ต้นมณีโคตร ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของลาว หรือตำนานของ “ต้นชี้ตายปลายชี้เป็น”
“มณีโคตร” แห่งอุษาคเนย์, ผู้เป็นเหมือนรกกำเนิดชีวิต และตำนานแห่งการอยู่ร่วมของผู้คน ริมฝั่งแม่น้ำโขงมาอย่างยาวนาน ว่ากันว่า ไม่เคยมีใครเคยไปถึงต้นมณีโคตร เพราะเบื้องหลัง เกาะหินกลางน้ำที่ต้นมณีโคตรขึ้นอยู่ คือหน้าผาที่สายน้ำโขงทั้งสาย ได้ไหลตกลงไปเบื้องล่างอย่างหนักหน่วงรุนแรง ตลอดทั้งปี จนกลายเป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
ดังนั้น ผู้ที่อาจเคยผ่านไปใกล้มณีโคตรมากที่สุด ล้วนได้ตายไปในหน้าผาน้ำตกนั้นหมดแล้ว มณีโคตร หรือต้นแก้วมะนีโคด เป็นชื่อต้นไม้ต้นหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันว่า มีเพียงต้นเดียวในโลก เติบโตท่ามกลางตำนานมากมาย อยู่บนแง่หินที่เป็นเหมือนเกาะเล็กๆ ที่กล่าวกันว่า ไม่เคยมีผู้ใดไปถึง กลางน้ำตกคอนพระเพ็ง
ซึ่งถือเป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และถูกเรียกขานว่า เป็นไนแองการ่าแห่งเอเชีย ด้วยความกว้างกว่า 1 กิโลเมตรและสูงกว่า 15 เมตร กลางแม่น้ำโขง สายน้ำที่ยาวที่สุดในอุษาคเนย์ ทางตอนใต้ของประเทศลาว (Laos) ริมชายแดนกัมพูเจีย ชาวบ้านบางส่วนที่นี่ เรียกต้นมณีโคตรแห่งนี้ว่า “ต้นชี้ตายปลายชี้เป็น”
จากตำนานของลาวที่เล่าขานกันว่า เป็นต้นไม้วิเศษ หากปลายชี้ไปทางไหน ก็จะมีแต่ความเจริญ โดยมณีโคตรมีปลายอยู่สามกิ่ง กิ่งหนึ่งชี้ไปทางแผ่นดินกัมพูชา กิ่งหนึ่งชี้มาทางแผ่นดินลาว และปลายที่ใหญ่ที่สุดชี้มาทางแผ่นดินไทย ว่ากันอีกว่า การที่มีอุณหภูมิ ความชื้น และระบบนิเวศที่เหมาะสมเฉพาะ ทำให้เกิดต้นไม้ชนิดนี้เพียงต้นเดียว
“มณีโคตร” เป็นต้นไม้ใหญ่เกิดอยู่กลางน้ำ ซึ่งไหลต่อลงมาบนน้ำตก “พระเพ็ง” ขึ้นอยู่ตรงกลางระหว่างต้นไทร 2 ต้น ลักษณะของกิ่งและใบไม่ดกหนานัก แต่ที่ประหลาดพิสดารที่สุดก็คือ แทนที่ต้นมณีโคตร จะตั้งอยู่ตามธรรมชาติ เหมือนต้นไม้ทั่วไป ที่เติบโตพุ่งขึ้นสู่ฟ้า แต่กลับแหวกกฎธรรมชาติ โดยปล่อยให้รากแก้วรากฝอย พุ่งขึ้นไปในอากาศ และให้กิ่งก้านสาขา หยั่งลงบนพื้นน้ำแทน โดยยังเจริญงอกงามอยู่ได้ไม่เฉาตาย
มีตำนานเล่าขานจากคนแก่คนเฒ่าว่า แต่เดิม ต้นไม้ต้นนี้ ไม่ได้มีความประหลาดพิสดารแบบนี้แต่อย่างใด ทว่าคราวหนึ่ง มีสามเณรน้อยผู้เคร่งครัดรูปหนึ่ง ได้ขึ้นไปนั่งจำศีลบำเพ็ญภาวนาอยู่ใต้ต้นไม้นี้ ซึ่งยังมีลักษณะปกติอยู่ ตกเช้าก็ออกบิณฑบาตไปตามป่าเขา แม้บริเวณนั้น ไม่มีผู้คนอยู่เลย แต่สามเณรก็มีอาหารเต็มบาตรทุกเช้า ว่ากันว่า สามเณรได้บิณฑบาตมาจาก “ผีบังบด” ซึ่งเป็นภูตชนิดหนึ่ง ที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี
ต่อมาวันหนึ่ง สามเณรท่านนี้ ก็ได้เดินลุยน้ำเข้าไปในโพรงใต้ต้นไม้ หายไปแล้วไม่กลับออกมาอีกเลย รุ่งขึ้นอีกวัน ต้นไม้นั้นก็มีอันผิดกฎธรรมชาติ และคงอยู่ในลักษณะนั้นตลอดมา ในสมัยสงครามล่าอาณานิคม ฝรั่งเศสเคยคิดจะระเบิดแก่งคอนพระเพ็ง แห่งนี้เพื่อให้เรือผ่านขึ้นไปถึงเวียงจันท์ได้ แต่ก็ทำไม่สำเร็จ จึงได้สร้างทางรถไฟ ขนถ่ายสินค้าและสิ่งของผ่านดอนคอน ไปลงท่าเรือที่ดอนเดช ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นทางรถห้าแถว บรรทุกนักท่องเที่ยวไปชมน้ำตกหลี่ผี
ความศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อของชาวลาว ยังมีเรื่องเล่าขานกันอีกว่า ฝรั่งเศสเคยเอาเรือมาฉุด เพื่อโค่นให้ต้นไม้มณีโคตรนี้ล้ม และเพื่อทำลายความเชื่อภูตผี และตำนานของคนลาว แต่ก็ทำไม่สำเร็จ บางคนเล่าว่า ทหารที่โรยตัวลงจากเฮลิคอปเตอร์ ทั้งจากฝรั่งเศสและรัสเซีย ที่ต้องการพิสูจน์เรื่องเหล่านี้ ล้วนพลัดตกลงไปตายกลางน้ำตก ไม่มีใครสามารถลงไปเหยียบเกาะหินเล็กๆ ที่เป็นที่ตั้งของต้นมณีโคตรได้เลย รวมถึงเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งของฝรั่งเศส ที่บินไปใกล้ๆ ก็ตกลงอย่างไม่รู้สาเหตุด้วยเช่นกัน เรื่อง มณีโคตรนั้น เล่าขานกันมาอย่างยาวนาน และเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวลาว และชาวลาวอิสาน ด้านติดชายแดนอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี โดยเฉพาะคราวหนึ่ง เมื่อ 60-70 ปีก่อน มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ได้ธุดงค์โปรดสัตว์อยู่แถบนี้ ไม่ว่าท่านจะเดินทางไปที่ใด ก็มักจะกล่าวกับผู้คนที่พบพานอยู่เสมอว่า “ผู้ใดไปถึงหลี่ผี หากเป็นผู้ไม่มีบุญบารมีแล้ว อย่าหวังเลยว่าจะได้เห็นต้นมณีโคตร”
ผู้คนจึงหลั่งไหลมา เพื่อพบเห็นต้นมณีโคตรในที่สุด ซึ่งก็ไม่ทราบว่า ต้นไม้ต้นนี้ ขึ้นอยู่กลางน้ำใหญ่ที่นี่มานานเท่าใดแล้ว นอกจากนี้ ยังมีตำนานโบราณของลาว เล่าตำนานของมณีโคตร มาจากเรื่องรามายณะ อีกว่า “ทศเศียร ได้มาต่อสู้กับพระลักพระรามที่น้ำของ ทหารของทศเศียร โดนหุลละมานฆ่าตายถึง ๔,๐๐๐ ตน นอนตายกลางน้ำของ กลายเป็นเกาะเรียกว่า สี่พันดอน เมื่อฆ่ายักษ์เสร็จ จึงหักเอากิ่งไม้มณีโคตร มาช่วยรักษาชีวิตฝ่ายตน
โดยไม้มณีโคตรมีสองกิ่ง คือกิ่งทางทิศตะวันออกชี้เป็น คือชี้คนตายให้ฟื้นได้ ส่วนกิ่งทางทิศตะวันตกชี้ตาย คือชี้คนให้ตายได้ จึงทำให้ฝ่ายพระลักพระรามมีชัยชนะ” ต้นมณีโคตร มี ๓ กิ่งคือ กิ่งที่ชี้ไปทิศเหนือ ใครกินผลไม้ทิศนี้จะกลายเป็นนกยาง กิ่งที่ชี้ไปทิศใต้ ใครกินผลไม้ทิศนี้ จะกลายเป็นลิง และกิ่งที่ชี้ไปทิศตะวันออก ใครกินผลไม้ทิศนี้ จะกลับเป็นหนุ่มสาว มีพละกำลังมาก
“เมื่อนางสีดา จันทะแจ่ม ถูกท้าวฮาพนาสวร(ทัศกัณฐ์) ลักไปอยู่เมืองลังกา พระรามพระลัก ได้ติดตามนางสีดาจันทะแจ่ม เดินทางจนเหนื่อยอ่อน มาพักอยู่ที่ใต้ต้นมณีโคตร ซึ่งกำลังออกผลสุกสะพรั่งอยู่เต็มต้น พระลักไปเก็บผลกิ่งด้านทิศตะวันออกรับประทาน จึงมีรูปโฉมสวยงามกว่าเดิม ส่วนพระราม ไปเก็บผลกิ่งด้านทิศใต้ จึงกลายร่างเป็นลิงเผือกขนาดใหญ่ พระลัก เมื่อเห็นพระลามกลายร่างเป็นลิงเผือก ก็ล่อหลอกให้พระราม ไปกินผลมณีโคตรกิ่งทิศตะวันออก แต่ไม่สามารถสื่อสารกับลิงพระรามได้
พระลัก จึงนั่นเฝ้าลิงพระรามอยู่วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า กล่าวถึงฤาษีอาคมกล้า ได้นางจันทะแจ่มอินทาเป็นภรรยา แต่พระอาทิตย์ลอบเป็นชู้ จนได้ลูก ๒ คนคือ สังคีป(สุครีพ) และพะลีจันทร์(พาลี) ส่วนนางแก้วแพงศรีเป็นลูกที่เกิดแต่ฤาษี ฤาษีรักบุตรชายทั้งสองมาก สอนวิทยาให้ทุกอย่าง วันหนึ่งเกิดสงสัยในรูปร่างหน้าตา จึงเอาลูกทั้ง ๓ ไปเสี่ยงน้ำ ถ้าเป็นลูกตนให้ว่ายน้ำกลับมาได้ ก็มีนางแก้วแพงศรีคนเดียว ฤาษีกลับบ้านพร้อมนางแก้วแพงศรี นางจันทะแจ่มอินทา ไม่เห็นบุตรชาย จึงถามนางแก้วแพงศรี นางแก้วแพงศรีจึงเล่าเรื่องเสี่ยงโยนน้ำให้ฟัง
นางโกรธมาก จึงจับนางแก้วแพงศรี เวี่ยงไปจนตกภูเขาลูกหนึ่ง นางเดินทางหลงป่า มาจนถึงต้นมณีโคตร จึงเก็บผลทางทิศใต้กิน กลายร่างเป็นลิงเผือก และได้สมสู่กับลิงพระราม ออกลูกมาเป็น “หุลละมาน”(หนุมาน) ทางพระลัก ล่อหลอกให้ลิงพระราม และลิงนางแก้วแพงศรี กินผลมณีโคตรทิศตะวันออก จึงกลายร่างเป็นมนุษย์ตามเดิม แต่หุลละมานกินเท่าไร ก็ไม่กลายร่างเป็นคน
เพราะเป็นเวรกรรมแต่ชาติปางก่อน” รามายณะ เป็นวรรณคดีมหากาพย์ ของที่เชื่อว่า เป็นนิทานที่เล่าสืบต่อกันมายาวนาน ในหลากหลายพื้นที่ของชมพูทวีป แต่ผู้ได้รวบรวมแต่งให้เป็นระเบียบครั้งแรก คือฤาษีวาลมีกิ เมื่อกว่า 2,400 ปีมาแล้ว โดยประพันธ์ไว้เป็นบทร้อยกรองประเภทฉันท์ ภาษาสันสกฤต เรียกว่าโศลก จำนวน 24,000 โศลกด้วยกัน โดยแบ่งเป็น 7 ภาค (กาณฑ์ หรือ กัณฑ์) เมื่อแพร่หลายในหมู่ชาวไทย คนไทยได้นำมาแต่งใหม่ ก็เรียกว่ารามเกียรติ์ ซึ่งมีหลายฉบับด้วยกัน ส่วนในหมู่ชาวลาวนั้น เรียกว่า พะลักพะลาม (พระลักษมณ์พระราม) มาจนถึงบัดนี้
มณีโคตร ได้จากอุษาคเนย์ไปแล้ว ภายหลังจากที่ได้ยืนต้นตายมากว่า 3 ปี รัฐบาลลาวได้พยายามหลายครั้ง ที่จะไปกอบกู้เอาต้นมณีโคตร มาเก็บไว้ที่พิพิภัณฑ์เมืองโขง แต่ก็ไม่สามารถทำได้ ก่อนหน้านี้ทางการลาว ได้ใช้เฮลิคอปเตอร์หย่อนคนลงมา เพื่อนำเชือกมามัดต้นไม้ไว้กับแก่งหิน เพื่อไม่ให้ลอยหายไป แต่ไม่สามารถนำต้นขึ้นมาบนฝั่ง ได้เนื่องจากต้นไม้มีขนาดใหญ่ และกระแสน้ำรุนแรง จนเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2556 ทางการลาว ได้ปฏิบัติภารกิจนี้จนสำเร็จ โดยมีประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก, โดยทหารต้องใช้เวลาทั้งวัน ตั้งแต่เช้าถึง 5 โมงเย็น เพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญครั้งนี้ โดยนำเฮลิคอปเตอร์ทางทหารของลาว นำเจ้าหน้าที่หย่อนลงไป 2-4 คนเพื่อช่วยกันนำเอาต้น “มณีโคตร” ขึ้นมาจนได้ ท่ามกลางพลังแรงดันน้ำมหาศาล ที่กดอากาศแปรปรวนในพื้นที่ดังกล่าว ปัจจุบัน รัฐบาลลาว ได้นำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองโขง เพื่อให้ประชาชนศึกษาต่อไป
อ้างอิงจาก:
ต้นมณีโคตร ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของลาว หรือตำนานของ “ต้นชี้ตายปลายชี้เป็น”
วิกิพีเดีย
ตำนานต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของลาว