ปัญหาสุขภาพ โรคร้ายในผู้ชาย ที่พบได้บ่อย
1.โรคหัวใจ
ผู้ชายเสี่ยงโรคหัวใจและเกิดขึ้นได้เร็วกว่าผู้หญิง เพราะฮอร์โมนของผู้หญิง อย่างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่มีส่วนปกป้องหัวใจมากกว่า และผู้ชายมักมีพฤติกรรมเสี่ยงของโรคหัวใจมากกว่า อย่างเช่น การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากปัจจัยเหล่านี้แล้ว พันธุกรรม อายุมาก ความเครียด การกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การไม่ออกกำลังกาย มีโรคประจำตัว ยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจให้สูงขึ้น
โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลก เนื่องจากคอเลสเตอรอลเข้าไปปิดกั้นทางเดินเลือด ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวตีบ ส่งผลให้เกิดอาการหัวใจวายตามมา แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และศึกษาเกี่ยวกับโรคหัวใจให้มากขึ้น
2.มะเร็งปอด
มะเร็งปอดคร่าชีวิตผู้ชายและผู้หญิงมากกว่ามะเร็งชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะผู้ชายที่สูบบุหรี่ อาจมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดและโรคปอดอื่น ๆ อย่างเช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นสาเหตุของความพิการ เพื่อลดการเกิดโรคปอดและมะเร็งปอดควรเลิกสูบบุรี่และดูแลสุขภาพอยู่เสมอ
3.มะเร็งผิวหนัง
ผู้ชายหลายคนอาจไม่สนใจการทาครีมบำรุงผิวและครีมกันแดด จึงอาจส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากครีมกันแดดช่วยลดการสัมผัสแสงแดดโดยตรงและลดการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ ควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป ก่อนออกแดดอย่างน้อย 20 นาที เป็นประจำ ควรสวมเสื้อผ้าที่ช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด และหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านในช่วงเวลาที่มีแดดจัด
4.หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศเป็นหนึ่งใน ปัญหาสุขภาพเพศชาย ที่พบได้บ่อย เกิดขึ้นเมื่อฮอร์โมนเพศชายลดลง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา และอาจเป็นสัญญาณแรกของโรคหัวใจและโรคเบาหวาน ในปัจจุบันมีวิธีรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพหลายรูปแบบ อย่างเช่น การให้ฮอร์โมนทดแทน รวมถึงการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศส่งผลต่อความมั่นใจ ขาดความสุขในการมีเพศสัมพันธ์ และอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ได้ เกิดได้จากหลายปัจจัย อย่างเช่น อายุที่มากขึ้น ฮอร์โมนเพศชายต่ำ เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเรื้อรัง อย่างโรคเบาหวาน โรคอ้วน พฤติกรรมการใช้ชีวิต อย่าง การสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์
5.โรคอ้วน
หนึ่งในปัญหาสุขภาพเพศชายที่พบได้บ่อย ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยด้านการใช้ชีวิต อย่างเช่น การรับประทานอาหาร การไม่ออกกำลังกาย โดยอาจมีปัจจัยด้านพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่งผลให้เกิดปัญหาโรคอ้วนหากไม่รับการรักษา อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา อย่างเช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต จึงควรควบคุมโภชนาการและออกกำลังกายเป็นประจำ
6.โรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าเป็นอีกโรคที่พบมากในผู้ชาย อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ เนื่องจากผู้ชายมีแนวโน้มซ่อนความรู้สึกเศร้า ความรู้สึกหดหู่ ความโกรธ มากกว่าที่จะแสดงออกมา ผู้ชายจึงอาจมีวิธีรับมือกับอารมณ์ อย่างเช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป การใช้สารเสพติด เป็นต้น
7.มะเร็งต่อมลูกหมาก
โรคมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชายไทย เกิดจากเซลล์ต่อมลูกหมากเจริญเติบโตผิดปกติจนกลายเป็นก้อนมะเร็ง สาเหตุของโรคยังไม่รู้แน่ชัด มักพบในผู้ชายอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และถ้ามีญาติสายตรง อย่างเช่น พ่อ พี่ชาย หรือน้องชาย มีประวัติเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ความเสี่ยงจะสูงมากขึ้น จึงควรมีการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากเพื่อป้องกันและรับมือกับโรค
การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากมีหลายวิธี หลัก ๆ แล้วจะเป็นการตรวจทวารหนัก และการตรวจเลือดดูค่า PSA (Prostate-Specific Antigen; PSA) ถ้าค่าที่ได้สูงเกินเกณฑ์อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งต่อมลูกหมากได้ คนที่มีปัจจัยเสี่ยงจากโรคนี้ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากเมื่ออายุ 40 ปี แต่ถ้าไม่มีปัจจัยเสี่ยงสามารถตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากได้ในช่วงอายุ 50 ปี
8.โรคต่อมลูกหมากโต
เป็นภาวะที่ต่อมลูกหมากขยายใหญ่ผิดปกติ มักเกิดกับผู้ชายอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป แต่บางคนอาจเกิดขึ้นก่อนช่วงวัยนี้ได้ ต่อมนี้เป็นส่วนหนึ่งในระบบสืบพันธุ์เพศชาย อยู่บริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะ เมื่อขยายใหญ่ขึ้นจะไปเบียดท่อปัสสาวะให้ตีบแคบลง ทำให้เกิดความผิดปกติในการปัสสาวะ
โรคต่อมลูกหมากโตไม่ได้ส่งผลต่อความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่อาการของทั้งสองโรคนี้อาจมีลักษณะคล้ายกัน และสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้
9.โรคกระดูกพรุน
อายุมากขึ้นมีความเสี่ยงเกิดโรคกระดูกพรุนได้ สาเหตุหนึ่งมาจากระดับฮอร์โมนที่ลดลงทำให้มวลกระดูกน้อยลงตามไปด้วย หากเป็นโรคข้ออักเสบ โรคทางเดินอาหาร รูมาตอยด์ อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนด้วย
10.ภาวะมีบุตรยาก
ปัญหาสุขภาพเพศชาย ที่ส่งผลให้การผลิตอสุจิน้อยลง การทำงานของอสุจิผิดปกติ หรือมีการอุดตันบริเวณทางส่งอสุจิ อาจเกิดจากสุขภาพ ความเจ็บป่วยเรื้อรัง หรืออาจเป็นปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อภาวะมีบุตรยาก
11.อุบัติเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ผู้ชายมีอัตราการเข้ารับการรักษาหรือเสียชีวิตด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มากกว่า ผู้หญิงถึงสองเท่า และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจส่งผลให้เกิดความก้าวร้าว และการล่วงละเมิดทางเพศได้
12.โรคมะเร็งตับ
เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดของผู้ชายไทย เกิดจากเซลล์ในตับเจริญเติบโตผิดปกติจนกลายเป็นมะเร็ง ปัจจัยเสี่ยงของโรคเกิดได้จากหลายปัจจัย อย่างเช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี และซี โรคอ้วน ภาวะไขมันพอกตับ โรคตับแข็งที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก และการกินอาหารบางชนิดที่มีสารพิษ อย่างอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) และไนไตรต์ (Nitrites) เป็นเวลานาน
การตรวจสุขภาพในผู้ชายนับว่าเป็นปราการป้องกันโรคอีกด่านที่สำคัญ จึงควรให้ความสำคัญกับการตรวจที่เหมาะสมแต่ละช่วงวัย และปัจจัย ถ้าไม่รู้จะเริ่มอย่างไร สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อแนวทางในการตรวจได้ ทั้งนี้เพื่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ และคุณภาพชีวิตที่ดีของคุณผู้ชายทุกคน