8 สิ่งที่คนทำธุรกิจมือใหม่มักพลาดกัน
หากเราเป็นนักธุรกิจมือใหม่ เรื่องที่เราควรทำก็คือ เรียนรู้การทำธุรกิจจากข้อผิดพลาดของคนอื่น เพราะจะทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาลองผิด ลองถูกด้วยตัวเอง ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการลงทุนธุรกิจของเราได้มากไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อไหร่ที่ธุรกิจเกิดปัญหาหรือข้อผิดพลาดขึ้นมันอาจหมายถึงชื่อเสียง ความสัมพันธ์ หรืออะไรอีกหลาย ๆ อย่างที่เราจะต้องเสียไป
เรื่องที่มือใหม่หลาย ๆ คนมักพลาดกัน ก็คือ...
1.ไอเดียธุรกิจที่ไม่เวิร์ก
เรามักจะคิดเข้าข้างตัวเองและมองธุรกิจในอนาคตของเราในแง่ดีเกินไปเสมอว่าเราชอบสิ่งนี้ลูกค้าเราก็น่าจะชอบเหมือนกันคิดว่าจะมีลูกค้าเต็มร้านในทุก ๆ วัน ทั้งที่ราคาเราไม่ตอบโจทย์กับลูกค้าละแวกนั้น คิดว่าทำเลที่เราเลือกนั้นดีแล้ว และลูกค้าก็ไม่น่ามีปัญหาในการเดินทางมา หรือแม้กระทั่งเราไม่รู้เลยว่า รายได้ที่เราได้จากการขายของจะเพียงพอกับค่าเช่าที่แสนแพงหรือไม่
ซึ่งทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่เราสามารถสำรวจการตลาด หรือทำการบ้านก่อนที่จะตัดสินใจอะไรลงไปได้ทั้งสิ้น แต่คนส่วนใหญ่กลับเลือกที่จะไม่ทำ แล้วตัดสินใจทุ่มเงินที่มี แล้วไปลุ้นเอาดาบหน้า
- ลงทุนมากกว่าที่ตั้งใจไว้
เกือบทั้งหมดของผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจมักจะเตรียมเงินทุนไว้ก้อนหนึ่ง แต่สุดท้ายมักจะลงเอยด้วยการลงทุนมากกว่าที่ตั้งใจไว้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยสาเหตุลืมคิดค่ามัดจำพื้นที่ ต้องจ่ายค่าเช่าระหว่างช่วงตกแต่งร้าน ค่าออกแบบและค่าที่ปรึกษาต่าง ๆ
ในตอนแรกหรือแม้กระทั่งค่าอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นจากการวางแผนที่ไม่ครอบคลุมตั้งแต่แรก
ดังนั้น เราจำเป็นต้องมองให้รอบด้าน แล้วคิดให้ครบมุมในเรื่องต่าง ๆ ที่เราต้องลงทุน ทั้งในส่วนต้นทุนที่จับต้องได้ (Hard Costs) เช่น ค่าก่อสร้างตกแต่ง ค่าอุปกรณ์ ค่าวัตถุดิบตั้งต้น ค่าระบบวิศวกรรม ฯลฯ และต้นทุนที่จับต้องไม่ได้ (Soft Costs) เช่น ค่ามัดจำพื้นที่ ค่าออกแบบ ค่าที่ปรึกษา ค่าการตลาดก่อนเปิดร้าน ค่าจ้างพนักงานก่อนเปิดร้าน ฯลฯ รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ
- ลืมคิดถึงต้นทุนแฝง
คนที่เริ่มธุรกิจโดยเริ่มทำที่บ้านตัวเอง แล้วคิดว่าเรามีบ้านอยู่แล้วไม่ต้องเสียค่าเช่า เรามีพี่น้องมาช่วยงานทำให้ประหยัดค่าแรงหรือเราสามารถไปส่งสินค้าด้วยตัวเองในช่วงแรก และเราคิดว่ากำไรที่ได้หลังหักต้นทุนสินค้า คือกำไรที่แท้จริงของธุรกิจ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เหล่านี้คือต้นทุนที่เราต้องเอามาคิดในต้นทุนทั้งหมดด้วย ทั้งค่าแรงพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าพื้นที่ ค่าขนส่ง หรือแม้กระทั่งเงินเดือนของตัวเอง
ซึ่งถ้าเราไม่นำมาคิดตั้งแต่แรกก็อาจส่งผลในเวลาที่ธุรกิจเราขยายตัว เช่นวันที่เราจำเป็นต้องเช่าพื้นที่เพื่อทำออฟฟิศ หรือเราต้องมีพนักงานประจำทำหน้าที่แทนเครือญาติเรา เหล่านี้อาจทำให้เราขาดทุนในท้ายที่สุดได้
- ลืมเผื่อต้นทุนการตลาด
ช่วงแรกที่เราเริ่มทำธุรกิจ เรามักจะใช้เครือข่ายเพื่อนเราหรือคนรู้จักเราในโซเชียลมีเดียในการขายของให้ แต่พอวันหนึ่งที่เราอยากให้ธุรกิจเรามีคนรู้จักมากขึ้น หรือขยายการรับรู้ออกไปใน
วงกว้าง จำเป็นต้องมีการโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นการยิงแอด การจ้างอินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงการต้องไปอยู่ในทุกแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดีย ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนการตลาดที่เพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ นี่ยังไม่นับรวมกับค่ายิ่งโฆษณาในทุกแพลตฟอร์มที่สูงมากขึ้นในทุกวัน ยิ่งอยากให้คนเห็นเราเยอะ ยิ่งต้องเสียต้นทุนส่วนนี้เยอะขนตาม
ฉะนั้น เราควรเผื่องบประมาณการตลาดไว้ตั้งแต่การเริ่มธุรกิจในแต่ละธุรกิจก็จะมีสัดส่วนต้นทุนการตลาดที่มากน้อยแตกต่างกัน โดยในบางธุรกิจต้นทุนการตลาดอาจสูงถึง 30-40% ของรายได้เลยก็มี เช่น ธุรกิจอาหารเสริม หรือสินค้าที่เกี่ยวกับความสวยงาม
- โครงสร้างต้นทุนผิดตั้งแต่ต้น
การทำธุรกิจต้องเข้าใจ Business Model ของแต่ละธุรกิจ เพราะแต่ละธุรกิจมีโครงสร้างต้นทุนที่ไม่เหมือนกัน บางธุรกิจมีต้นทุนสินค้าและค่าเช่าถูก แต่มีต้นทุนค่าการตลาดที่สูง เช่น ธุรกิจ
พวกเครื่องสำอาง อาหารเสริม ในขณะที่บางธุรกิจอาจมีต้นทุนค่าสินค้า ต้นทุนค่าเช่าที่สูง แต่ต้นทุนการตลาดกลับถูก เช่น ธุรกิจร้านอาหาร เพราะเน้นคนมาใช้บริการหน้าร้านมากกว่าเดลิเวอรี
ดังนั้น ก่อนที่จะลงทุนในธุรกิจไหน ต้องถามตัวเองก่อนว่าเราเข้าใจโครงสร้างต้นทุน หรือปัจจัยที่จะมีผลต่อการขายมากน้อยเพียงใด เพราะถ้าเกิดเราไม่เข้าใจโครงสร้างต้นทุนในธุรกิจนั้น เราอาจวางสัดส่วนโครงสร้างต้นทุนผิด จนทำให้ธุรกิจขาดทุนทั้งที่ขายดีก็เป็นได้
- คิดว่าสินค้าตัวเองขายได้กับทุกคน
คนที่คิดแบบนี้ส่วนใหญ่มักไปไม่รอด เพราะเป็นการทำธุรกิจที่ไม่มีเป้าหมาย เหมือนกับเราปิดตายิงปืน มันอาจจะถูกเป้า แต่ก็ต้องใช้ลูกปืนจำนวนมาก ถ้าเรามีเป้าหมาย เราก็แค่เล็งแล้วยิงเท่านั้นเอง โอกาสที่จะเข้าเป้าก็มีมากกว่าแน่นอน
คนเราแต่ละคนมีความชอบต่างกัน อายุต่างกัน พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ดังนั้นการที่เรากำหนดกลุ่มลูกค้าให้เฉพาะเจาะจงได้ ก็จะทำให้เราบริหารธุรกิจของเราให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราได้มากขึ้น
อย่าลืมว่า บางคนซื้อของเพราะประโยชน์การใช้งาน (Functional Benefit) แต่บางคนซื้อของเพราะอารมณ์ความรู้สึก (Emotional Benefit) เมื่อเราเข้าใจในสิ่งเหล่านี้เราก็จะสามารถวางแผนการตลาดและใช้สื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของเราได้มากขึ้น
- ขาดจุดขายที่แตกต่าง
ถ้าสินค้าหรือบริการของเราไม่มีความแตกต่าง หรือมีจุดเด่นที่ดีกว่าคู่แข่ง จะมีประโยชน์อะไรที่ลูกค้าต้องเสียเวลามาซื้อของ เพราะทุกวันนี้มีสินค้าและบริการที่คล้ายกัน วางขายหรือให้บริการเป็นตัว
เลือกให้กับลูกค้าอยู่มากมาย และทุกเจ้าก็ล้วนงัดจุดเด่นจุดขายออกมาสู้กันอยู่ตลอดเวลา
แล้วอย่าบอกว่าจุดขายของเรา คือ อาหารอร่อย เราตั้งใจผลิตสินค้าหรือมีบริการที่ดีเด็ดขาด เพราะเรื่องเหล่านี้คือเป็นมาตรฐานของธุรกิจที่จำเป็นต้องทำอยู่แล้ว คงไม่มีใครบอกว่าเราบริการดีแต่รสชาติอาหารเรางั้นๆแน่นอน
บางคนทำร้านเบเกอรี่ สร้างจุดขายด้วยสินค้าเค้กหน้าตาแปลก ๆ เช่น เค้กคางคก เค้กตุ๊กแก บางคนทำร้านอาหาร ก็สร้างจุดขายด้วยเมนูชื่ออาหารแปลกๆ บางคนสร้างจุดขายด้วยเครื่องแต่งกายพนักงาน การบริการหรือให้พนักงานออกมาเต้นในช่วง Peak ของแต่ละวัน แต่อย่าลืมว่า จุดขายที่เป็นกระแสเหล่านี้มาไวไปไว ถ้าเราอิงอยู่กับ
กระแสมากไป เราจะเหนื่อยมาก เพราะต้องสร้างกระแสใหม่ ๆ ตลอดเวลา
ดังนั้นจุดขายที่แตกต่างจึงควรเป็นจุดขายที่ไม่ได้เป็นแค่กระแส แต่เป็นจุดขายที่อยู่ได้นาน เช่น ร้านของเราจัดอาหารสวย ตกแต่งร้านให้มีบรรยากาศดี มีแสงสวยเหมาะสำหรับการถ่ายรูปเช็กอิน หรือมีเมนู Signature ที่มีเฉพาะร้านเรา เป็นต้น
เราต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมายให้ดีว่า เขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เขาอยากทำอะไรบ้างเมื่อมานั่งในร้านของเรา และอาจต้องรู้ถึงไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายของเราด้วย เช่นกัน
- เลือกหุ้นส่วนผิด
เรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งเรื่องคลาสสิกในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน เพราะมักจะคิดว่าการทำธุรกิจมีหลายเรื่องที่ต้องทำ การมีหุ้นส่วนเข้ามาช่วยโดยเฉพาะเพื่อนสนิท หรือคนในครอบครัว อย่างน้อยก็น่าจะช่วยแบ่งเบาภาระไปได้ และก็คงไม่ทะเลาะกันหรอก เพราะรู้จักสนิทสนมกันมานาน
ซึ่งในความเป็นจริงปัญหาเรื่องหุ้นส่วนในธุรกิจส่วนใหญ่ก็ล้วนเกิดกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทกันมานานนี่แหละ เพราะอย่าลืมว่าต่อให้รู้จักกันมานานแค่ไหน แต่ก็เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องงาน หลายคนมีนิสัยเป็นมิตร เข้ากับคนง่าย ไปไหนใครก็รัก แต่เขาอาจไม่มีความรับผิดชอบในเรื่องงาน หลายคนอาจเก่งเรื่องงาน แต่กลับมีนิสัยชอบออกคำสั่ง ไม่ฟังเสียงของหุ้นส่วนคนไหนเลย ฯลฯ
สุดท้ายก็ต้องลงเอยด้วยการทะเลาะ และแยกทางกัน ถ้าโชคดีก็ยังคงความสัมพันธ์ส่วนตัวเอาไว้ได้ แต่ในหลาย ๆ เคสนั้นลามไปจนกระทบความสัมพันธ์ส่วนตัว และเลิกข้องเกี่ยวกันไปเลยก็มี