป็นแหล่งรวบรวมประสบการณ์ในปัจจุบัน ประมวลผลประสบการณ์ในอดีต และจัดเตรียมเอาไว้สำหรับอนาคต
ความฝันในทางจิตวิทยา
บิดาแห่งจิตวิเคราะห์ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) มองว่าความฝัน คือ การแสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึก และความปรารถนาบางอย่าง ซึ่งอาจจะถูกกดทับอยู่ในจิตใต้สำนึก (Unconscious) และเชื่อว่าส่วนมากแล้วความฝันมักจะเกี่ยวข้องกับแรงขับ (Drive) หรือความปรารถนาทางเพศบางอย่างอีกด้วย
เอียน วอลเลซ (Ian Wallace) นักจิตวิทยาผู้ศึกษาเกี่ยวกับจิตใต้สำนึก มองว่าความฝัน คือ การบ่งบอกถึงความรู้สึกลึก ๆ ของมนุษย์ เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเอง โดยใช้เวลามากกว่า 30 ปีในการศึกษาความฝันกว่า 150,000 ฝัน จนได้ข้อสังเกตว่าความฝันอาจจะมีรูปแบบที่คอยกำหนดลักษณะของความฝันนั้น ๆ อยู่ จึงทำให้เราสามารถจำแนกความฝันที่คล้ายกันออกเป็นสาเหตุต่าง ๆ ได้ อย่างเช่น
- ฝันว่าตกจากที่สูง อาจจะหมายถึงเรากำลังจดจ่อกับบางสิ่งบางอย่างมากเกินไป
- ฝันว่าบินได้ แปลว่าเรากำลังปล่อยตัวให้เป็นอิสระจากบางอย่างที่ทำให้รู้สึกแย่
- ฝันว่าฟันหลุด ความฝันนี้พบมากเป็นอันดับ 2 เลยทีเดียว ฝันนี้หมายถึง เรากำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้เราเสียความมั่นใจไป
- ฝันว่าโดนวิ่งไล่ แปลว่า เรากำลังมีเหตุการณ์บางอย่างที่เราต้องเผชิญหรือต่อสู้กับมัน แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี
โดยสรุป ความฝันในมุมมองของนักจิตวิทยา เปรียบเสมือนโลกที่เราสามารถปลดปล่อยความคิด ความต้องการ ความปรารถนาบางอย่างที่ถูกกดทับไว้ได้นั่นเอง
อย่าปล่อยให้ความฝันส่งผลกระทบกับเรา
หากรู้สึกว่าความฝันส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตและจิตใจมากเกินไป อย่างเช่น ฝันร้ายบ่อยครั้ง ฝันติดต่อกันต่อเนื่องหลายคืน ฝันแล้วเหนื่อยมาก ฝันเหล่านี้อาจจะเป็นสัญญาณของความผิดปกติที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางอารมณ์หรือสุขภาพ เราสามารถปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ เพื่อที่จะได้วิเคราะห์และประเมินต่อไปได้ถึงสาเหตุของการฝันเหล่านั้น